สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ปักธงเสริมแกร่งสินค้าปศุสัตว์ไทยฯ

สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ปักธงเสริมแกร่งสินค้าปศุสัตว์ไทย
เปิดปฏิบัติการ “เฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าปศุสัตว์ยุคโลกาภิวัฒน์”

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ได้ทำให้มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่ออุบัติใหม่ ไม่ว่า โรคโควิด โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ โรคอีโบลา เชื้อดื้อยา รวมถึงปัญหาการปลอมแปลงเนื้อสัตว์ แบบข้ามประเทศ ข้ามทวีป ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง และได้เกี่ยวพันมาถึงอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคของประเทศไทย ด้วยผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์ที่ส่งออกไปยังตลาดโลก ไม่ว่า สัตว์ปีก สุกร ทั้งแบบสด แช่แข็ง และแปรรูป ต้องปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องเฝ้าระวังเชื้ออุบัติใหม่ รวมถึงการปลอมแปลงสินค้าปศุสัตว์ เพื่อสร้างความปลอดภัย สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ กรมปศุสัตว์โดยสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ จึงกำหนดให้มี “การเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าปศุสัตว์ยุคโลกาภิวัฒน์” ขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเตรียมความพร้อมรับมือที่ มีประสิทธิภาพ ในสถานการณ์ที่โรคติดต่ออุบัติใหม่ อาจมีความเสี่ยงกับความมั่นคง ความปลอดภัยทางอาหาร ด้วยในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ประเทศคู่ค้า อาจนำเรื่องเชื้อโรคอุบัติใหม่ในสินค้าปศุสัตว์ มาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า

Advertisement

กรมปศุสัตว์โดยสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ได้ทำการเฝ้าระวังสินค้าปศุสัตว์ ตลอดห่วง โซ่การผลิต ตั้งแต่ ปัจจัยการผลิต อาหารสัตว์ เนื้อสัตว์ ทั้งการบริโภคภายใน ส่งออก นำเข้า ตลอดจนเฝ้าระวังตามชายแดน โดยใช้หลักความเสี่ยง (Risk base approach) และหลักแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health approach) ทั้ง 9 ห้องปฏิบัติการครบคลุมทั่วประเทศ และสร้างระบบการเฝ้าระวังเชื้ออุบัติใหม่ในสินค้าปศุสัตว์ ที่สามารถตรวจได้ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ

การเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าปศุสัตว์ยุคโลกาภิวัฒน์ที่ดำเนินการ ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ครอบคลุม กิจกรรมเฝ้าระวังการปนเปื้อน, กิจกรรมเฝ้าระวังเชื้อ Salmonella, กิจกรรมเนื้ออนามัยและไข่อนามัย, กิจกรรมตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ, กิจกรรมพัฒนาโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์, กิจกรรมตัวอย่างอนุเคราะห์, กิจกรรมตรวจวิเคราะห์คุณภาพเนื้อนำเข้า และกิจกรรมเฝ้าระวังการปลอมแปลงชนิดเนื้อสัตว์

Advertisement

แนวทางที่ 2 พัฒนาวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากวิธี Conventional Method เป็นการใช้งานเครื่อง high throughput แนวทางที่ 3 อบรมความรู้ให้บุคลกรที่ทำงานด้านการทดสอบ เช่น การฝึก งานห้องปฏิบัติการ Long Read Lab โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล, การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้งานเครื่องปลอมแปลง เป็นต้น และแนวทางที่ 4 จัดทำระบบฐานข้อมูล Laboratory Information Management (LIMS) เชื่อมโยงผลทดสอบ ระหว่างหน่วยงาน ให้รวดเร็ว สามารถประมวลผล นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อแก้ไข เฝ้าระวังปัญหาได้

การเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าปศุสัตว์ยุคโลกาภิวัฒน์ จึงเป็นมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังที่ทรงประสิทธิภาพ ก่อเกิดประโยชน์ต่อการส่งออกตลอดห่วงโซ่ โดย เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ จะได้ประโยชน์ในการเฝ้าระวังเชื้อโรคอุบัติใหม่ในการเลี้ยงสัตว์ เช่น ด้านป้องกันการระบาดของโรค การเฝ้าระวังช่วยลดความเสี่ยงของการระบาดโรคในสัตว์ การตรวจสอบและระบุเชื้อโรคในสัตว์ที่เลี้ยงอาจช่วยในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไปยังสัตว์อื่น ๆ และมนุษย์ และด้านปรับปรุงสุขภาพของสัตว์ เพราะการเฝ้าระวังสามารถช่วยในการรักษาสุขภาพของสัตว์และป้องกันโรค การตรวจสอบอาการที่ไม่ปกติหรือการตรวจวัดสุขภาพของสัตว์เป็นประจำสามารถช่วยในการรักษาโรคที่ตรวจพบในระยะเริ่มต้น รวมถึงช่วยควบคุมการใช้ยาและสารเคมี การเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ช่วยในการควบคุมการใช้ยาและสารเคมีในการเลี้ยงสัตว์ การตรวจสอบและรับรองว่าการใช้สารเคมีในสัตว์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ยังช่วยลดความต้องการในการใช้ยาและสารเคมี เป็นต้น

ขณะที่ ผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์ สามารถใช้ประโยชน์ จากการนำผลทดสอบที่ได้ไปปรับปรุง ควบคุมการปนเปื้อนเชื้อในกระบวนการผลิต ผ่านช่องทางสัตวแพทย์ควบคุมโรงเชือดของกรมปศุสัตว์ และร่วมกันหาสาเหตุของการปนเปื้อน และเน้นมาตรการควบคุมจุดวิกฤตต่างๆ เช่น ลดอัตราไส้แตก เพิ่มปริมาณน้ำล้างซากภายนอกภายใน ควบคุมอุณหภูมิน้ำถัง chiller ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บางประเทศคู่ค้า ได้เริ่มนำมาตรการตรวจเชื้ออุบัติใหม่ หรือ ตรวจยีนดื้อยา มาเป็นประเด็นกีดกันทางการค้า ซึ่งการมีฐานข้อมูลการเฝ้าระวังการดื้อยา จะเป็นประโยชน์ในแง่ทั้งช่วยควบคุมปัญหาและการกีดกันทางการค้า เช่นเดียวกับ ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการสร้าง products value ให้กับสินค้าด้วยการสร้างจุดขายของความเป็นสินค้าปลอดภัยปลอดภัย

ขณะที่ ผู้บริโภค จะได้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่ปลอดภัย เทียบเท่าสินค้าส่งออก และสามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความตระหนักในการผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

“การเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าปศุสัตว์ยุคโลกาภิวัฒน์” จึงเป็นการเสริมแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย ช่วยให้คนทั่วโลกได้บริโภค เนื้อสัตว์ คุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย ถือเป็นก้าวการทำงานที่สำคัญ ภายใต้ความมุ่งมั่นทุ่มเทของกรมปศุสัตว์โดยสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image