เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2567 แนะวิธีปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ผลดีคุ้มทุน

“พินิจ แก้วพิมาย“ จ.ชัยภูมิเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2567  แนะวิธีปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ผลดีคุ้มทุน

กรมหม่อนไหม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นประจำทุกปี เพื่อประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานให้ปรากฏต่อสาธารณะ โดยปีนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกคือ  นายพินิจ แก้วพิมาย ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี พ.ศ. 2567 ในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สืบสานอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

จากบรรพบุรุษชาวไทคอนสาร

Advertisement

นายพินิจสนใจอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพราะ ต้องการสืบทอดภูมิปัญญาคนไทคอนสาร และสืบทอดอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาจากบรรพบุรุษ และมีแนวคิดว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทำให้ครอบครัวไม่ต้องไปทำงานที่อื่น และเป็นการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง นายพินิจช่วยมารดาเลี้ยงไหมตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จนกระทั่งอายุ 20 ปี หลังแต่งงานก็หันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม ทอผ้าเองมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเป็นคนชอบงานลักษณะนี้ จึงหาวิธีการสาวไหมให้ได้เส้นไหมสวยที่มีขนาดสม่ำเสมอ เรียบ สะอาด มีสีสดใส เพื่อพัฒนาต่อยอดในการผลิตผ้าไหมที่มีคุณภาพ ผลิตผ้าไหมด้วย

นายพินิจวัย 50 ปี ตั้งใจผลักดันผ้าไหมอัตลักษณ์พื้นถิ่นของชาวไทคอนสารให้เป็นที่รู้จัก โดยได้ประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ และเกิดการบูรณาการในการทำงาน ด้านการทอผ้ามีการวางแผนการผลิตผ้าไหมเพื่อจำหน่ายตลอดทั้งปีและให้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ

Advertisement

วางแผนการผลิตเป็นระบบ

สร้างความยั่งยืนในอาชีพ

นายพินิจยึดอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาแล้ว 29 ปี โดยดำเนินการครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ คือ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าไหม มีพื้นที่ในการปลูกหม่อนเพื่อใช้เลี้ยงไหมทั้งสิ้น 2.5 ไร่ โดยดูแลแปลงปลูกหม่อน ใส่ปุ๋ยบำรุงดิน ให้น้ำในแปลงหม่อน ตัดแต่งกิ่งหม่อนตามหลักวิชาการ ทำให้มีผลผลิตใบหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และพันธุ์สกลนคร ได้ปีละ 8 ตัน

นายพินิจวางแผนจัดการโรงเลี้ยงและอุปกรณ์ก่อนการเลี้ยง การเลี้ยงไหม ที่เหมาะสมถูกสุขลักษณะตามหลักวิชาการ ทำให้ได้ปริมาณรังไหมและเส้นไหมมีคุณภาพจำนวนมาก และเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยลูกผสม (พันธุ์ J108 x นางลายสระบุรี) จำนวน 10 รุ่น รุ่นละ 1 – 2 แผ่น สามารถผลิตเส้นไหมได้ 52 กิโลกรัม และเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน (พันธุ์นางสิ่ว x นางตุ่ย) จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 1 แผ่น สามารถผลิตเส้นไหมได้ 8.5 กิโลกรัม ซึ่งโรงเลี้ยงไหมถูกต้องตามหลักวิชาการ มีผลผลิตดักแด้จำนวน 270 กิโลกรัม

ด้านการผลิตผ้าไหม สามารถผลิตผ้าไหมหางกระรอกจำนวน 240 เมตร ผ้าขาวม้าไหมจำนวน 28 ผืน ผลิตผ้าไหมชุด (ผ้าไหมพื้น+ผ้าไหมมัดหมี่) จำนวน 6 ชุด ผลิตผ้าไหมพื้นจำนวน 45 เมตร โดยมีการวางแผนทอผ้าไหมสัปดาห์ละ 200 เมตร นายพินิจได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสาวไหม เช่น การติดมอเตอร์ที่เครื่องสาวไหม ทำให้สาวไหมได้รวดเร็วขึ้น ก่อนที่ผีเสื้อจะเจาะรังไหมออกมาทำให้รังไหมเสียหาย

นอกจากนี้ นายพินิจได้ออกแบบลวดลายขิดที่เป็นเอกลักษณ์ของไทคอนสาร ชื่อ ลายกระแต และได้ทำการจดลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566  พร้อมคิดค้น ประดิษฐ์ เครื่องกรอเส้นไหม ให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น เส้นไหมตีเกลียวได้สม่ำเสมอและแน่นขึ้น  และนำสมุนไพรพื้นบ้านมาอบผ้าไหมทำให้มีกลิ่นหอม เพิ่มอายุการใช้งาน และป้องกันแมลง มีการขยายผลสู่ชุมชน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยไม่หวงวิชาความรู้

ปลูกหม่อนปลอดสารเคมี

ย้อมสีเส้นไหมจากธรรมชาติ

นายพินิจปลูกหม่อน แบบปลอดภัยไม่ใช้สารเคมี โดยใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก เพื่อลดละเลิกการใช้สารเคมีในทุกกระบวนการปลูกหม่อน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  มีการคลุมฟางข้าวในแปลงหม่อน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดิน ช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงปลูก  ใช้วัสดุจากธรรมชาติย้อมสีเส้นไหม เช่น ใบไม้ที่หาได้ตามท้องถิ่น โดยไม่ได้ตัดทำลายต้นไม้  ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเส้นไหม ได้แก่ มูลไหมสามารถนำมาเป็นปุ๋ยหมักสำหรับใช้ในพืชผักสวนครัว หรือพืชอื่นๆ ดักแด้นำมาประกอบอาหาร และน้ำจากการสาวไหมนำไปใช้รดพืชผักสวนครัวและต้นไม้  การลอกกาวและย้อมสีเส้นไหมที่ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น การใช้น้ำขี้เถ้ามาลอกกาวไหม ใช้เปลือกไม้ ใบไม้ มาย้อมสีเส้นไหม มีการทำบ่อหรือสถานที่ทิ้งน้ำลอกกาวไหม หรือน้ำย้อมเส้นไหม

นายพินิจ ส่งเสริมอาชีพการหม่อนเลี้ยงไหมสู่สมาชิกในชุมชน และส่งเสริมการสร้างทายาทสืบสาน การเลี้ยงไหม เพื่อให้เยาวชนในชุมชนที่มีความสนใจในการอนุรักษ์อาชีพการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การสาวไหม การทอผ้าไหม ให้เป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกของคนในชุมชน เป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมสร้างความยั่งยืนด้านอาชีพของคนในชุมชนสืบต่อไป

ผลงานโดดเด่นทำให้นายพินิจได้รับรางวัลต่างๆ มากมายเช่น ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประกวดเส้นไหมลืบสาวมือ ประเภทบุคคลทั่วไปในงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ประจำปี 2557 จากกรมหม่อนไหม  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับจังหวัด กิจกรรมการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประจำปี 2558 จากกรมหม่อนไหม รวมทั้งได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในปีนี้

ปัจจุบันสินค้าผ้าไหมของนายพินิจ ได้รับใบรับรองแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยชนิด Royal Thai Silk (นกยูงสีทอง) Classic Thai Silk (นกยูงสีเงิน) และ Thai Silk (นกยูงสีน้ำเงิน) จากกรมหม่อนไหม ในปี 2565 เขามีรายได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 334,000 บาท ในปี 2566  เขามีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 577,000 บาท เพราะยึดหลัก “ตลาดนำการผลิต” เน้นผลิตผ้าไหมตามคำสั่งซื้อ โดยลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอคอนสาร โดยใช้เส้นไหมที่ผลิตเองทั้งหมด จึงสามารถลดต้นทุน ควบคุมคุณภาพของผ้าไหมที่ผลิตและสามารถบริหารจัดการผลผลิตได้ตามความต้องการของตลาด รวมทั้งทำการตลาดออนไลน์โดยการโพสต์ขายผ่านทางเฟสบุ๊คอีกด้วย ทำให้มีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

มีความเป็นผู้นำและ

ทำงานเพื่อส่วนรวม

นายพินิจ เป็นผู้มีจิตอาสาในการช่วยเหลือชุมชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง “Smart Farmer” ด้านการปลูกหม่อนไหมมีความรอบรู้ในกระบวนการผลิตหม่อนและไหม มีความสามารถในการวิเคราะห์ เชื่อมโยงและบริหารจัดการการผลิตและการตลาด โดยใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ คำนึงถึงคุณภาพของสินค้าผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมและเลี้ยงไหม ตั้งแต่ ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน   เป็นอาสาสมัครเกษตรกร สาขา หม่อนไหมอาสา  เปิดบ้านเป็นแหล่งศึกษาดูงานทั้งภาครัฐ สถานศึกษาและเอกชน ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมกิจการของคุณพินิจ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 2 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โทรศัพท์  065 550 9445

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image