ทุบ ‘สกาลา’ รื้อทิ้งความทรงจำ กับคำถามเดิมที่ยังไม่มีคำตอบ

กลับมาอยู่ในสปอตไลต์อีกรอบ หลังเคยถูกส่องมาแล้วหลายรอบ เมื่อเกิดการแชร์ทั้งภาพและถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ที่เผยให้เห็นการ ‘ทุบทิ้ง’ อาคารโรงภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง ‘สกาลา’ ย่านสยามสแควร์ สมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งที่ก่อนหน้าเคยมีข่าวว่าบริษัทเอกชนอย่าง ‘เซ็นทรัล พัฒนา’ ซึ่งได้สิทธิเช่ายาวๆ 3 ทศวรรษต่อจากนี้จะเก็บรักษาโครงสร้างสถาปัตยกรรมเดิมไว้ แม้เตรียมพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจในลักษณ์ ‘มิกซ์ยูส’ สร้างความโล่งใจไป 1 กรุบ กระทั่ง 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปฐมบทการรื้อสถาปัตยกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นวันแรก เกิดเสียงวิพากษ์หนักหลังจากหลายฝ่ายเกิดอาการช็อกเบาๆ

ประชาชนคนไทยผู้รักในศิลปะสถาปัตย์แห่งประวัติศาสตร์ร่วมสมัย แห่ไปบันทึกภาพเหตุการณ์ ก่อนที่คนงานจะถูกสั่งให้ยุติการทำงานตั้งแต่บ่าย 2 โมงตรง

ซากอาคารงดงามถูกล้อมรั้วสังกะสีและขึงสแลนสีดำ ปากทางสยามสแควร์ซอย 1 ติดตั้งป้าย ‘ขออภัยในความไม่สะดวก’ ขอให้ไปใช้ทางเข้าสยามสแควร์ซอย 7 แทนระหว่าง ‘งานรื้อถอน’

รื้อถอน ‘สกาลา’ 1 พ.ย.64 (ภาพจากเฟซบุ๊กไลฟ์เพจ Foto_momo)

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า “เสียใจที่พยายามแล้ว แต่ก็ช่วย #SaveScala ไม่ทัน ไม่ได้ ต้องขอโทษทุกคนด้วย”

Advertisement

แน่นอนว่า ไม่มีใครโทษเนติวิทย์ แต่ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้ ?

‘เซ็นทรัล’ เปลี่ยนใจ จากเก็บไว้ เป็น ‘ทุบทิ้ง’

จ่อผุดอาคารกว่า 20 ชั้น งบเกิน 5 พันล้าน

Advertisement

ย้อนไปที่จุดเริ่มต้น เมื่อครั้ง บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้สิทธิเช่าระยะยาว 30 ปี พื้นที่บริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ของสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจ่ายค่าตอบแทนโดยรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5,902 ล้านบาท แยกเป็นค่าตอบแทนการทำสัญญา 742 ล้านบาท และค่าตอบแทนรายปี 30 ปี รวม 5,160 ล้านบาท

5 กันยายน 2564 แหล่งข่าวจากเซ็นทรัล พัฒนา เปิดเผยกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจ ‘มติชน’ ว่า ทางสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะส่งมอบพื้นที่ให้ในต้นปี 2565 จากนั้นบริษัทจะเดินหน้าดำเนินการในทันที โดยจะเป็นการปรับปรุงและรีโนเวตโครงสร้างเก่าให้เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กๆ คล้ายกับคอมมูนิตี้มอลล์ จะใช้เวลาดำเนินการไม่นานประมาณ 1 ปีเศษ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 เจาะกลุ่มนักศึกษาและคนทำงาน โดยจะเข้าเติมเต็มให้สยามแสควร์เป็นช้อปปิ้งสตรีท

นอกจากนี้ ยังมีประโยคสำคัญว่า

“โครงสร้างเก่าเป็นโรงหนังสกาลา

เราจะพยายามรักษาโครงสร้างเก่าไว้ให้มากที่สุด”

3-5 ก.ค. 63 สกาลา ฉายหนังส่งท้ายก่อนยุติกิจการโดยมีผู้ร่วมอาลัยล้นหลาม

ส่วนทางสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนั้นก็มีแนวคิดการพัฒนาสร้างพื้นที่ให้เป็นแลนด์มาร์กในเชิงการออกแบบสถาปัตยกรรมและแนวคิดการออกแบบที่กลมกลืน สอดคล้องกับพื้นที่แนวราบ และอัตลักษณ์ของสยามสแควร์ตามแนวคิดการเป็นช้อปปิ้ง สตรีท ส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ และพื้นที่โดยรอบ

ทว่า ผ่านไปเพียง 2 เดือน ตัดฉากมาในวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘สกาลา’ ถูกทุบทิ้ง !

ในวันเดียวกัน โลกโซเชียลเกิดกระแสเชี่ยวกราก ผุดแฮชแท็ก #savescala แม้เซฟไม่ได้แล้วในโลกแห่งความจริง

ทีมข่าวเฉพาะกิจ ‘มติชน’ ต่อสายด่วนถึง แหล่งข่าวจาก บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา อีกครั้ง ได้ความว่า ที่มาที่ไปของการ ‘เปลี่ยนใจ’ ทุบทิ้งคือ จากการออกแบบการพัฒนาโครงการล่าสุด จะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน เป็น อาคารสูงตั้งแต่ 20 ชั้นขึ้นไป ใช้เงินลงทุนเกิน 5,000 ล้านบาท โดยจะต้องทุบอาคารเก่าเป็นโรงหนังสกาลาเดิมทิ้งแล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาแทน

“เดิมเราจะพยายามรักษาโครงสร้างเก่าไว้ให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อดูแล้วหากยังใช้โครงสร้างเก่าจะทำให้สร้างอาคารสูงไม่ได้ จึงตัดสินใจรื้อทิ้งเลยดีกว่า รูปแบบคร่าวๆ อาคารใหม่ที่สร้างจะมีอาคารเดียว ด้านล่างทำเป็นศูนย์การค้าประมาณ 4-5 ชั้น และมีออฟฟิศ ด้านบนเป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว ขนาด 200-300 ห้อง”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางสํานักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ และทางบริษัทเพิ่งเริ่มเข้าไปดำเนินการพื้นที่โรงหนังสกาลาแล้ว ส่วนการพัฒนาจะหลังจากที่โครงการผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อน

ขณะที่ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เริ่มทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ทางเซ็นทรัลพัฒนาแล้ว ในส่วนของ โรงหนังสกาลา โครงสร้างเดิมส่วนที่สำคัญทางเจ้าของเดิมก็ได้ทำการรื้อถอนไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ทางเซ็นทรัล อาจจะมองว่า ใช้งานไม่ได้จึงดำเนินการรื้อถอนทิ้ง ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการจะต้องรอให้มีการออกแบบรายละเอียด การทำรายงานอีไอเอ การขออนุญาตก่อสร้าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง

สำหรับที่ดิน Block A สภาพปัจจุบัน ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์สกาลา และอาคารพาณิชย์สูง 3-4 ชั้น 79 คูหา ส่วนใหญ่ประกอบกิจการเป็นคลินิก ร้านอาหาร ร้านค้าสินค้าแฟชั่น เครื่องสําอาง ธนาคาร โรงเรียนกวดวิชา ฯลฯ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน จุดตัดระหว่างถนนพญาไทกับ ถนนพระรามที่ 1 ตรงข้ามกับสยามดิสคัฟเวอรี่ มีเนื้อที่โครงการทั้งหมดประมาณ 7 ไร่ 31 ตารางวา

ล้อมสังกะสี คลุมแสลน ปักป้ายเขตก่อสร้าง ท่ามกลางกระแสวิพากษ์

ทำไม ‘กรมศิลป์’ เมิน ‘สกาลา’ เปิดโพยนิยาม

‘โบราณสถาน’ ตรงไหนไม่เข้าเกณฑ์?

ประเด็นเช่นนี้ ไม่มีทางพ้นสายตา ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รั้วศิลปากร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว เจ้าตัวก็นำข้อเขียนมา ‘รีรัน’ ผ่านเฟซบุ๊ก เน้นย้ำว่า การรื้อโรงภาพยนตร์สกาลาไม่ใช่เพียงการรื้อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สวยงามเท่านั้น แต่คือการรื้อทิ้งหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของไทยที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สงครามเย็นผ่านธุรกิจโรงภาพยนตร์

“ในทางสถาปัตยกรรม สกาลาคือโรงภาพยนตร์ standalone ที่ออกแบบอย่างสวยงามที่สุดในประเทศไทย ตัวอาคารออกแบบขึ้นด้วยแนวทาง “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ช่วงปลาย” (Late Modern Architecture) ที่ผสานเข้ากับการตกแต่งภายในแบบ Movie Palace ที่เน้นความอลังการหรูหรา ผสมศิลปะจากหลากหลายยุคสมัยเพื่อสร้างความแปลกตาแฟนตาซี (Eclectic Exoticism) ซึ่งหาได้ยากมากในโรงภาพยนตร์ standalone ในไทย ที่สำคัญ คือ เป็นตัวแบบที่เหลืออย่างสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว

ในทางประวัติศาสตร์สังคม สกาลาถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2512 ภายใต้บรรยากาศ “สงครามเย็น” (สงครามทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีที่มีอเมริกาเป็นแกนนำกับโลกคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตและจีนเป็นแกนนำ) ซึ่งภายใต้การต่อสู้ทางอุดมการณ์ดังกล่าว ภาพยนตร์คือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย

กล่าวให้ชัดคือ การเฟื่องฟูขึ้นของธุรกิจภาพยนตร์และการสร้างโรงภาพยนตร์ standalone ทั่วประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แยกไม่ได้เลยจากเศรษฐกิจและการเมืองในบริบทสงครามเย็น” อาจารย์สถาปัตย์ชื่อดังระบุ ก่อนปิดท้ายในอีกประเด็นน่าสนใจว่า

“การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในสังคมไทย ต้องยอมรับว่าแทบไม่มีใครสนใจ มีเพียงกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้นที่พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้ แม้แต่กรมศิลปากรเองก็ยังมองว่างานสถาปัตยกรรมในยุคสมัยนี้ไม่มีคุณค่ามากพอต่อการขึ้นทะเบียน”

งานนี้ศิษย์เก่ารายหนึ่งของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิชาเดียวที่สร้างบุคลากรป้อนหน่วยงานรัฐในด้านการอนุรักษ์อย่างกรมศิลปากร ลุกขึ้นมาตั้งคำถามสำคัญที่ว่า ‘สกาลา’ ไม่เข้าเกณฑ์โบราณสถานตรงไหน ?

ฆนัท นาคถนอมทรัพย์ บัณฑิตโบราณคดี และผู้ผลิตสารคดีเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ยิงหมัดตรงว่า

โรงหนังสกาลาเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของใครหลายๆ คน นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2512 จนถึงวันนี้ก็ครึ่งศตวรรษแล้ว ความทรงจำของคนเราไม่ได้ลอยอยู่โดดๆ มันเกาะเกี่ยวกับสิ่งรูปธรรมบางอย่างอยู่เสมอ ที่เรามักเรียกว่า ‘หมุดหมายแห่งความทรงจำ’

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งจะมีคุณค่าขึ้นมาได้ โดยมาตรฐานชุดใดชุดหนึ่ง มิใช่เพราะคุณค่าในอิฐหินดินปูน แต่เพราะความทรงจำที่สถานที่ หรือสถาปัตยกรรมนั้นๆ เกาะเกี่ยวเรียงร้อยไว้ต่างหาก สถาปัตยกรรมมีดีไซน์ที่สะท้อนวิธีคิดของยุคสมัยอย่างชัดเจนจึงมักได้รับการให้ ‘ค่า’ อย่างสูง เพราะมันถูกนิยามว่าได้รวบรวมรวบยอดความคิดความรู้ของสังคมเอาไว้มิใช่แค่ของสถาปนิกคนใดคนหนึ่ง

“สำนึกอย่างนี้กรมศิลปากรย่อมตระหนักหรือไม่ กรมศิลปากรมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งเป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ นั่นคือการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โรงหนังสกาลาผูกพันกับประวัติศาสตร์สงครามเย็น การเข้ามามีอิทธิพลของอเมริกาในการเมืองไทย เอาเฉพาะคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ สกาลาควรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้วด้วยซ้ำ”

ไม่ได้เอ่ยลอยๆ แต่ยกข้อความจากเว็บไซต์กรมศิลปากร ที่ระบุถึงนิยามของ ‘โบราณสถาน’ ตอนหนึ่งว่า

‘… โบราณสถานนั้นจะต้องมีคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เช่น เป็นสถานที่สำคัญในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เป็นอาคารที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ….’

ฆนัท ยืนยันว่าโรงหนังสกาลาเข้าเกณฑ์ทุกประการ และเป็นอำนาจโดยตรงของอธิบดีกรมศิลปากรในการจะประกาศให้สถานที่ใดเป็นโบราณสถาน ดังระบุไว้ในมาตรา 7 ว่า

‘…เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขึ้นทะเบียนโบราณสถานใดๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้ และให้มีอำนาจกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถานโดยให้ถือว่าเป็นโบราณสถานด้วยก็ได้ ประกาศดังกล่าวนี้อธิบดีจะเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมก็ให้กระทำได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา’

“น่าแปลกใจที่กรมศิลปากรดูไม่ได้สนใจโรงหนังสกาลาในฐานะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม เมื่อมองไปที่ทำเนียบโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในกรุงเทพมหานคร หากสะพานพุทธสามารถได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานได้ ผมไม่เห็นเหตุผลใดที่โรงหนังสกาลาจะขึ้นทะเบียนโบราณสถานไม่ได้

ความทรงจำของผู้คนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครผูกพันอยู่กับวัด ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดของคนตั้งแต่รัชกาลที่ 1-7 แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงปัจจุบัน วิธีคิด วิถีชีวิตของผู้คน ไม่ได้ผูกพันอยู่กับวัดแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว โลกใหม่มีภาพยนตร์ ร้านอาหาร ที่ที่คนเข้าไปใช้ชีวิตกับเพื่อน กับคนรัก กับคนเกลียด

“นิยามคำว่าคุณค่าประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร ที่จะใช้ในการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน อาจจะต้องนำมาพูดคุยกันใหม่ เพื่อให้เราไม่เสียสถาปัตยกรรมที่เป็นตัวแทน เป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัย อย่างโรงหนังสกาลาไปอีกในอนาคต” ฆนัทฝากไว้ให้คิดหนักๆ

‘สกาลา’ ครั้งยังเปิดให้บริการ นับเป็นโรงภาพยนตร์ในความทรงจำของคนไทยมานานกว่า 50 ปี
(ภาพจากหนังสือ Thailand’s Movie Theatres: Relics, Ruin and The Romance of Escape โดย Philip Jablon สำนักพิมพ์ River Books,2019)

‘โคลนนิ่ง’ เป๊ะอย่างไร ก็ไม่เหมือนเดิม

นับจากวันแรกที่เกิดกระแสวิพากษ์ เพียง 24 ชั่วโมง แหล่งข่าวจาก ‘เซ็นทรัลพัฒนา’ บอกอีกครั้งว่า จากกรณีที่สังคมไทยกังวลใจเรื่องสถาปัตยกรรมโรงหนังสกาลาจะหายไปนั้น ก่อนที่บริษัทจะเดินหน้าทุบทิ้ง ได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลรายละเอียดสถาปัตยกรรมไว้ทั้งหมดด้วยภาพสแกน 3 มิติ สามารถสร้างกลับมาได้เหมือนเดิม แบบไม่ผิดเพี้ยน อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด

“ตอนนี้เรารับมอบพื้นที่จากจุฬาฯบางส่วน เริ่มเข้าพื้นที่ เริ่มต้นโครงการ ขณะนี้เป็นขั้นตอนการเคลียร์พื้นที่ ออกแบบรายละเอียด ส่วนการก่อสร้างจะเริ่มได้เมื่อพร้อม เนื่องจากต้องให้โครงการได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอและอนุญาตการก่อสร้างก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

ในขณะที่แหล่งข่าวจาก สำนักงานเขตปทุมวัน เปิดเผยว่า เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ทำหนังสือถึงสำนักงานเขต เพื่อขอใบอนุญาตขอรื้อถอนอาคารพาณิชย์และโรงภาพยนตร์ บริเวณ Block A ของสยามสแควร์ทั้งหมด พร้อมมาตรการรองรับด้านความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปีหรือสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2565 ถ้ายังรื้อไม่เสร็จสามารถขอต่อใบอนุญาตได้อีก 1 ปี

“สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ไม่ได้ระบุว่าจะใช้เวลารื้อถอนโรงหนังสกาลากี่วัน ส่วนอาคารพาณิชย์ที่อยู่รายล้อม จำนวน 79 คูหา จะเริ่มรื้อถอนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565” แหล่งข่าวกล่าว

จากข้อมูลนี้ บ่งชี้ว่า เพียงไม่ถึง 1 เดือน หลังแหล่งข่าวจาก ‘เซ็นทรัล’ ยืนยันจะรักษาโครงสร้างเดิมไว้ ในต้นเดือนกันยายน พูดง่ายๆ คือ ไม่ทุบทิ้ง สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ทำหนังสือขอไฟเขียวรื้อถอนจากสำนักงานเขต

ส่วนการสร้างใหม่นั้น แม้ออกมาหน้าตาเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ก็ไม่อาจทวงคืนคุณค่าที่ถูกทำลายลงอย่างน่าเศร้ากลับคืนมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘สกาลา’ ไม่ใช่ครั้งแรกของการรื้อถอนประจักษ์พยานแห่งประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมในสังคมไทย และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายตราบใดที่มุมมองของผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคธุรกิจ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘เมื่อวาน’ อันเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของพรุ่งนี้เท่าที่ควรจะเป็น

‘สกาลา’ ครั้งยังเปิดให้บริการ นับเป็นโรงภาพยนตร์ในความทรงจำของคนไทยมานานกว่า 50 ปี (ภาพจากหนังสือ Thailand’s Movie Theatres: Relics, Ruin and The Romance of Escape โดย Philip Jablon สำนักพิมพ์ River Books,2019)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image