สพฉ. มุ่งยกระดับการแพทย์ฉุกเฉินไทยส่งบริการคุณภาพ ทั่วถึง เท่าเทียม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้สามารถเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นหัวใจสำคัญของการแพทย์ฉุกเฉินทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ดำเนินการผ่านกลยุทธ์และนโยบายต่างๆ อยู่เสมอ ทว่ายังคงมีข้อจำกัด ทั้งด้านเทคโนโลยี รวมถึงพื้นที่ของประเทศที่ประสบปัญหาการเข้าถึงตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากเส้นทางที่ห่างไกล ทั้งบนเกาะในทะเล พื้นที่ราบสูง หรือแม้กระทั่งในเมืองที่การจราจรติดขัด

จากโจทย์ที่กล่าวมา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน 2551 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ตลอดจนดูแลและพัฒนาหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศให้สอดรับมาตรฐานสากล

ร.อ.นพ. อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ. หรือรู้จักกันในนามหน่วยงานกำกับดูแลสายด่วน 1669และจัดรถฉุกเฉินออกให้บริการแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งหน่วยงานนี้ดำเนินการผ่านพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘ประเทศไทยต้องมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินมาตรฐานสากล’ รวมถึงมุ่งให้ผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศไทยได้รับบริการที่มีคุณภาพ ทั่วถึง เท่าเทียม ตลอดจนกำหนดให้มีคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ ควบคุมกำกับมาตรฐานหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน และคุ้มครองประชาชน

“จากเดิมที่เป็นเพียงศูนย์นเรนทร ตอนนี้ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น สพฉ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายควบคุมการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยจะเห็นได้ว่าตลอดการดำเนินงานมากว่า 16 ปี มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งการดูแลศูนย์ 1669 ทั่วประเทศ รวมถึงรถฉุกเฉินและโรงพยาบาลต่างๆ”

Advertisement

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อไปอีกว่า สพฉ. มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน – ประชาชน ประกอบด้วย การอนุมัติหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ การติดตามประเมินคุณภาพหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน การจ่ายเงินกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายแทนประชาชน รวมถึงดูแลกลุ่มการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งมูลนิธิ สมาคม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สุดท้ายคือทำหน้าที่คุ้มครองประชาชน

“ภาพรวมของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือสายด่วน 1669 ปีที่แล้วมีคนโทรเข้ามาประมาณ 10 ล้านสาย โดยให้บริการหน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกไปประมาณ 2 ล้านเคสต่อปี ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีบริการทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งนี้ ผู้ให้บริการไม่ใช่ สพฉ. โดยตรง แต่จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 20 มูลนิธิ – สมาคม ร้อยละ 20 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 60”

ร.อ.นพ. อัจฉริยะ เผยว่า อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ เพิ่มอัตราการเข้าถึงการแพทย์ฉุกเฉินให้กับประชาชน ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากองค์กรฯ กระจายอยู่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และมีหน่วยงานรวมกว่า 7,000 แห่ง ที่สำคัญ คือ อยู่ใกล้ชิดประชาชน ดังนั้น จึงพร้อมส่งเสริมให้องค์กรฯ เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินมากขึ้น

Advertisement

ขณะเดียวกัน ด้านแผนการดำเนินการในระยะยาว สพฉ. พยายามผลักดันหน่วยฉุกเฉินให้มีมาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมให้บริษัทเอกชน ซึ่งเดิมทีอยู่นอกระบบ เข้าสู่ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมากขึ้น นอกจากนี้ ยังผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตร จัดตั้ง‘หน่วยแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล เพื่อบูรณาการการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางทะเลในเขตพื้นที่รับผิดชอบต่างๆ

อีกทั้งมุ่งพัฒนา ‘บริการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศยาน (Thai sky doctor) จัดให้มีบริการการปฏิบัติการฉุกเฉินด้านอากาศยาน โดยใช้อากาศยานจากหน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชน ปฏิบัติการร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ การให้บริการ Sky Doctor ต้องมีหน่วยให้บริการรองรับของเครือข่าย สพฉ. รวมถึงทีมแพทย์ชำนาญการ และความจำเป็นของผู้ป่วย ซึ่งต้องเป็นคนไข้วิกฤตและจำเป็นต้องส่งต่ออย่างรวดเร็ว

“หน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ เริ่มต้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากการเดินทางไปโรงพยาบาลจังหวัดใกล้เคียงค่อนข้างไกลจึงมุ่งสร้างโอกาสรอดให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น ต่อมาได้ขยายไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในอนาคตมุ่งขยายขอบเขตไปทั่วประเทศ”

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ สพฉ. ยังเผยถึงความสำคัญของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงของการเจ็บป่วยฉุกเฉินเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

สพฉ. จึงวางกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคน ทุกช่วงวัย ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมาตรฐาน เท่าเทียม และทั่วถึง สอดรับกับสถานการณ์ในโลกยุคดิจิทัล โดยขับเคลื่อนผ่านแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินฉบับที่ 4 ซึ่งมี 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

ส่งเสริมความรู้การแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีความรู้ นำไปสู่การช่วยเหลือตนเองได้ คือ รู้เหตุ แจ้งเหตุเป็น และช่วยเบื้องต้น ต่อมาคือ พัฒนาหน่วยบริการ ให้มีมาตรฐานในทุกมิติ ทั้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินจากสมาคม – มูลนิธิ และโรงพยาบาลต่างๆ สุดท้ายคือ สร้างความเข้มแข็งของกลไกอภิบาลระบบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย เทคโนโลยี และระบบดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา และยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยให้ทัดเทียมระดับสากล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image