แล..‘รติล้านนา ริเวอร์ไซด์’ เมืองเชียงใหม่ แกลเลอรี่ ‘งานคราฟต์’ ศิลปกรรมแห่งล้านนา

แล..‘รติล้านนา ริเวอร์ไซด์’ เมืองเชียงใหม่ แกลเลอรี่ ‘งานคราฟต์’ ศิลปกรรมแห่งล้านนา

ลมหนาว สายน้ำปิง และแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า เป็นบรรยากาศที่ตราตรึงประทับอยู่ในความทรงจำของนักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยือนยังโรงแรม “รติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

แรงบันดาลใจของการสร้างโรงแรมแห่งนี้ เจ้าของได้นำจินตนาการมาหลอมรวมกับประวัติศาสตร์เมืองล้านนาในอดีต แล้วใช้เวลาในการสร้างถึง 5 ปี ออกมาเป็นโรงแรม “เชิงวัฒนธรรม” ที่เสมือนแกลเลอรี่จัดแสดงงานศิลป์แห่งล้านนา ให้ผู้คนได้รู้จักและเรียนรู้

จากข้อมูลเชิงธุรกิจของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ ต้องบอกว่า “โรงแรมเชิงวัฒนธรรม” ในปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมของประเทศ ฉะนั้น จึงพบว่าในตัวเมืองเชียงใหม่มีโรงแรมที่มีลักษณะสะท้อนวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ “รติล้านนาฯ”

มองจากภายนอก โรงแรมแห่งนี้บ่งบอกถึงสถาปัตยกรรมความเป็นล้านนาประยุกต์ที่กลมกลืนไปกับยุคสมัยปัจจุบัน แต่เมื่อเดินผ่านประตูเข้าสู่ล็อบบี้ บรรยากาศ การประดับประดาตกแต่งและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลาย ส่งผลต่อความรู้สึกราวกับอยู่ในวังเจ้าหรือวิหารแห่งล้านนาก็ไม่ปาน

Advertisement

“ละเอียด บุ้งศรีทอง” ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมรับหน้าที่เล่าความเป็นมา ว่าโรงแรมเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 ให้บริการมาเป็นเวลากว่า 13 ปีแล้ว มีพื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ อยู่ติดแม่น้ำปิง จำนวนห้องพักทั้งหมด 75 ห้อง เจ้าของคือกลุ่มทุนท้องถิ่นเมืองเชียงใหม่โดย “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความตั้งใจสร้างโรงแรมแห่งนี้ให้สะท้อนถึงวิถีชีวิตแบบล้านนาในแง่มุมต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้คนไทยและต่างชาติได้สัมผัสเรื่องราวผ่านการตกแต่งแบบ Lanna Contemporary Style ทั้งสภาพแวดล้อมภายในอาคารและสถานที่ การดีไซน์ การวางผังเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เลือกรูปแบบเป็นอัตลักษณ์ของล้านนา

สิ่งสำคัญที่ฟังจาก “ละเอียด” บอกเล่าก็คือ การดึงงานคราฟต์ (Craft) หรืองานช่าง 10 หมู่ของเชียงใหม่มาใส่ไว้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ เครื่องเงิน เครื่องเขิน งานผ้า งานไม้ไผ่ “…ล้านนา เกิดจากหลายกลุ่มชน เช่น ไทยลื้อ ไทยใหญ่ ชาวเขาหลายเผ่า ลักษณะพิเศษของแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันออกไป ทางโรงแรมได้นำเอาเอกลักษณะของกลุ่มต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการตกแต่ง ซึ่งเริ่มจากโครงสร้างของโรงแรมและการตกแต่งอาคาร รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์

Advertisement

การตกแต่งนั้นใช้ทั้งเครื่องเงิน เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก รวมทั้งผ้าทอจากชุมชนต่างๆ ของเชียงใหม่ ซึ่งได้ซ่อนความเป็นล้านนาในอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น แสดงถึงวิถีความเป็นล้านนาและภูมิปัญญาของชาวบ้านแฝงอยู่โดยรอบ อย่าง “ลายราศี 12 นักษัตรที่อยู่ภายในล็อบบี้ก็เป็นเรื่องความเชื่อของคนล้านนา คือ การตัดฉลุกระดาษเป็นลายราศีหรือที่เรียกว่าการต้องดอก โดยจะใช้ในพิธีกรรม นอกจากนี้ ยังสามารถนำเรื่องราวมาทำบนแผ่นเงินเน้นให้เห็นถึงวิถีชีวิต อาชีพต่างๆ ของกลุ่มชนชาวล้านนาในเชียงใหม่ ไม่ว่าการตีเงิน การปั้น การแกะ และการทำตุง เป็นต้น”

เสียงบอกเล่าจากปากงามได้รูปยังคงมีต่อไปไม่หยุด ก่อนจะวนมาที่ล็อบบี้ของโรงแรมอีกครั้ง ผู้จัดการสาวหยุดที่หน้า “กูบช้าง” ซึ่งใช้ทำเป็นที่นั่งภายในล็อบบี้ แล้วอธิบายว่ากูบช้างนี้จำลองออกแบบมาจากการเดินทางโดยหลังช้างของเจ้านายและคหบดีในยุคสมัยก่อน เมื่อราวร้อยกว่าปีที่แล้วคนล้านนามีการเดินทางไปมาเพื่อค้าขายระหว่างหัวเมืองต่างๆ อยู่ตลอดเวลา พาหนะที่ใช้เดินทางของคนโบราณมี 2 ทางก็คือ ทางบกและทางเรือ ทางบกนั้นคนล้านนาจะนิยมใช้วัวต่าง ม้าต่าง และช้าง เพื่อบรรทุกสินค้าไปเป็นคาราวาน เส้นทางลัดเลาะไปตามป่าเขาขณะที่การเดินทางโดยเรือนั้นใช้บรรทุกสินค้าได้มากกว่า สะดวกกว่าเพราะอาศัยกระแสน้ำเป็นแรงขับเคลื่อน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนล้านนาจะนิยมใช้ “เรือหางแมงป่อง” ล่องไปตามลำน้ำปิง และที่ “รติล้านนาฯ” ก็มีเรือหางแมงป่องจอดไว้ให้เห็นและสามารถใช้บริการล่องน้ำปิงได้ด้วย

ถัดมาอีกสิ่งที่ผู้จัดการสาวให้ความสำคัญก็คือ “โคมไฟ” ในล็อบบี้ เรียกว่า “หลักบายศรี” เป็นบายศรีสิริมงคลในพิธีสำหรับบุคคลชั้นเจ้านาย นอกจากนี้ “ขาโต๊ะ” ของโต๊ะกลางก็เป็นขาของเชี่ยนหมากโบราณ ส่วนเก้าอี้ในล็อบบี้จำลองมาจากเสลี่ยงคานหาม กล่าวได้ว่าทุกๆ สิ่งภายในโรงแรมแห่งนี้สะท้อนถึงเรื่องราวความเป็นล้านนาทั้งสิ้น

นอกเหนือจากเรื่องของสถาปัตยกรรมแล้ว ขณะเดียวกันในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม โรคร้ายต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนอย่างไวรัสโควิด-19 หรือโควิด โอไมครอน การบริการจึงถือเป็นอีกหัวใจสำคัญของรติล้านนา

“พนักงานของที่นี่รับเข้าทำงานจะเป็นคนท้องถิ่นเชียงใหม่มาจาก 25 อำเภอของเชียงใหม่เท่านั้น เพราะคนคือซอฟต์แวร์สำคัญ ที่ไม่ต้องปรุงแต่ง ทั้งการพูด การยิ้มแย้มแจ่มใสสะท้อนความเป็นคนเมืองเชียงใหม่ แล้วพนักงานที่นี่มากกว่า 75% อยู่กับโรงแรมมาเกิน 10 ปี เราให้สวัสดิการดูแลพนักงานทุกคนอย่างดี มีอาหารเลี้ยง 3 มื้อ อยู่กันแบบครอบครัว เราคิดว่าเมื่อคนทำงานมีความสุข เขาก็จะ Service ให้กับแขกได้ดี”

ผู้จัดการละเอียดกล่าวถึงด้านบริการที่รวมไปถึงการใส่ใจระมัดระวังป้องกันไวรัสโคโรนาตามแบบมาตรฐานสากล SHA Plus+ (SHA-Amazing Thailand Safety & Health Administration) ทุกอย่าง การันตีด้วยรางวัล Thailand Tourism Awards ที่โรงแรมรติล้านนาฯได้รับทุกปี

หญิงสาวผู้จัดการโรงแรมบอกต่อว่า เมื่อธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อไป การปรับตัวเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำ โรงแรมได้มุ่งเพิ่มมาตรฐานคุณภาพด้วยการปรับปรุงห้องพัก ให้ความสำคัญกับความสะอาดและความปลอดภัย สุขอนามัย สอดรับกับการท่องเที่ยวยุค New Normal เพื่อให้ลูกค้าที่มาพักมีความมั่นใจมากขึ้น

“ที่ผ่านมาโรงแรมได้ขยายอาคารที่พักหลังใหม่สร้างติดกับอาคารเดิม มูลค่าการลงทุนรวมที่ดินกว่า 200 ล้านบาท จำนวนห้องพัก 40 ห้อง เน้นรูปแบบโมเดิร์น สร้างเสร็จเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดให้บริการเนื่องจากสถานการณ์โควิด คาดว่าจะเริ่มเปิดบริการได้ช่วงต้นปี 2565 แม้สถานการณ์โควิดยังมีอยู่แต่ก็เชื่อว่าท่ามกลางวิกฤตเรายังมีโอกาสรอด”

รติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เป็นโรงแรม Local Brand ที่เจ้าของบริหารเอง ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มลูกค้าหลักของโรงแรมเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา สัดส่วน 50% อีก 50% เป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย จีน และอาเซียน อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี 75-77% ส่วนไฮซีซั่นจะอยู่ที่ 80-90% ทว่าในช่วงเผชิญกับวิกฤตโควิดทุกสิ่งที่เคยมีกลับอันตรธานหายไปมากกว่าครึ่ง ถึงกระนั้นสิ่งที่รติล้านนาฯต้องยืนหยัดรักษาไว้ไม่ว่าจะด้วยวิถีทางใดก็ตาม คือ ความเป็นโรงแรมเชิงวัฒนธรรมที่ให้ผู้คนที่เข้าพักได้พบ สัมผัส และเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาของเมืองเชียงใหม่ นำไปสู่จิตสำนึกและความตั้งใจในการอนุรักษ์ สืบสาน วัฒนธรรมที่เหลืออยู่อย่างแท้จริง

รติล้านนาจึงเป็นเสมือนแกลเลอรี่จัดแสดงงานศิลป์…ไม่ใช่แค่โรงแรมที่พักธรรมดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image