การค้าระหว่างประเทศคืออะไร
การค้าหรือเทรดนั้น คือการที่สองฝ่ายหรือมากกว่านั้นได้ทำการตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการกันโดยมีการกำหนดค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายนั้นๆ ดังนั้นการค้าระหว่างประเทศก็หมายถึงการที่ประเทศสองประเทศหรือมากกว่านั้นได้ทำการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการซึ่งกันและกันเพื่อเป็นผลประโยชน์ตามความต้องการของประเทศแต่ละประเทศนั้นเอง
การเริ่มต้นการค้าระหว่างประเทศ
การค้าระหว่างประเทศนั้นได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนสมัยคริสตกาลโดยถูกพบในเขตเอเชียกลางที่เดินทางข้ามทวีปด้วยม้า การค้าระหว่างประเทศนั้นก็มีแนวคิดที่ไม่ได้แตกต่างกับแนวคิดของการค้าโดยทั่วไปมากนัก โดยที่เริ่มต้นแล้ว แนวคิดของการค้าคือการที่แต่ละฝ่ายต่างก็ผลิตหรือให้บริการในสิ่งที่ฝ่ายฝ่ายนั้นมีความสามารถมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของต้นทุนหรือทักษะ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน การค้าระหว่างประเทศก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะในแต่ละประเทศก็ต่างมีทรัพยากรมากน้อยแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ หรือความได้เปรียบทางหลักภูมิศาสตร์ ทั้งหมดต่างก็เป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนในสิ่งที่มีพอใช้และขาดแคลนไปอย่างแตกต่างกันนั้นเอง
เส้นทางสายไหม
แม้ว่าการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการบันทึกเอาไว้นั้นจะไม่ได้ขับเคลื่อนไปเป็นประเทศอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับในปัจจุบันนี้ แต่ก็มีร่องรอยของการแลกเปลี่ยนสินค้ากันทางไกลเพื่อแลกเปลี่ยนวัตถุดิบหายากจากในแต่ละพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพืชผลเนื้อสัตว์ยาสมุนไพรและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆนานามากมาย จนกระทั่งมาถึงในยุคสมัยคลาสสิคที่ได้ก่อเกิดเส้นทางสายไหมอันเลื่องชื่อที่นำโดยทูตการค้าชาวจีนที่ได้เดินทางค้าขายสินค้าจากจักรวรรดิจีนอันยิ่งใหญ่ตามเส้นทางสายไหมไปยังประเทศอินเดียอาณาจักรเปอร์เซียและจักรวรรดิโรมัน
เข้าสู่ยุคปัจจุบัน
เส้นทางการค้าสายไหมนี้ยังกลายมาเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลอย่างมากจวบจนถึงปัจจุบันได้เชื่อมต่อจากเอเชียตะวันออกมายังเอเชียใต้ผ่านทะเลทรายเอเชียกลางและมุ่งหน้าเข้าไปสู่ทวีปยุโรปกันเลยทีเดียว ต่อมาในยุคกลางก็ได้มีการบุกเบิกการค้าไปทางเรือซึ่งทำให้การค้าระหว่างประเทศไม่ใช่การค้าของพ่อค้าต่างแดนแต่กลายมาเป็นเรื่องระหว่างประเทศสองประเทศทำการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการรวมไปจนถึงการค้าที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและการเมืองกันอย่างจริงจังซึ่งจากจุดนี้ได้นำมาสู่การพัฒนาของการค้าระหว่างประเทศเป็นต้นมา
องค์กรการค้าโลก
องค์กรการค้าโลกหรือที่เรียกกันเป็นตัวอักษรย่อว่าดับเบิลยูทีโอ ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2490 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลงได้เป็นเวลาสองปี เป็นองค์กรนานาชาติที่ทำหน้าที่ในการดูแลควบคุมเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนและการค้าระหว่างประเทศในโลกรวมไปถึงทำข้อตกลงและออกกฎระเบียบให้กับประเทศทั่วโลกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากรและเขตการค้าเสรี การก่อตั้งขององค์กรการค้าโลกได้ส่งเสริมกิจกรรมทางการค้าระหว่างและลดช่องว่างทางการค้าระหว่างลงส่งผลทำให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้อย่างราบรื่น
ความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ
การค้าระหว่างประเทศก่อให้เกิดแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ให้ผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่ทำการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การนำเข้าและส่งออกสินค้าทางการเกษตรที่เป็นที่ต้องการภายในประเทศนั้นๆ ทำให้เกิดควาสมดุลของอุปสงค์และอุปทานและทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ การพัฒนาของสินค้าและบริการเนื่องจากประเทศสามารถโฟกัสไปยังสิ่งที่ตนเองถนัดได้ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความเข้าถึงและเท่าทันอย่างเรื่องของเทคโนโลยีเป็นต้น กระนั้นการค้าระหว่างประเทศไม่เพียงจะส่งผลดีเท่านั้นแต่ยังมักจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์แฝงอย่างการเมืองระหว่างประเทศ อาทิ การกดดันอีกประเทศด้วยการเพิ่มภาษีศุลกากรหรือระงับการซื้อสินค้าที่มีการนำเข้าเป็นปริมาณหรือการระงับการขายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของประเทศคู่ค้าที่ต้องการจะกดดันทางการเมืองนั้นๆ เป็นต้น
กลุ่มการค้าระหว่างประเทศที่น่าสนใจ
BRICS
เมื่อพูดถึงกลุ่มการค้าระดับโลกเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึงกลุ่มบริกส์ซึ่งกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แม้จะถูกกังขาว่าเป็นการรวมกลุ่มประเทศที่ใช้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจการค้าเป็นข้ออ้างในการสร้างพันธมิตรทางการเมืองของโลกขึ้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าเป็นกลุ่มการค้าที่มีอิทธิพลต่อโลกในช่วงทศวรรตที่ผ่านมาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าโลกอย่างประเทศจีน ประเทศแห่งพลังงานผู้เป็นคู่แข่งตัวฉกาจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในแทบจะทุกภาพยนต์ฮอลลิวูดอย่างประเทศรัสเซีย ประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติจนถูกขนานนามว่าปอดของโลกและเป็นแหล่งการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์สูงสุดที่ได้รับการเรียกว่าเป็นปากท้องของโลกอย่างประเทศบราซิล ประเทศอันเก่าแก่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและยังเป็นต้นกำเนิดของศาสนาถึงสามศาสนารวมไปถึงวิชาที่กลายมาเป็นหลักการพัฒนาของโลกอย่างคณิตศาสตร์อย่างประเทศอินเดีย และจะขาดประเทศน้องใหม่อย่างประเทศแอฟริกาใต้ไปไม่ได้เลยไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางอิเล็กทรอนิกส์และการเป็นเมืองท่าที่สำคัญในทวีปแอฟริกา เมื่อทั้งห้าประเทศนี้รวมกันจริงไม่อาจจะละเลยความเป็นจริงได้เลยว่าเป็นการรวมกลุ่มการค้าที่มีความยิ่งใหญ่และมีความพร้อมสูงสุดจริงๆ
เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน
เขตการค้าเสรีจีนอาเซียนเป็นหนึ่งในเขตการค้าที่สำคัญต่อประเทศไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548 เป็นต้นมาซึ่งในความร่วมมือระหว่างประเทศที่อยู่ในเขตอาเซียนกับประเทศจีนนี้ จะมีการเลือกเปลี่ยนสินค้ากันโดยที่ประเทศจีนจะส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศที่อยู่ในอาเซียนโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าส่งออกหรือเสียไม่เกินห้าเปอร์เซ็นต์ และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประเทศในเขตอาเซียนหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรกรรมอย่างผักและผลไม้สดไปยังประเทศจีนได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าส่งออก ซึ่งในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยภาคการเกษตรจึงถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าและการส่งออกเป็นอย่างยิ่ง โดยสินค้าการเกษตรที่ได้รับความนิยมในการส่งออกและทำมูลค่าได้ค่อนข้างมาก อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด เป็นต้น