ศรีวิชัย อาณาจักรในจินตนาการ ของเจ้าอาณานิคมยุคล่าเมืองขึ้น

เมืองเก่า - สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ขุดพบหลกัฐานใหม่ในแหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อ. พุนพิน จ. สุราษฎร์ธานี บ่งชี้ถึงความเป็นเมืองท่าสำคัญสมัยศรีวิชัย พบธรรมจักรหิน, จักรสัมฤทธิ์ และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นรัฐโบราณในเอกสารจีน เรียกว่าพันพัน เมื่อวันที่ 31 มกราคม (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน (กรอบ ตจว.) ฉบับวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 หน้า 1, 12)

ศรีวิชัยเป็นอาณาจักรในจินตนาการของเจ้าอาณานิคมยุโรปยุคล่าเมืองขึ้น ถูกค้นพบแล้วนำเสนอต่อสากลโลกครั้งแรก 100 ปีที่แล้ว (ราว พ.ศ.2461)

นักวิชาการไทยฝ่ายอนุรักษนิยมรับ “อาณาจักรศรีวิชัย” แบบอาณานิคมไว้ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ แล้วสถาปนาความรู้เป็นทางการว่าภาคใต้มีสมัยศรีวิชัยในอาณาจักรศรีวิชัย

เมื่อไม่นานมานี้อาณาจักรศรีวิชัยถูกยกขึ้นมาอีก เมื่อกรมศิลปากร (โดยสำนักศิลปากรที่นครศรีธรรมราช) ขุดพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีบริเวณเชิงเขาศรีวิชัย อ. พุนพิน จ. สุราษฎร์ธานี

แต่ศรีวิชัย “ไม่อาณาจักร” นักวิชาการแนวคิดใหม่ไม่อนุรักษ์ทั้งนานาชาติและไทย ตรวจสอบทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์แล้วไม่พบหลักฐานสนับสนุนว่ามีอาณาจักรศรีวิชัยอันกว้างใหญ่ไพศาลตามความเชื่อแบบอาณานิคม

Advertisement

คนน้อย พื้นที่มาก

อุษาคเนย์มีคนไม่มาก แต่พื้นที่มีมาก รัฐต่างๆ จึงต้องการคนมากกว่าพื้นที่

ทั้งนี้เพราะพื้นที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของอำนาจรัฐ นักวิชาการนานาชาติมีความเห็นสอดคล้องกันว่ารัฐจารีตทั้งในหมู่เกาะและภาคพื้นทวีป ไม่มีขอบเขตพื้นที่ชัดเจน ไม่มีเส้นพรมแดนแน่นอนตายตัว

การควบคุมกำลังคนเป็นเป้าหมายด้านหลักของรัฐจารีต ดังเห็นจากทำสงครามแย่งชิงกวาดต้อนกำลังคนไปมาซึ่งกันและกัน

Advertisement

ราชธานี หรือศูนย์กลางอำนาจรัฐ มีฐานะเป็นเพียงจักรวาลจำลองที่สามารถทำพิธีกรรมเคลื่อนย้ายไปได้

อำนาจรัฐเข้มแข็งอยู่ในราชธานีที่ประทับของพระราชา ถ้าห่างออกไปก็ค่อยๆ อ่อนแอลง จนอำนาจแท้จริงอยู่ที่หัวหน้าชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ

[สรุปจากหนังสือ ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ของ ทวีศักดิ์ เผือกสม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2555 หน้า 18-19]

ศรีวิชัย ไม่อาณาจักร

อาณาจักรศรีวิชัยที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อกันว่าเป็น “รัฐรวมศูนย์” ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา มีกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์มีอำนาจปกครองและนับถือพุทธศาสนามหายานในลัทธิตันตระที่เรียกว่า “วัชรยาน” เป็นศาสนาสำคัญ

ศรีศักร วัลลิโภดม บอกไว้ในหนังสือสร้างบ้านแปงเมืองว่าปัจจุบันจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและความรู้ใหม่จากการค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการรุ่นใหม่ได้เปิดประเด็นที่ว่า ศรีวิชัยหาใช่อาณาจักรรวมศูนย์ไม่ หากเป็นเพียงสหพันธรัฐทางทะเล ที่มีการรวมตัวกันของบรรดารัฐและเมืองท่าที่สัมพันธ์กับเส้นทางการค้าผ่านช่องแคบมะละกา ผ่านอ้อมแหลมมลายู ผ่านทะเลอ่าวไทยไปเวียดนามและจีน รัฐและเมืองชายทะเลที่อยู่ในเครือข่ายนี้มีทั้งตามชายฝั่งทะเลทั้งสองข้างของแหลมทองทั้งคาบสมุทรไทยและคาบสมุทรมลายู และตามหมู่เกาะโดยเฉพาะเกาะสุมาตราและเกาะชวา

[จากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2560 หน้า 350-351]

แผนที่ภูมิภาคอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) แสดงเส้นทางการค้าทางทะเล ประเทศไทยมีคาบสมุทรยื่นยาวลงทางใต้ อยู่เกือบกึ่งกลางภูมิภาค เสมือนจุดนัดพบทางการค้าและสงครามของโลกตะวันตกกับตะวันออกนับพันๆ ปีมาแล้ว ทำให้เกิดความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมและเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่
(ซ้าย) เส้นประ แสดงเส้นทางคมนาคมทางทะเลจากตะวันตกไปตะวันออก
(ขวา) เส้นยาว แสดงเส้นทางคมนาคมทางทะเลเลียบชายฝั่งจากตะวันออกไปตะวันตก

ศรีวิชัย ไม่มีศูนย์กลางถาวร

ศรีวิชัยมิได้มีศูนย์กลางแน่นอนและถาวร แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามความเข้มแข็งของผู้นำของแต่ละท้องถิ่นที่สามารถควบคุมอำนาจทางการเมืองและการค้า ดังนั้นศูนย์กลางของศรีวิชัยอาจจะอยู่ทั้งบริเวณหมู่เกาะ หรือบนคาบสมุทรมาเลย์

กรมศิลปากร เคยจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องศรีวิชัย (มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ในหนังสือรายงานการสัมมนาเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 25-30 มิถุนายน พ.ศ. 2525 : จัดพิมพ์โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร พฤศจิกายน 2525) นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ มีข้อเสนอแนวคิดร่วมกันโดยสรุปในขณะนั้นได้ความว่า

“ศรีวิชัย” ไม่ใช่ชื่ออาณาจักรที่มีศูนย์กลางของอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจและการเมืองอยู่เมืองใดเมืองหนึ่งเพียงเมืองเดียว แต่ “ศรีวิชัย” เป็นชื่อกว้างๆ ทางศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มบ้านเมืองหรือรัฐน้อยใหญ่ ที่มีวัฒนธรรมบางประการร่วมกัน เช่น นับถือพุทธศาสนาในลัทธิมหายานที่แสดงออกด้วยรูปแบบทางศิลปกรรมที่เรียกกันว่า “ศิลปกรรมแบบศรีวิชัย”

ถ้าหากกลุ่มบ้านเมืองหรือรัฐน้อยใหญ่ที่มีรูปแบบทางศิลปวัฒนธรรมร่วมกันในชื่อ “ศรีวิชัย” นี้ จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมแล้ว กลุ่มบ้านเมืองหรือรัฐน้อยใหญ่เหล่านั้น ไม่ว่าจะตั้งอยู่บนคาบสมุทรหรือบนหมู่เกาะแห่งใดแห่งหนึ่งก็ตาม ต่างจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในลักษณะซึ่งมีศูนย์กลางของอำนาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผันแปรทางเศรษฐกิจ การเมืองแต่ละยุคแต่ละสมัย ที่เรียกกันในสมัยหลังๆ ว่า “สมาพันธรัฐ” หรือ “สหพันธรัฐ”

ชุมชนชาวน้ำ “ศรีวิชัย”

“ศรีวิชัย เป็นสหพันธ์หมู่เกาะของพวกที่อาศัยอยู่ในทะเล คือชุมชนชาวน้ำ คุมการค้าแถบช่องแคบมะละกา และเป็นคนกลางในการติดต่อค้าขายกับจีน ขณะเดียวกันยังมีบทบาทสำคัญในการขยายเส้นทางการค้าเครื่องเทศสู่เกาะและกลุ่มเกาะย่อยทางด้านตะวันออกอย่างเป็นรูปธรรม” ดร. ธิดา สาระยา บอกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย แล้วบอกต่อไปว่า

ดังนั้นศรีวิชัยเป็นชุมชนของชาวน้ำ ซึ่งมีวิถีชีวิตและพัฒนาทักษะการเดินเรือและการค้า ที่สัมพันธ์กับน่านทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะการรวมตัวของชาวเกาะชาวน้ำอันเป็นที่มาของศรีวิชัยนั้น นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งการศึกษาเรื่องศรีวิชัยในอดีตที่ผ่านมา นักวิชาการไม่ให้ความสนใจ และมักให้ความสนใจแต่โครงสร้างของรัฐทางการเมืองในมุมมองเฉพาะ

ชุมชนชาวน้ำ (หรือ ชุมชนน้ำ) คือ ชุมชนตามชายฝั่งทะเล ซึ่งการใช้ชีวิต การเดินเรือของชุมชนชาวน้ำขึ้นอยู่กับระบบลม [ระบบลมมรสุม ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นตัวกำหนดเวลาเดินเรือ, ระยะทาง, และแม้แต่เส้นทาง]

ชุมชนชาวน้ำมักกระจายอยู่ตามริมฝั่งทะเลมหาสมุทรในอาณาบริเวณตามชายฝั่ง หรือที่มีทางน้ำติดต่อทะเลได้ไม่ห่างฝั่งมากนัก บางชุมชนลอยเรืออยู่เป็นสังคมเดียวกันก็มี พบบริเวณน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียดังที่ไทยเรียก ชาวเล และทางกลุ่มชนเรียกตัวเองว่า โอรังลาอุต หรืออุรัคลาโว้ย

[จากหนังสือ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย ของ ดร. ธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2554]

เมืองปาเล็มบัง ยังมีปัญหา

เมืองปาเล็มบัง ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นกันว่าเป็นศูนย์กลางของรัฐศรีวิชัยนั้น กลับไม่พบหลักฐานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 อันเป็นยุคเริ่มแรกของศรีวิชัย นอกจากประติมากรรมจำนวนหนึ่ง ซึ่งกำหนดอายุตามรูปแบบศิลปะควรอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 และหลักฐานบนผิวดินประเภทเครื่องถ้วยจีน อายุตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นต้นไป (ก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏ) นอกจากนี้มีร่องรอยของสิ่งก่อสร้างด้วยอิฐอยู่บริเวณตอนในของเมืองปาเล็มบัง (แม้ว่าส่วนใหญ่ของอิฐจะถูกนำไปสร้างถนนเสียหมดแล้ว)

ภาชนะเครื่องถ้วยจีนเป็นสินค้าสำคัญ (จริงอยู่หลักฐานนี้ไม่หนาแน่นเท่ากับที่พบ ณ บริเวณอื่น เช่นที่เมืองไชยา จ. สุราษฎร์ธานี) แต่ร่องรอยเหล่านี้ก็แสดงเครือข่ายของการติดต่อจากเมืองซึ่งอยู่ในทำเลอันเหมาะสมสำหรับการติดต่อโดยตรงกับจีน และเป็นตัวกลางให้พ่อค้าต่างประเทศจากแผ่นดินอื่น

[สรุปจากหนังสือ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย 2554]

ศิลปะศรีวิชัยแน่หรือ?

บวสเซอลิเยร์พิจารณาลักษณะของศิลปะศรีวิชัยทางด้านวัฒนธรรมทางศาสนาเป็นหลัก มากกว่าการแผ่อำนาจทางการเมือง และเสนอว่าอันที่จริงศิลปะศรีวิชัยนับเป็นศิลปะท้องถิ่นในพื้นที่คาบสมุทรส่วนของประเทศไทย

ช่วงเวลาการปรากฏตัวของศิลปะอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-13 และมักอ้างกันว่าศิลปะศรีวิชัยบนพื้นที่นี้หมายถึงการที่อินโดนีเซียเข้ามาครอบครองดินแดนบนคาบสมุทร เป็นส่วนหนึ่งแห่งพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของรัฐศรีวิชัย

แต่บวสเซอลิเยร์แย้งว่าอิทธิพลที่ศิลปะได้รับนั้นมาจากหลายกระแสวัฒนธรรม เฉพาะอย่างยิ่งแรงบันดาลใจทางด้านศาสนา เพราะเป็นทั้งพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ อิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินโดนีเซียจึงมิใช่ลักษณะทั้งหมดของศิลปะศรีวิชัย และโดยนัยนี้สถาปัตยกรรมศรีวิชัยบนคาบสมุทรจึงมิใช่หมายถึงการสถิตเสถียรแห่งอำนาจถาวรของรัฐศรีวิชัยที่สุมาตรา

ในอีกบางที่เช่นกัน บวสเซอลิเยร์ได้เคยกล่าวเมื่อเข้ามาขุดแต่งเมืองร้างอู่ทองในประเทศไทย ว่าศิลปะศรีวิชัยนั้นมีอิทธิพลปะปนอยู่กับลักษณะดั้งเดิมของศิลปะทวารวดี

อำนาจของศรีวิชัยที่แผ่ไปนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับดินแดนคาบสมุทรและหมู่เกาะของน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่งด้วยกัน ตั้งแต่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของ สุมาตรา ชวาตะวันออก-ชวาตอนกลาง รวมถึงปลายสุดของคาบสมุทรไทย-มลายู

หลักฐานเกี่ยวกับอาณาจักรเหล่านี้จากพื้นที่ดังกล่าว ถ้าไม่นับรวมหลักฐานจากแผ่นดินอื่น เช่น อินเดียใต้และอาหรับ จะไม่ทำให้รู้จักศรีวิชัยชัดเจนขึ้นเลย เฉพาะอย่างยิ่งโบราณคดีที่เราคุ้นเคยกันคือโบราณวัตถุสถานขนาดใหญ่ และมักกำหนดอายุอยู่ในสมัยหลังจากจุดเริ่มแรกของศรีวิชัย

[สรุปจากหนังสือ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย 2554]

เมืองโบราณ – นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่เขาศรีวิชัย อ. พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี หลังพบหลักฐานโบราณคดีจำนวนมากจากการขุดค้น เชื่อเป็นเมืองท่าสำคัญยุคศรีวิชัย ส่วนภาพเล็กเป็นจักรสัมฤทธิ์อายุ 1,300 ปี ที่ขุดค้นเจอ คาดใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ อาจเป็นจักรพระวิษณุหรือโพธิสัตว์ในลัทธิมหายาน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ (ภาพและคำบรรยายจาก มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 หน้า 1, 12)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image