TCMA ร่วมกับ สอวช เดินหน้าศึกษาคาร์บอนสู่เอทานอล

TCMA ร่วมกับ สอวช เดินหน้าศึกษาคาร์บอนสู่เอทานอล
ยกระดับสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ พัฒนาเขตนวัตกรรม
เชื่อมกลไกระดับนานาชาติ สนับสนุนเทคโนโลยีและเงินทุน
สู่เป้าหมาย Net Zero Emission

(30 เมษายน 2567) สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)  ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (SARABURI SANDBOX)” โดยมี
ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช ร่วมลงนาม

 ดร.ชนะ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง TCMA และ สอวช. ในวันนี้ นับเป็นอีกก้าวของ
ความร่วมมือเดินหน้าสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ (SARABURI SANDBOX LOW CARBON CITY) ที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาสนับนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน Energy Transition ไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete รวมถึงเชื่อมโยงการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (SARABURI SANDBOX)

Advertisement

“โครงการแรกที่จะร่วมกันดำเนินการ คือ ‘การศึกษาการใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เมทานอล’ ครอบคลุมด้านเทคโนโลยี ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ปริมาณอุปสงค์อุปทาน (Demand Supply) กฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ และเชื่อมโยงผลการศึกษาใช้ประโยชน์กับการดำเนินงานภายใต้สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดักจับและการใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture Utilization: CCU) จากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพื่อให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกลไกระดับนานาชาติ ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ CO2 ให้เป็นผลิตภัณฑ์เมทานอล (Methanol) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการหมุนเวียนคาร์บอนสำหรับเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีสีเขียวในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนในกระบวนการผลิต สร้างมูลค่าให้กับของเสียจากกระบวนการผลิตจาก CO2 ขณะเดียวกันก็สามารถลดการปลดปล่อย CO2 ทั้งนี้ ประมาณการว่า การนำเทคโนโลยี CCU มาสร้างห่วงโซ่คุณค่าเป็นผลิตภัณฑ์ จะสามารถช่วยประเทศไทยลดก๊าซเรือกระจกได้ถึง 12 ล้านตัน CO2 ต่อปี” ดร. ชนะ กล่าว

ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงที่มาของบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ว่า สอวช. เป็นหน่วยประสานงานกลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และจากการเข้าร่วมประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (COP) ทุกปี ได้เห็นว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เข้าถึงโอกาสการได้รับการสนับสนุนจากกลไกระดับนานาชาติที่ปัจจุบันมีการพัฒนาต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก และเพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology)จากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว มีศักยภาพและทรัพยากรต่างๆ เพียงพอที่จะพัฒนา เล็งเห็นการมีพื้นที่นำร่องนวัตกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่าง SARABURI SANDBOX จะเป็นการแสดงให้เห็นความเอาจริงเอาจังกับระดับนานาชาติ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างพุ่งเป้า ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุนระดับนานาชาติและสร้างผลกระทบสูงจากการรวมกันดำเนินการใน 1 พื้นที่ และพื้นที่จังหวัดสระบุรีมีความพร้อมด้วยภาคอุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของพื้นที่นี้ และมีความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนผ่านและสร้างผลกระทบสูงในการให้เกิดพื้นที่ Net Zero Emission

Advertisement

ดร. ชนะ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง TCMA และ สอวช. นี้ จะสามารถให้แนวทาง
ที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุด ในการหาแนวทางพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่สู่ Net Zero Emissions และเชื่อมโยงการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งทุน ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ สำหรับการพัฒนาเขตนวัตกรรม Net Zero Emission สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (SARABURI SANDBOX)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image