ลูกสาว ‘ลุงสมพร คนสอนลิง’ เชื่อ ตปท.ไม่เข้าใจวิถีชาวสวนมะพร้าว ยันไม่ทรมาน ดูแลเหมือนครอบครัว

ลูกสาว ‘ลุงสมพร คนสอนลิง’ เชื่อ ตปท.ไม่เข้าใจวิถีชาวสวนมะพร้าว ยันไม่ทรมาน ดูแลเหมือนครอบครัว

กรณีเว็บไซต์บีบีซี.รายงานระบุว่า ซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรสินค้าชั้นนำในอังกฤษสั่งเก็บผลิตภัณฑ์กะทิสำเร็จรูป น้ำมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวอื่นๆที่มาจากประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มองค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ พีต้า มองว่าเป็นผลิตภัณฑ์มาจากการใช้แรงงานลิงปีนเก็บมะพร้าวนั้น (อ่านเพิ่มเติม – ซุปเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษเลิกขายน้ำมะพร้าว-น้ำมันมะพร้าวไทย หลังพีต้าชี้ใช้ลิงเก็บ)

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม น.ส.สมใจ แซ่โค้ว เจ้าของวิทยาลัยฝึกลิงเพื่อการเกษตร ต.ทุ่งกง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี บุตรสาวนายสมพร แซ่โค้ว อดีตผู้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกลิงแห่งแรกของประเทศไทยร่วม 30 ปี เจ้าของฉายา “ลุงสมพร คนสอนลิง” เปิดเผยว่า การจับลิงป่ามาใช้งานไม่มีแล้วปัจจุบัน เป็นการเพาะเลี้ยงลิงขึ้นมา กรณีถูกระบุว่าใช้ขึ้นเก็บมะพร้าววันละ 1,000 ลูก ไม่เป็นความจริง ไม่ได้เก็บทุกวันขึ้นอยู่กับความสามารถของลิงแต่ละตัวส่วนใหญ่จะเป็นลิงเพศผู้ และเป็นบางช่วงที่มะพร้าวออกผลดกเท่านั้น หากช่วงมะพร้าวราคาไม่ดี ก็ปล่อยไว้ไม่ได้เก็บทิ้งไว้ 2- 3 เดือน ยังได้ขณะนี้ค่าจ้างเก็บมะพร้าวทั้งคนดูแลและลิงเฉลี่ยลูกละ 2 บาท ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ได้มีงาน

น.ส.สมใจ กล่าวว่า หากไม่ได้ทำอาชีพเกี่ยวกับมะพร้าวคงไม่เข้าใจ ซึ่งต่างประเทศอาจจะไม่เข้าใจวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจาก การใช้คนขึ้นเก็บมะพร้าวมีความเสี่ยงอันตรายสูงถึงแก่เสียชีวิต และสรีระของมนุษย์ไม่เหมาะสมในการขึ้นปีนต้นมะพร้าว ซึ่งการนำลิงมาทำงาน ต้องมีการฝึกสอนและดูแลเลี้ยงดูเสมือนกับบุคคลในครอบครัว ไม่ได้ทรมานเขาทั้งความเป็นอยู่อาหารการกินและการรักษาเมื่อเจ็บป่วยเป็นการทดแทนให้เขาอยู่แบบมีความสุข บางครอบครัวคนในบ้านกินอะไรลิงก็ได้กินในสิ่งเดียวกัน

“เชื่อว่าต่างประเทศคงไม่เข้าใจจริงๆ การสั่งแบนแม้กระทั่งน้ำมะพร้าว ก็ไม่ถูกต้อง เพราะน้ำมะพร้าวน้ำหอมที่มีมากในภาคกลางไม่ได้ใช้ลิงเก็บเลย ต้นไม่ได้สูงใช้ไม้สอยเท่านั้น การล่ามลิงไม่ได้เป็นการทรมานสัตว์ ให้เขาอยู่ตามต้นไม้ที่มีของกินหรือมีบ้านให้เขาและไม่ได้ลามทุกตัวบางตัวก็ปล่อยให้อยู่เอง โดยที่โรงเรียนจะมีกิจกรรมให้เขาทั้งการเรียนหนังสือและทำงาน เพราะถ้าเขาไม่มีความสุขก็ทำงานไม่ได้” น.ส.สมใจ กล่าว

Advertisement

ด้านนายเชาวลิต ชูเสน่ห์ อดีตกำนัน ต.บางใบไม้ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างลิงเก็บมะพร้าว กล่าวว่า ในความเป็นจริงน้ำกะทิไม่ได้เกี่ยวข้องกับลิงเพียงอย่างเดียว ซึ่งการประกอบอาชีพแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกันอย่างเช่นที่ อ.เกาะ สมุย เดิมเคยใช้ไม้ไผ่เป็นไม้สอยลูกมะพร้าวแต่ปัจจุบันไม้ไผ่หายากมากขึ้น เนื่องจาก หมดไปจากป่าด้วยจากสาเหตุอื่นๆจึงต้องหันมาใช้ลิงแทน และการใช้ไม้ไผ่ลำยาวเพื่อสอยมะพร้าวเป็นการยากในขนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ หากเป็นลิงสามารถนำขึ้นรถไปได้ทั้งจักรยานยนต์และรถยนต์โดยไม่รบกวนผู้อื่น

“สำหรับลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เกิดจากการผสมพันธุ์จากลิงเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ อีกทั้งไม่ได้มีการทรมานลิงแต่อย่างใดโดยมีการดูแลอย่างดีตื่นเช้ามาก็จะมีข้าว นม ผลไม้ และของกินเล่นอื่นๆ ให้ลิงกิน รวมถึงมื้อกลางวันและมื้อเย็นก็ไม่เคยขาดอาหาร ซึ่งรักเขาเหมือนลูกในครอบครัวให้เขาอยู่อย่างมีความสุข ส่วนตัวมองว่าการเอาลิงมาอ้างในเรื่องน้ำกะทิไม่ได้ เพราะลิงไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตน้ำกะทิ เราใช้ลิงเพียงแค่ขึ้นมะพร้าวเท่านั้น ปัจจุบันหาคนขึ้นไม่ได้อีกทั้งยังเป็นอันตรายกับมนุษย์ หากพลาดตกลงมาถึงกลับต้องเสียชีวิตไปแล้วหลายราย” นายเชาวลิต กล่าว

ด้านนายสุมาตร อินทรมณี ประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มผลผลิตการเกษตร อ.เมืองสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กรณีนี้เชื่อว่าเป็นการตอบโต้ทางการค้าที่รัฐบาลไทยแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด ที่ใช้ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งพบว่ามีความพยายามหาข้ออ้างกีดกันสินค้าทางการเกษตรในหลายชนิดของไทย จริงๆ แล้ว เราไม่ควรวิตกกังวลให้มากจนเกินไป เพราะปัจจุบันมะพร้าวที่มีการเพาะปลูกในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

Advertisement

“สินค้ากะทิสำเร็จรูปที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นมะพร้าวที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสนใจกลับมาส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำกะทิและมะพร้าวภายในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวอีกทางหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการผลิตกะทิสำเร็จรูปอาจมีผลกระทบบ้างและจะต้องยอมรับส่วนนี้ ที่สำคัญรัฐบาลจะต้องมีมาตรการเด็ดขาดในการป้องกันการลักลอบนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเ พื่อเป็นการป้องกันมะพร้าวล้นตลาด” นายสุมาตร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image