‘มหัศจรรย์การอ่าน’ เติมอาหารสมองเด็กปฐมวัย

เพราะ “การอ่าน” เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้พัฒนาการของเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) ได้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่โครงสร้างต่างๆ ของสมองกำลังพัฒนาสูงสุดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ การสื่อสาร จิตใจ สติปัญญา แถมยังช่วยสร้างความสุข เสมือนโซ่ทองคล้องใจสานความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ และลูก บุคคลในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จึงร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน 27 แห่ง จัดงาน “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” ระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.00-16.00 น. ณ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. บอกว่า จากวิกฤตพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) ที่สำรวจโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าพัฒนาการล่าช้าโดยรวมร้อยละ 30 และพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 38.2 ส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม ดังนั้น กิจกรรมมหกรรมการอ่านแห่งชาติ “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ที่จะช่วยพ่อ แม่ ครู ได้คัดเลือกหนังสือเด็กให้ลูกๆ และนักเรียนได้อ่าน ขณะเดียวกันจะได้เห็นเทคนิคการอ่าน การส่งเสริมการอ่านมากมาย โดยเฉพาะการเล่านิทาน การอ่านในครอบครัว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

ทางด้าน พิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการบูรณาการการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ บอกว่า สำหรับร่างแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564 โดยร่างแผนแม่บทดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมการอ่านให้คนไทยมีนิสัย มีวัฒนธรรมการอ่านแก่ประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าขณะนี้คนไทยอ่านหนังสือประมาณ 66 นาทีต่อวัน แต่ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน ฉะนั้น แผนดังกล่าววางเป้าหมายภายใน 5 ปี หรือปี 2564

Advertisement

“คนไทยจะต้องใช้เวลาในการอ่านหนังสือที่มีคุณภาพมากขึ้น เฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน รวมถึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ประเด็นในการผลักดันเรื่องนี้คือ 1.ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่าน 2.อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชน 3.ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อ และ 4.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรม”

จากภาครัฐ มาฟังความเห็นจากคุณแม่ยุคใหม่ คุณแม่แอม ชลธิชา อัศวาณิชย์ ซึ่งเลี้ยงลูกวัย 3 ขวบ ด้วยหนังสือ เล่าว่า ยุคนี้สื่อต่างๆ เข้าถึงเด็กได้ง่ายมาก ทำให้ทุกอย่างรอบๆ ตัวเด็กหมุนเร็วไปหมด ไม่อยากให้ลูกต้องเร่งรีบตามทุกสิ่ง และมองหาวิธีที่จะทำให้ลูกอยู่กับเรานานที่สุด อยู่กับตัวเองได้ พบว่า อ่านหนังสือช่วยลูกได้

หนังสือที่ให้ลูกดู หรืออ่านให้ลูกฟัง เช่น หนังสือภาพที่มีรูปภาพใหญ่ๆ สีสันสดใส เป็นสิ่งที่เรียกความสนใจจากลูกได้เป็นอย่างดี และการอ่านไม่จำเป็นต้องเป็นการอ่านจากหนังสือเพียงอย่างเดียว อาจจะอ่านจากข้อความต่างๆ แต่ต้องเป็นการอ่านตัวหนังสือ ให้เด็กจดจำตัวอักษร ตัวหนังสือได้ หนังสือเป็นสิ่งสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกได้อย่างมาก ได้นอนอ่านหนังสือกับลูกหรือกอดลูกไว้ขณะอ่านหนังสือ ทำให้ลูกได้รับความอบอุ่นจากเรา

Advertisement
ชลธิชา อัศวาณิชย์

ทั้งนี้ ภายในงานมีโซนจัดแสดงงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย โซนเวทีมหัศจรรย์การอ่าน พบคนดลใจร่วมสร้างมหัศจรรย์แห่งการอ่าน โซนนวัตกรรมชุมชนอ่านยกกำลังสุข โดยเครือข่ายศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรม “บ้านอ่านยกกำลังสุข” และโมเดลบ้านสร้างสุขด้วยการอ่านจาก 15 พื้นที่ต้นแบบนำร่องทุกภูมิภาค รวมถึงมีโซน Reading in Wonderland : ดินแดนมหัศจรรย์ด้วยนิทานหลากจินตนาการ ผ่านประตูวิเศษแห่งดินแดนโลกหนังสือ โซนตลาดนัดนักอ่านสำนักพิมพ์ โซนสานพลังองค์กรร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน จัดกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการและกิจกรรมหนังสือดีเพื่อพัฒนาการ EF การขับเคลื่อนจังหวะแห่งการอ่าน กิจกรรมบ้าน นักเขียน หนังสือเด็ก กิจกรรมหนังสือออกแบบได้ ระดมจิตอาสามาร่วมอ่านหนังสือเสียงให้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ฯลฯ

อยากรู้จักว่าหนังสือนิทานดีๆ กิจกรรมต่างๆ สนุกสนานอย่างไร เชิญได้ที่งานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ : “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” ระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.00 น.-16.00 น. ณ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image