อาจารย์ ม.ร.-สจล. คิดค้น นวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อรถฉุกเฉินแก้จราจรติดขัด

อาจารย์ ม.ร. และ สจล.จับมือคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรถฉุกเฉิน อิงเทคโนโลยี IOT ใช้งานง่ายผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางล่าช้าของรถฉุกเฉินท่ามกลางการจราจรติดขัดของสังคมเมือง หวังลดอัตราอุบัติเหตุ และการเสียชีวิต พร้อมคว้ารางวัลพิเศษจากโรมาเนีย

ดร.จริยา ร่มสายหยุด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่าตนและ ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ร่วมมือกันคิดค้นนวัตกรรมระบบอัจฉริยะเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทางของรถฉุกเฉิน เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ส่วนมากต้องเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาการจราจรติดขัด อีกทั้งรถฉุกเฉินยังจำเป็นต้องใช้ความเร็วสูงในเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนหลายครั้ง

“นวัตกรรมระบบอัจฉริยะเพื่อรถฉุกเฉินนี้ อาศัยเทคโนโลยี Internet of things (IOT) คือการเชื่อมโยงอุปกรณ์เข้ากับโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถควบคุมการใช้งานได้ง่าย ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล และยังสามารถควบคุมได้แบบอัตโนมัติอย่างครบวงจรอีกด้วย ทั้งการแจ้งเตือนรถทั่วไปให้หลีกทาง ระบบตัดหรือปรับสัญญาณไฟจราจรให้รถฉุกเฉินผ่านไปด้วยความคล่องตัว และมีกล่องสัญญาณแจ้งเตือนให้ตำรวจจราจรรับทราบอีกด้วย”

ดร.จริยา กล่าวทิ้งท้ายว่าในงานวันนักประดิษฐ์ที่ผ่านมา ผลงานนวัตกรรมฯชิ้นนี้ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการจากประเทศโรมาเนีย จึงได้รับรางวัลพิเศษ National Council of Rectors – Romania ประเภท International best inventor awards เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่ตอบรับกับโลกปัจจุบัน มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้มีการต่อยอดงานวิจัยโดยร่วมมือกับบริษัท เอนนี่แวร์ ทูโก จำกัด และบริษัท พรีเมียร์ เทลลิเจนท์ จำกัด ที่จะนำผลงานนวัตกรรมชิ้นนี้ไปพัฒนา เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริงในอนาคตอันใกล้นี้

Advertisement

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่าเป็นที่น่ายินดีที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอีกครั้งหนึ่ง โดยเมื่อปี 2560 ดร.จริยา ร่มสายหยุด ได้คิดค้นสูตรสมุนไพรเพื่อใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ร่วมกับอาจารย์จากจุฬาฯ และ สจล. โดยใช้สารสกัดจากสมุนไพรเป็นองค์ประกอบหลัก สำหรับป้องกันหรือรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหลอดเลือดในผู้ป่วย ทั้งยังได้รับรางวัลเหรียญทองด้านนวัตกรรมจากเวทีนานาชาติ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส พร้อมผลักดันออกสู่สาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานวิจัยของคณาจารย์มาโดยตลอด และพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในสังคมและประเทศชาติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image