สุขใจถ้วนหน้า ‘ไหว้พระ’ ไอคอนสยาม กราบองค์ปฏิมา ตระการตาพุทธศิลป์

ขบวนเทียนพรรษาสีเหลืองอร่ามสลักเสลาเป็นภาพพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาตั้งตระหง่านกลางลานกว้าง รายล้อมด้วยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์จำลอง 4 ทิศ จาก 4 อาณาจักรโบราณของไทย

หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา, พระพุทธสิหิงค์ จ.นครศรีธรรมราช, พระเชียงแสน จ.เชียงใหม่ และ หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย

พุทธศาสนิกชนคลาคล่ำร่วมสักการะด้วยช่อดอกบัวงดงามตามประเพณีที่สืบเนื่องยาวนานในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและออกพรรษา

ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่บรรยากาศในวัดวาอารามแห่งใด หากแต่เกิดขึ้นในศูนย์การค้าในย่านเก่าแก่ฝั่งธนบุรีอย่าง ‘ไอคอนสยาม’ ซึ่งเนรมิตเจริญนคร ฮอลล์ ชั้นเอ็มให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความศรัทธา สร้างขวัญ กำลังใจ ในชีวิตที่ต้องก้าวเดินไปข้างหน้าหลังสถานการณ์ไวรัสร้าย ผ่านงาน “ไอคอนสยาม ไหว้พระสุขใจ หล่อเทียนไทยให้เรืองรอง” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานอย่างไม่ขาดสายตลอดระยะเวลา 4 วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ 3-6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้การดูแลจัดระเบียบตามมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

Advertisement

ผู้คนหลากวัย หลายเจเนอเรชั่น พร้อมใจเข้ากราบกราน 4 องค์พระปฏิมาซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่จะถูกอัญเชิญมาได้พร้อมกันเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งของชาวพุทธผู้มีศรัทธา

เพ็ญพักตร์ กสิกิจนำชัย เจ้าของธุรกิจวัย 47 ปี บอกว่า เลื่อมใสหลวงพ่อโสธรเป็นพิเศษ เคยไปไหว้องค์จริงเมื่อนานมาแล้ว โดยส่วนมากจะขอเรื่องความสำเร็จด้านการงาน เมื่อทราบข่าวการจัดงานครั้งนี้ จึงเดินทางมากับครอบครัว เพราะมา ไอคอนสยาม ที่เดียวได้ไหว้พระถึง 4 องค์ ไม่ต้องเดินทางไกล

“เนื่องในวันอาสาฬหบูชานี้ เป็นโอกาสดีที่เรากับครอบครัวจะได้ทำบุญร่วมกัน ทำให้เรามีกำลังฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงที่รู้สึกว่าเราเหนื่อยล้ากันมาในระยะนี้ให้รู้สึกดีขึ้น” เจ้าตัวกล่าวพร้อมรอยยิ้มอย่างอิ่มใจ

Advertisement

ปฏิยุทธ สมสมัย ข้าราชการบำนาญ วัย 64 ปี เล่าว่า เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรปราการพร้อมภรรยา เพื่อร่วมงานนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากทราบข่าวผ่านสื่อ จึงตั้งใจมากราบไหว้พระพุทธรูปทุกองค์ที่ทางไอคอนสยามอัญเชิญมา เดินทางสะดวกสบายรถไม่ติดเนื่องจากผู้คนบางส่วนเดินทางออกต่างจังหวัด ส่วนตัวชอบทำบุญที่วัดเป็นประจำ เพราะเมื่อไหว้พระทำบุญแล้วรู้สึกสบายใจ

ไม่เพียงการกราบสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ความวิจิตรตระการตาของเทียนพรรษาที่ผ่านการสลักเสลาอย่างวิจิตรบรรจงด้วยฝีมือช่างชั้นเยี่ยมผู้คว้ารางวัลระดับประเทศมากมายอย่าง สุคม เชาวฤทธิ์ จากชุมชนคนทำเทียนพรรษาวัดบูรพาราม อุบลราชธานี ก็เป็นอีกไฮไลต์ที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ด้วยรายละเอียดมากมายที่ชมได้ไม่รู้เบื่อใน 360 องศา ไม่ว่าจะระยะใกล้ที่มองเห็นใบหน้างดงามของตัวละครในพุทธประวัติ ไปจนถึงความละเอียดลออของเครื่องอาภรณ์ที่ช่างสุคมบอกว่าจะแกะพลาดไม่ได้ ทั้งเทพบุตร เทพธิดา พระสาวก

หากมองจากระยะไกล ย่อมสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ของขบวนต้นเทียนที่มีพญาครุฑถือธงนำ ส่วนมุมมองจากเบื้องบน ยิ่งเด่นชัดถึงแนวคิด ‘แมนดาลา’ หรือมณฑลตามคัมภีร์พุทธศาสนาแต่โบราณกาลซึ่ง ‘สวนนงนุช’ สร้างสรรค์ด้วยดอกไม้นานาชาติเป็นฐานขบวนเทียน


บุญฑิตา บรรพบุรุษ
ชาวพิษณุโลก วัย 34 ปี บอกว่าประทับใจมาก อยากให้ ไอคอนสยาม จัดงานแนวศิลปวัฒนธรรมแบบนี้อีก เพราะเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจนอกเหนือจากการได้จับจ่ายช้อปปิ้งสินค้าที่นี่

“รู้สึกประทับใจเทียนพรรษามาก ว่าช่างแกะอย่างไรให้สวยงามและค่อนข้างใหญ่มาก ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน ส่วนตัวเลื่อมใสหลวงพ่อโสธรเป็นพิเศษ อยากให้ไอคอนสยามจัดงานแนวศิลปวัฒนธรรมแบบนี้อีก เวลามาเดินห้าง นอกจากได้ซื้อของแล้วจะได้มีกิจกรรมให้เข้าร่วมด้วย” นางสาวบุญฑิตากล่าว

อีกมุมฮอตมาก ผายมือไปที่กิจกรรม “เวิร์กช็อป พฤกษาบูชา” ฝึกสมาธิ ตามรอยวิถีไทย ไม่ว่าจะเป็น การทำบุหงาพัดโบก เทียนหอมดอกบัว การพับดอกบัวถวายพระ และจำปาดอง โดยมี ศิริภัสสร โชควศิน อาจารย์พิเศษสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นวิทยากรคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

อาจารย์ศิริภัสสร ย้อนเล่าประวัติความเป็นมาของงานพฤกษาบูชาแบบต่างๆ อย่างน่าฟัง เช่นงาน พับดอกบัว ซึ่งเป็นงานศิลปะประดิษฐ์อย่างหนึ่ง หลักการเบื้องต้นมี 5 อย่าง คือ ม้วน พับ จับจีบ บิด คลี่ ซึ่งสามารถสร้างสรรค์ดอกบัวให้งดงามแปลกตาได้กว่า 30 แบบ โดยนอกจากจะได้เรียนรู้วิธีการพับดอกบัวแล้ว ยังเพิ่มเติมวิธีการสอนจัดช่อดอกบัวถวายพระ ที่จะสอนรายละเอียดการแซมดอกไม้ และสายน้ำจากดอกพุด โดยช่อดอกบัวถวายพระจะประกอบไปด้วย ธูป 9 ดอก เทียน 2 ดอก แทนดวงตาทั้งสองข้าง ความหมายคือ เพื่อให้ชาตินี้และชาติหน้ามีดวงตาทั้งสองที่มองเห็นธรรม และดอกบัวอีก 3 ดอก มีดอกไม้แซม และ สายน้ำ คือการนำเอาดอกพุดมาร้อยกับลวด ความหมายดีมากคือความไม่สิ้นสุด มีกินมีใช้ ไหลมาเรื่อยๆ เหมือนกับสายน้ำ ให้ได้เกิดในพุทธศาสนา ได้พบพระธรรมทุกชาติไป

ครั้นผู้ร่วมงานประดิดประดอยดอกบัวด้วยตัวเองจนแล้วเสร็จ บางท่านนำไปถวายพระพุทธรูป 4 องค์ภายในงาน บ้างก็เก็บไว้บูชาพระพุทธรูปที่บ้าน


“ครูมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าการเรียนการสอนครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะสามารถนำไปต่อยอดได้ เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราทำบุญตักบาตรในทุกวันแล้ว ยังนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง อาจเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งวิธีการจัดช่อดอกไม้นั้นหากบ้านใดมีการทำบุญเลี้ยงพระ ก็สามารถทำได้เอง เป็นศิลปะของไทยที่มีเอกลักษณ์” อาจารย์ศิริภัสสรกล่าว ก่อนเล่าถึงการทำ ‘เทียนหอมดอกบัว’ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจนต้องเพิ่มกิจกรรมนี้อีก 1 วัน นั่นเพราะแม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ทำได้ หลายครอบครัวจึงเลือกกิจกรรมนี้

“การทำเทียนหอมดอกบัวขั้นตอนเพียงนำพิมพ์ขนม หรือแม่พิมพ์วุ้นมาหยอดเทียน ซึ่งจะมีวิธีการที่ปลอดภัยเด็กทำได้ผู้ใหญ่ทำได้ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่จะทำเป็นรูปดอกบัว ส่วนประโยชน์ อย่างแรกคือ เป็นพุทธบูชา เอาไปจุดเทียนไหว้พระได้ และอีกครั้งในเทศกาลอันใกล้นี้ ประมาณ 2 เดือนข้างหน้าจะมีการลอยกระทง ก็สามารถทำไปลอยกระทงได้ บางคนยังนำไปต่อยอดด้านสุนทรียภาพทางอารมณ์ ใส่กลิ่นหอมที่ชื่นชอบลงไป ซึ่งวัตถุดิบหาได้ไม่ยาก ส่วนการทำจำปาดอง มีบันทึกว่าเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำขึ้นในวัง เป็นของชั้นสูง ทำเพื่อเป็นพุทธบูชา หรือมอบให้ผู้ใหญ่ สีของจำปาดอง คือ เหลืองอำพัน เชื่อว่าสื่อถึงความเจริญในสิริโภคทรัพย์สมบัติ ขั้นตอนเริ่มจากการเก็บน้ำให้ตกตะกอน 3 เดือน ต้มโดยใส่สารส้ม ทิ้งไว้ให้เย็น นำดอกจำปามาคว้านเกสรออก ใช้ก้านมะพร้าวสดแทงขั้วดอกแล้วเรียงต่อกันทีละดอกให้สวยงาม นำใส่ขวดแก้ว เติมน้ำที่เตรียมไว้กรอกจนพูนแล้วปิดฝาให้สนิท อย่าให้อากาศเข้าได้” อาจารย์ศิริภัสสรเล่า พร้อมสาธิตวิธีการ รวมถึงบอกเคล็ด (ไม่) ลับอย่างไม่ปิดบัง

อีกมุมที่ต่อคิวยาวอย่างเว้นระยะห่างคือการทำ ‘ดอกผึ้ง’ อย่างงดงามเรียบง่ายด้วยขี้ผึ้งตามภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงยุค 4.0 คำว่าศรัทธาก็ยังไม่จางหาย ด้วยความสุขทางใจที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในทุกย่างก้าว

นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ จากไอคอนสยามในห้วงยามของการเริ่มต้นฤดูใหม่ก่อนถึงหน้าฝนอันชุ่มฉ่ำอันเป็น 3 เดือนสำคัญในทางพุทธศาสนาที่หยั่งรากลึกในแผ่นดินไทยมาช้านาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image