แกนนำ ‘ประมงพื้นบ้าน’ จี้รัฐกำหนดแนวทางจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำยั่งยืน

วันที่ 9 ธันวาคม นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ แกนนำสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีสมาคมเรือประมงพาณิชย์รวมตัวชาวประมง 22 จังหวัด ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้แก้ปัญหาการทำประมง หากไม่ได้รับการแก้ไขขู่จะบุกไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายนั้น ล่าสุดพบว่าแนวทางที่ผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง ยังไม่ได้ระบุถึงแนวทางการทำกินเพื่อทำให้ทรัพยากรทางทะเลมีความยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการใช้เครื่องมือประมงบางประเภทจับสัตว์วัยอ่อนยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่อาชีพทำการประมงในทะเลไทยแบ่งเรือเป็น 2 ขนาด หากเกินสิบตันกรอสขึ้นไปเป็นเรือประมงพาณิชย์ สิบตันกรอสลงมาเป็นเรือประมงพื้นบ้าน แต่การแบ่งขนาดด้วยขนาดตันกรอส ทำให้มีเรือที่เกิน 10 ตันกรอสขึ้นไป ที่ใช้เครื่องมือแบบเรือพื้นบ้านถูกผลักให้เป็นเรือประมงพาณิชย์ และหากนับจำนวนเรือที่ใช้เครื่องมือแบบพื้นบ้านในข้อเท็จจริงจะพบว่าเรือประมงพาณิชย์ทั่วประเทศจะมีน้อยกว่า 1 หมื่นลำ ขณะที่ประมงพื้นบ้านต่ำกว่า 10 ตันกรอสคาดว่าหลังการสิ้นสุดขึ้นทะเบียนในเดือนธันวาคม 2562 จะมีประมาณ 8 หมื่นลำ

“ประมงพื้นบ้านในสายตาของบุคคลทั่วไปคือ เรือขนาดเล็ก หรืออาจมองไปถึงคนเล็กคนน้อยคนหาเช้ากินค่ำ แย่สุดอาจถูกมองเป็นกลุ่มคนยากจน คนน่าสงสารทั้งที่ความจริง กลุ่มเรือกลุ่มนี้เป็นชาวประมงที่มีขีดความสามารถสูงในการทำการประมงใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำประมง รับผิดชอบต่อการทำประมง อาศัยธรรมชาติควบคู่ทำการประมงและฟื้นฟูควบคู่กับการจับปลา แต่ทำไมจึงถูกมองว่าเป็นคนยากจน น่าสงสารเพราะที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงทรัพยากร ถูกละเลยในเรื่องการบริหารจัดการที่เป็นธรรม เป็นสาเหตุหลักที่ยังเป็นประเด็นต้องแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพราะปัจจุบัน รัฐบริหารจัดการทรัพยากรในทะเล ด้วยระบบโควต้าโดยเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ วันนี้เรือส่วนน้อย ได้โควต้ามาก จับสัตว์น้ำได้ตามอำเภอใจแถมขู่รัฐบาลให้ทำตามโดยไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน” นายปิยะ กล่าว

นายปิยะ กล่าวอีกว่า หลังจากภาครัฐเปิดให้ยื่นจดทะเบียนเรือประมงขนาดไม่เกิน 10 ตันกรอส กลุ่มประมงพื้นบ้านมีไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นลำ จะเข้าสู่ระบบ ซึ่งน่าจะเป็นความหวังที่รอคอยมานาน แต่ระบบบริหารจัดการยังมีคำถามว่า จะทำอย่างไรให้การจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำระหว่างประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ เป็นไปอย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของการประกอบอาชีพ เมื่อเรือประมงพื้นบ้านหากินถูกต้องตามกฎหมาย จะเข้าสู่ระบบสิทธิการดูแล การช่วยเหลือ หากในอนาคตไม่ต้องการทำอาชีพประมง รัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบ ด้วยการซื้อเรือคืนแบบประมงพาณิชย์บ้างหรือไม่

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image