‘TIJ’ ผู้นำด้านกระบวนการยุติธรรม โยง ‘แนวคิดหลักสากล’ สู่ประชาคมอาเซียน

 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ) องค์กรวิชาการด้านกระบวนการยุติธรรมที่กำลังได้รับความสนใจและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ในการส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ภายใต้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการวิจัยและการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือกับสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา และเชื่อมโยงแนวคิดตามหลักสากลสู่การปฏิบัติในระดับประเทศและในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบัน สถาบัน TIJ มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อได้การรับรองสถานะ เป็น 1 ในสถาบันสมทบในเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The United Nations Programme Network Institute on Crime Prevention and Criminal Justice -PNI) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมี ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึงพันธกิจสำคัญว่า TIJ มุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลักดันข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ รวมถึงมาตรฐานสหประชาชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม โดยกิจกรรมสำคัญคือ การศึกษา วิจัย รวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา เพื่อสนับสนุนการพัฒนากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงองค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือในกรอบอาเซียน

Advertisement

สำหรับ PNIs เป็นเครือข่ายสถาบันวิชาการและองค์การระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่สนับสนุนในการดำเนินภารกิจทางวิชาการของสหประชาชาติ ทั้งนี้ หน่วยงานที่จะได้รับการรับรองให้มีสถานะเป็นสถาบันสมทบของสหประชาชาติ ต้องเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความเป็นเลิศทางวิชาการ

TIJ ในนามประเทศไทย ถือเป็นองค์กรแรกของอาเซียนที่ได้เข้าเป็นเครือข่าย PNIs ซึ่งจะทำให้เกิดการนำนวัตกรรม องค์ความรู้ ทรัพยากรจากนานาประเทศมาพัฒนากระบวนการยุติธรรมในประเทศ รวมถึงพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ช่วยยกระดับเสียงของประเทศไทยในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการยุติธรรมในเวทีระหว่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนโดยรวม และช่วยทำให้ไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้ สภาพปัญหา และแนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในเวทีระหว่างประเทศ

ขณะนี้บทบาทของสถาบัน TIJ หลังการเข้าเป็นสมาชิก PNIs กำลังจะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 TIJ จะได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม PNI Coordination ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุมในทวีปเอเชีย และในช่วงเวลาเดียวกันจะมีการจัดประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ASEAN Conference on Crime Prevention and Justice หรือ ACCPCJ) ครั้งที่ 1 โดยงานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมดุสิตธานี เป็นการประชุมของผู้แทนจาก 30 หน่วยงานจากอาเซียนที่มีทั้งผู้แทนที่มีความเชี่ยวชาญที่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายความยุติธรรมในหลากหลายด้าน อาทิ กฏหมาย ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้แทนที่มาจาก PNIs จากหลายประเทศรวมแล้วกว่า 200 คน

Advertisement

นอกจากนี้ TIJ ยังได้เดินหน้าจัดเวทีเยาวชนคู่ขนาน(Youth Forum) ในวันที่ 6 – 12 พฤศจิกายน 2559 ณ สำนักงาน TIJ ภายใต้หัวข้อ “การป้องกันอาชญากรรมด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยคาดว่าจะมีผู้แทนเยาวชนทั้งในและนอกอาเซียน ประมาณ 40 คนเข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ ผู้แทนเวทีเยาวชนจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม ACCPCJ เพื่อรับฟังและนำเสนอผลการประชุมของเวทีเยาวชน ด้วย

ขับเคลื่อนภารกิจภายใต้บทบาท PNI

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการสร้างความยุติธรรมตามบรรทัดฐานสากล TIJ จึงได้ใช้ความถนัดนี้เพื่อพัฒนาองค์กรสู่การเป็นผู้นำด้านกระบวนการยุติธรรมในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นกิจกรรมวิชาการเพื่อส่งเสริมมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศนำไปปรับใช้ในการยกระดับมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยให้สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม บรรลุผล ตรวจสอบได้ และขยายขอบเขตภารกิจงานให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญในระดับระหว่างประเทศใหม่ๆ อีกด้วย

นอกเหนือจากนี้ TIJ ยังได้ริเริ่มผลักดันและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตลอดจนจัดการอบรมหลักสูตรวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงสำหรับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระดับอาวุโสในภูมิภาคอาเซียน และโครงการวิชาการอื่นๆ โดยประสานความร่วมมือกับ PNIs อีก 3 หน่วยงาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอย่าง สถาบันการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียและตะวันออกไกล The United Nations Asia and Far East Institute for the Prevention of Crime and the Treatment of Offenders (UNAFEI) ศูนย์วิจัยกฎหมายอาเซียน-จีน (China-ASEAN Legal Research Center) และสถาบันอาชญาวิทยาแห่งเกาหลี Korean Institute of Criminology (KIC) อีกทั้งยังมุ่งมั่นสร้างบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านหลักนิติธรรม (Rule of Law) และผู้นำรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียโดยการผสานจะร่วมมือกับสถาบันกฎหมายและนโยบายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Institute for Global Law and Policy, Harvard –IGLP) ในการจัดหลักสูตรการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวกับหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในเอเชีย (Harvard IGLP Regional Workshop in Asia)

ทั้งหมดนี้ ตอกย้ำถึงบทบาทของ TIJ ที่มุ่งมั่นสร้างความยุติธรรมตามหลักสากลอย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image