‘โรคระบาด’ ในประวัติศาสตร์ไทย เราผ่านพ้นมาได้อย่างไร?

ผู้ป่วยกาฬโรค ส่วนหนึ่งของภาพ The Temptation of Matthias Grünewald ศิลปินชาวเยอรมัน เขียนขึ้นราว ค.ศ.1510-1515

เป็นอีก 1 สถานการณ์ที่ต้องจดจารไว้ในประวัติศาสตร์ไทย สำหรับการแพร่กระจายของไวรัส “โควิด-19” ที่มีภาวะเข้มข้นขึ้นตามลำดับตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศักราช 2563

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยังไม่มีรัฐชาติ และคำว่าไทยแลนด์ ดินแดนที่ถูกขีดเส้นเป็นราชอาณาจักรไทยในทุกวันนี้ เคยประสบพบโศกนาฏกรรมจากโรคระบาดใหญ่หลายต่อหลายครั้ง และผ่านพ้นมาได้ทุกครั้งจนกระทั่งวันนี้

ความตายสีดำ โรคห่า ‘กาฬโรค’

เมื่อราวหลัง พ.ศ.1800 ประวัติศาสตร์โลกบันทึกถึงความสูญเสียประชากรนับล้านจาก Black Death จากจีนถึงยุโรปโดยมีพาหะคือหมัดหนู กระจายจากเรือสำเภาที่เข้าเทียบท่าค้าขาย ร่วมสมัยยุคต้นกรุงศรีอยุธยาที่มีตำนานบอกเล่าถึง “โรคห่า” ยุคพระเจ้าอู่ทอง เดิมเชื่อว่าเป็นโรคอหิวาต์ แต่ภายหลัง รับรู้กันใหม่ว่าแท้จริงคือ “กาฬโรค” จากสำเภาจีน

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ.2182 บันทึกถึงความรุนแรงของโรคห่าในครั้งนั้นว่า “น้ำลายพิษ” ของมังกร (นาค) จากหนองน้ำ ฆ่าคนจนเมืองร้าง

Advertisement

กาฬโรคยุคต้นกรุงเก่า สร้างความปั่นป่วนในราชสำนัก ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม โดยเฉพาะภาษาและวัฒนธรรม

เขยิบลงมาในยุคหลัง สมัยรัชกาลที่ 5 กาฬโรคระบาดอีกตามเมืองท่าของจีนและฮ่องกง เคลื่อนตัวไปอินเดีย แอฟริกา ยุโรป สิงคโปร์ ไทย และออสเตรเลีย

“พระบำบัดสรรพโรค” (นพ.ฮันส์ อะดัมสัน) คนไทยเรียก “หมอลำสั้น” มีบทบาทสำคัญในการกักกันและตรวจโรค สกัดการแพร่ระบาดของกาฬโรค สมัยรัชกาลที่ 5

มีการบังคับให้เรือที่มาจากพื้นที่ซึ่งมีการระบาดจอดให้เจ้าหน้าที่ตรวจโรคก่อน รวมถึงจอดรอที่เกาะไผ่ ห่างจากพัทยาราว 8 กิโลเมตรจนครบ 9 วัน จึงอนุญาตให้เข้ากรุงเทพฯ ได้

Advertisement

ผู้มีบทบาทสำคัญในการกักกันและตรวจโรคครั้งนั้นคือ “พระบำบัดสรรพโรค” หรือ หมอฮันส์ อะดัมสัน ลูกครึ่งเดนมาร์ก-มอญ พื้นเพอยู่ที่พระประแดง คนไทยเรียก “หมอลำสั้น” นับเป็นแพทย์ประจำด่านตรวจโรคคนแรกของไทย เป็นผู้ออกประกาศจัดการป้องกันกาฬโรค ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2441

ทั้งนี้ กว่าที่กาฬโรคจะหมดไป ใช้เวลานับสิบปี โดยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.2495 จากนั้นยังไม่พบอีกเลย

ศพชายชาวจีนลอยน้ำ ถูกอีกาและปลากินซาก จิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 ในศาลาการเปรียญวัดท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ สะท้อนระบาดของโรคห่าในยุคต้นรัตนโกสินทร์

ไข้ป่วง ลงราก ‘อหิวาตกโรค’
สงฆ์หนีจากวัด คฤหัสถ์หนีจากบ้าน

“ผู้คนสมัยนั้นยังโง่เขลา ไม่รู้อะไรหลายสิ่งหลายอย่าง พูดซุบซิบนินทากันว่า เพราะไปเอาศิลาก้อนใหญ่ๆ ในทะเลมาก่อเขาในพระราชวัง เจ้าโกรธ ผีโกรธ จึงบันดาลให้เป็นไข้”

คือข้อความจากพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 2 ที่กล่าวถึงเหตุการณ์การระบาดของไข้ป่วง หรือลงราก ซึ่งในภายหลังเรียกว่า “อหิวาตกโรค” คร่าชีวิตผู้คนมากมายในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใกล้เคียง ราว 30,000 คน ความอีกตอนหนึ่งในพงศาวดารฉบับเดียวกันระบุว่า

“ครั้นเมื่อถึงเดือนเจ็ดข้างขึ้น เกิดไข้ป่วงมาแต่ทะเล ไข้นั้นเกิดมาแต่เกาะหมากก่อน แล้วข้ามมาหัวเมืองตะวันตก เดินขึ้นมาถึงปากน้ำเจ้าพระยา ชาวเมืองสมุทรปราการตายลงเป็นอันมาก ก็พากันอพยพขึ้นมากรุงเทพมหานครบ้าง แยกย้ายไปตามทิศต่างๆ บ้าง

ที่กรุงเทพฯ ก็เป็นขึ้นเมื่อวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ไปจนถึงวันเพ็ญ ตายทั้งหญิงทั้งชาย ศพที่ป่าช้าแบศาลาดินในวัดสระเกษ วัดบางลำพู วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา แลวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก แลที่ลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน”

ครั้นถึงช่วงปลายรัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรค ระบาดขึ้นที่กรุงเทพฯ อีกครั้งเป็นเวลาราว 1 เดือน หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน

จากนั้น สมัยต้นรัชกาลที่ 5 อหิวาต์ระบาดอีก ในช่วงเพียงเดือนเดียวมีรายงานผู้เสียชีวิตถึง 6,600 ราย เนื่องจากยังไม่มีกฎเกณฑ์การสัญจรข้ามประเทศ การเดินทางเข้าออกง่ายดาย นำพาเชื้อโรคร้ายกระจายไปตามการคมนาคม กระทั่งแพทย์แผนตะวันตกและความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขมีมากขึ้นตามลำดับ อหิวาตกโรคก็ไม่ได้น่ากลัวดังเช่นที่เคยเป็น

นายแพทย์ฮันส์ อะดัมสัน และนายแพทย์อัทย์ หะริตะเวช ศึกษาวิธีฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดที่ประเทศฟิลิปปินส์ (ภาพจากรอยเวลา เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ, หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย)

ขี้ทูด กุฏฐัง ‘โรคเรื้อน’ เจ็บเรือนแสน
ใน 100 ปีแห่งความ (ไม่) โดดเดี่ยว

นับเป็นเวลาเฉียดศตวรรษของการขจัดภัยร้ายของโรคเรื้อนที่คนโบราณมักเรียก ขี้ทูด กุฏฐัง ซึ่งมีอาการแสดงออกบนผิวหนัง หากรุนแรงถึงชีวิต ในช่วงระบาดหนักมีศพเผาที่วัดกันทุกวันด้วยสถิติผู้ป่วยเรือนแสน ทั้งยังถูกแยกรักษาตัวโดยสร้าง “นิคมโรคเรื้อน” หลายแห่งทั่วไทย กระทั่งรักษาตัวจนหายจึงคืนสู่สังคมอย่างไม่โดดเดี่ยว จากเมื่อกว่า 100 ปีก่อนซึ่งวิทยาการการแพทย์ในไทยยังไม่รุดหน้า ผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นที่รังเกียจอย่างหนัก สร้างความหวาดผวา โดยผู้คนมองว่าเป็นโรคพิกลพิการจากบุญกรรม กระทั่งแพทย์ตะวันตกเข้ามาอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ถึงการติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย

พ.ศ.2430 นพ.เจมส์ ดับบลิว แม็คเคน คณะแพทย์มิชชันนารีอเมริกัน สร้างหมู่บ้านโรคเรื้อนให้ผู้ป่วยอาศัย และรักษาด้วยวิทยาการสมัยใหม่โดยใช้ยาปฏิชีวนะอันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขจัดโรคเรื้อนในไทย ซึ่งยุคก่อนหน้าเน้นรักษาด้วยสมุนไพร และไสยศาสตร์ คนป่วยถูกเนรเทศ ต้องไปขอทาน เร่ร่อนน่าเวทนา

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงของบประมาณจากรัฐบาลปีละ 10,000 บาท มอบให้เป็นค่าใช้จ่ายในสถาบันโรคเรื้อนแม็คเคน

สมัยรัชกาลที่ 6 มีรายงานกราบบังคมทูลจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อน 10,000 ราย สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอันยิกาเจ้า พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์รวมกับเงินบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ พ่อค้า ประชาชน จัดสร้าง “สำนักคนเป็นโรคเรื้อน” ที่สมุทรปราการ หลังจากนั้นมีพัฒนาการเรื่อยมา กระทั่งโรคเรื้อนแทบหมดสิ้นจากประเทศไทย

มิชชันนารีอเมริกันสร้าง “หมู่บ้านโรคเรื้อน” ให้ผู้ป่วยอาศัยอยู่รวมกัน

1 แสน ตายกว่า 200
‘วัณโรค’ รุกหนัก ต้องตั้ง ‘กองปราบ’

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการระบาดของโรคติดต่อสำคัญอันเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 รองจากไข้มาลาเรีย นั่นคือ “วัณโรค” หรือ “ทุเบอร์คุโลลิส” (TB)

สถิติใน พ.ศ.2490 เฉพาะเขตกรุงเทพฯ มีผู้เสียชีวิต 217 คนจากประชากร 1 แสนคน ซึ่งถือเป็นยอดที่สูงมาก

หลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมอนามัยจึงก่อตั้ง “สถานตรวจโรคปอด” ย่านยศเส เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2492

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น มีการตั้ง “กองการปราบวัณโรค” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพทยสมาคม

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีบทบาทอย่างยิ่งในการริเริ่มต่อต้านวัณโรคในประเทศไทย โดยทรงเรียบเรียงความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับวัณโรค สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และแนวทางป้องกัน เผยแพร่เป็นบทความด้วยภาษาเข้าใจง่าย ต่อมา เอกสารชุดนี้ มีการพิมพ์แจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไปอีกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งยังมีพระราชปรารภเกี่ยวกับวัณโรคที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ คณะกรรมการแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม อย่างมาก ส่งผลให้มีการก่อตั้งหน่วยงานต่างๆ อันมีคุณูปการในการต่อต้านวัณโรค

พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ถึงหลวงนิตย์ เวชชวิศิษฏ์ 7 พฤษภาคม 2472 เกี่ยวกับ “วัณโรค”
กองควบคุมวัณโรคเอกซเรย์นิสิตจุฬาฯ เมื่อ พ.ศ.2503

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อนุมัติสร้างโรงพยาบาลสำหรับรักษาวัณโรคเป็นแห่งแรกในไทยที่นนทบุรี ต่อมาได้ชื่อว่า “โรงพยาบาลวัณโรคกลาง”

พ.ศ.2495 องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ เข้าช่วยเหลือไทยในการต้านวัณโรค มีการชันสูตร และเพาะเชื้อวัณโรคเป็นครั้งแรกของไทย ต่อมาพัฒนาความสามารถให้ตรวจความไวต่อยาของเชื้อวัณโรค โดยเริ่มมีการใช้ยารักษาวัณโรคโดยเฉพาะขึ้นแล้ว

นับแต่นั้น มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสำรวจข้อมูลด้านระบาดวิทยา มีการรักษาทดลองและป้องกันในพื้นที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ทำให้ได้ผลแน่นอนเกี่ยวกัยการระบาดของวัณโรคเป็นครั้งแรก กระทั่งมียารักษา “ขนานใหม่” ที่ให้ผลการรักษาโดยไม่ต้องรอเข้ารักษาในโรงพยาบาล มีการตั้งศูนย์วัณโรคภาคเหนือ อีสาน และใต้ รณรงค์ฉีดวัคซีนโดยหน่วยเคลื่อนที่ และอีกมากมาย กระทั่งในวันนี้ “วัณโรค” ไม่เท่ากับ “ตาย” หากแต่รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โรคระบาดตั้งแต่ก่อนยุคกรุงสยามสู่รัฐชาติไทยที่คนรุ่นก่อนร่วมต่อสู้ฟันฝ่ากระทั่งผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์สาหัสมาได้จวบจนวันนี้


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพส่วนหนึ่งจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image