เปิดหลักฐาน ‘รามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ 7’ ไขรหัสองค์อวตารผ่านภาพเขียนระเบียงคด

ภาพร่างลายเส้นของพระเทวาภินิมมิต เปรียบเทียบกับจิตรกรรมภาพท้าวสหัสเดชะ

“เกียรติยศองค์อวตารที่สืบจากนครวัด และไขความภาพที่ระเบียงคด” คือคำโปรยบนหน้าปก “รามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ 7” ผลงานหนังสือเล่มของ “ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ” ซึ่งมีที่มาจากงานวิจัยอันตกผลึก โดย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง

กว่า 2 ปี คือห้วงเวลาที่ทุ่มเทศึกษา “จิตรกรรมระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม” อันเป็นหนึ่งในชุดโครงการวิจัยเรื่อง “สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่ง มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี ให้การสนับสนุน

เฉียดร้อย คือจำนวนครั้งการลงพื้นที่เพ่งพินิจ พิจารณาในทุกรายละเอียดของฝีแปรงที่ถูกแต่งแต้มอย่างประณีตบนผนังระเบียงคด

เกินกว่าจะประเมินได้ คือคุณค่าของจิตรกรรมที่ไม่เพียงงดงามเป็นที่ประจักษ์ หากแต่ยังเป็นตัวแทนของงานศิลปกรรมกึ่งประเพณีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ยังไม่มีผู้ใดศึกษาอย่างละเอียดลออ แม้เคยมีการอธิบายภาพเล่าเรื่องและกำหนดอายุอย่างคร่าวๆ มาก่อนแล้วก็ตาม

Advertisement
พิมพ์ครั้งแรก ส.ค. 60 สนับสนุนโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

ขุดลึกหลักฐานรามเกียรติ์ ‘ลุ่มเจ้าพระยา’

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์เปิดประเด็นด้วยคำถามคาใจใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.จิตรกรรมรามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขียนไว้ทำไม ต้องการสื่ออะไรในขณะที่ระเบียงคดวัดอื่นไม่มีการเขียนภาพใดๆ เลย 2.เนื้อหาที่ใช้เขียนภาพ นำมาจากรามเกียรติ์ฉบับไหน มีเรื่องอื่นๆ แทรกอยู่หรือไม่ 3.จิตรกรรมทั้งหมดถูกเขียนในรัชกาลใดกันแน่ เพราะแม้วัดพระแก้วจะถูกสถาปนาในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่รูปแบบภาพกลับคล้ายคลึงผลงานสมัยรัชกาลที่ 6

มองเพียงผิวเผินคล้ายเป็นคำถามเรียบง่าย แต่แท้จริงแล้ว การหาคำตอบต้องใช้หลักฐานมากมายซึ่งเจ้าตัวต้องย้อนไปขุดลึกถึงหลักฐานคัมภีร์รามายณะอันเป็นที่มาของรามเกียรติ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไม่เคยปรากฏขึ้นก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 19 กระทั่งช่วงเวลาหลังจากนั้น ร่องรอยจากวรรณคดีดังกล่าวเริ่มผุดขึ้นอย่างแจ่มชัดมากขึ้นทุกที

ในหนังสือเล่มนี้ ภาพสลักและปูนปั้นอันอ่อนช้อยชวนตะลึงได้ถูกนำมาเปิดเผยให้ชมอย่างเต็มตา อาทิ หน้าบันกฤษณะปราบช้างที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี และภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ จากวัดมหาธาตุ อยุธยา บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชสมัยต่างๆ ถูกนำมาให้อ่านอย่างได้อรรถรส คำพากย์ และบทละครอันเกี่ยวเนื่องกับวรรณกรรมดังกล่าว ถูกนำมาตีความอย่างน่าตื่นเต้น นับเป็นการรวบรวมหลักฐานประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับรามเกียรติ์ไว้อย่างรอบด้าน

Advertisement

ถอดรหัสระเบียงคด จากนครวัดสู่รัตนโกสินทร์

ชมหลักฐานทั้งหมดแล้วก็เขยิบมาถึงประเด็นของระเบียงคด ซึ่ง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ระบุว่า ก่อนจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาจิตรกรรมรามเกียรติ์ที่วัดพระแก้ว ต้องเข้าใจความหมายของระเบียงคดและประวัติการซ่อมก่อน เพราะส่งผลต่องานจิตรกรรม โดยสันนิษฐานว่าระเบียงคดในศิลปกรรมไทยได้รับแรงบันดาลใจมาจากระเบียงคดของปราสาทนครวัด แห่งกัมพูชา เนื่องจากระเบียงคดถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมร แล้วส่งอิทธิพลให้วัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยาสมัยอยุธยาสืบมาถึงรัตนโกสินทร์ ส่วนการเขียนภาพจิตรกรรมก็คาดว่าเป็นอิทธิพลจากภาพสลักที่ระเบียงคดของปราสาทนครวัดเช่นกัน

“การเขียนจิตรกรรมที่ระเบียงคดในลักษณะนี้ ไม่พบที่วัดสำคัญแห่งอื่นๆ เพราะมีการนำพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ จึงไม่เอื้อต่อการเขียนภาพ แต่ที่วัดพระแก้ว คิดว่ามีความตั้งใจที่จะเขียนภาพจิตรกรรมมาแต่แรก จึงไม่มีการนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ โดยน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากภาพสลักที่ระเบียงชั้นนอกของปราสาทนครวัด”

สมัยนิยมสมจริง เทวดา ยักษ์ ลิง ราวมนุษย์

จากเรื่องระเบียงคด มาถึงแนวคิดจิตรกรรม ซึ่งหนังสือเล่มนี้เปิยเผยข้อมูลว่า ระเบียงคดวัดพระแก้ว มีการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว “ลบ” ภาพเพื่อเขียนใหม่ทุกครั้งเมื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ๆ ไม่ใช่เพียงการเขียนซ่อมแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ

“จิตรกรรมที่ระเบียงคดมีมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการลบทิ้งเขียนใหม่ พอสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการสร้างปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งจำเป็นต้องขยายแนวระเบียงคด ทำให้ต้องเขียนจิตรกรรมใหม่อีกครั้ง โดยเสร็จสิ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และในรัชกาลเดียวกัน เมื่อคราวฉลองพระนครครบ 100 ปี เมื่อ พ.ศ.2425 ก็ทรงโปรดเกล้าให้เขียนจิตรกรรมใหม่อีก โดยประชุมช่างเอกของกรุงมาช่วยกันเขียนในตอนต่างๆ มีการสร้างแผ่นโคลงจารึกติดไว้บนเสาระเบียงว่าใครเขียนตอนไหน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 คราวฉลองพระนครครบ 150 ปี ทรงโปรดเกล้าให้เขียนจิตรกรรมใหม่อีกครั้ง ใช้เวลา 3 ปี หลังจากนั้นเป็นต้นมา ยังไม่มีการลบของเดิมทิ้งยกชุดเพื่อเขียนใหม่เหมือนรัชกาลก่อนๆ แต่เป็นการเขียนซ่อมในส่วนที่ชำรุดเท่านั้น ยกเว้นบางส่วนที่ชำรุดจนซ่อมไม่ได้จริงๆ ถึงจะลบเขียนใหม่ในรัชกาลที่ 9”

เนื้อหาถูกเขียนขึ้นจากรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1

หนุมานอมพลับพลา ตอนศึกไมยราพณ์ เขียนเมื่อ พ.ศ.2472 ฝีมือ “สง่า มยุระ”

สำหรับมุมมองด้านศิลปะ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ระบุว่า ลักษณะเด่นคือความพยายามที่จะเขียนฉากวิวทิวทัศน์ให้สมจริงเลียนแบบธรรมชาติ รวมถึงกับการเขียนภาพ พระ เทวดา ลิง และยักษ์มีกล้ามเนื้อเหมือนมนุษย์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นสมัยนิยมในช่วงรัชกาลที่ 7 สอดคล้องกับหลักฐานด้านเอกสารซึ่งมีข้อความใต้ภาพจิตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่เขียนในระหว่าง พ.ศ.2472-2474

 

เปิดสมุดภาพ ‘พระเทวาภินิมมิต’ ร่างลายเส้นก่อนเขียนจริง

อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ การเขียนจิตรกรรมเรื่องยาวบนพื้นที่ระเบียงที่มีความยาวต่อเนื่องนั้น ต้องมีการวางแผนและทำภาพร่างก่อนหรือไม่ ?

คำถามนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2554 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เคยนำสมุดภาพร่างจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ จากหอสมุดแห่งชาติ มาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการงานช่างหลวงที่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เชื่อว่าเป็นของพระยาหัตถการบัญชา (กัน) ร่างขึ้นเมื่อเขียนพระระเบียงวัดพระแก้ว คราวต้นรัชกาลที่ 5

นอกจากหนังสือเล่มนี้จะมีภาพสมุดข่อยดังกล่าวให้ชมแล้ว ยังมีภาพชุดลายเส้นภาพร่างของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย) ผู้ควบคุมการเขียนจิตรกรรมระเบียงคดในสมัยรัชกาลที่ 7 ให้ละเลียดความงามอย่างจุใจ พร้อมเพลิดเพลินไปกับการร่วมขบคิดวิเคราะห์หลักฐานชุดนี้ที่ผู้เขียนนำมาเปรียบเทียบกับภาพจิตรกรรมบนผนังจริง แล้วเจาะรายละเอียดเชื่อมโยงหลากแง่มุมอย่างลึกซึ้ง

จิตรกรรมสุดยิ่งใหญ่ ใครเขียน?

มาถึงอีกหนึ่งความทุ่มเทของผู้วิจัยที่ค้นคว้าและลิสต์รายนามช่างเขียนมากมายในช่วง พ.ศ.2472-2474 มาให้อ่านกัน ผศ.ดร.รุ่งโรจน์มองว่า จิตรกรรมที่ระเบียงคดวัดพระแก้วเปรียบเหมือน Hall of fame หรือ “หอเกียรติยศ” ของครูช่างมากฝีมือที่มารวมตัวกันรังสรรค์งานจิตรกรรมประเพณีอันยิ่งใหญ่อย่างสุดฝีมือ หลายรายกลายเป็นศิลปินดังที่ยังเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน อย่าง เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินชั้นครู ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) สง่า มยุระ จิตรกรและผู้ก่อตั้งโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของไทย ซึ่งเขียนภาพหนุมานอมพลับพลา ตอน ศึกไมยราพณ์ เมื่อ พ.ศ.2472 เหม เวชกร เขียนในตอนพระรามแผลงศรฆ่ามังกรกัณฐ์ เมื่อ พ.ศ.2473 เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานที่ร้อยเรียงไปด้วยข้อมูลทางวิชาการและสุนทรียะ ละเอียดอ่อนและครบถ้วนในทุกแง่มุม

ลายเส้นร่างในสมุดไทยดำ ตอนทศกัณฑ์ล้ม เก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ

 


คงคุ้นหน้าคุ้นตากันดี สำหรับ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ผู้ที่เคยสร้างความฮือฮาด้วยผลงาน “พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ได้ถูกเผาลอกทองตอนกรุงแตก” ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อ ต้นปี 2560 ก่อนจะเปิดตัวผลงานใหม่ไม่ให้อารมณ์ขาดตอน “รามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ 7” หนังสือที่เจ้าตัวภาคภูมิใจไม่แพ้กัน

ถามถึงอุปสรรคในการค้นคว้า อาจารย์บอกว่า ปัญหาอยู่ที่เอกสารการซ่อมจิตรกรรมในยุคพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น “ยังหาไม่พบ” จึงต้องใช้หลักฐานอื่นๆ แทน โดยเฉพาะเอกสารการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ ด้วยพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สำคัญที่มีนักท่องเที่ยวมหาศาลเดินทางมาเยี่ยมเยือนในทุกๆ วัน จึงนับเป็นงานวิจัยที่ต้องฝ่าฟันฝูงชนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลแบบทุกตารางนิ้ว

คลิกอ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ : รัตนโกสินทร์ เมืองพระอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image