เปิดแผนปฏิบัติการกู้เรือเฟอร์รี่ราชา 4 ต้น ก.ย.นี้ คาดใช้เวลา 1 เดือนแล้วเสร็จ

เปิดแผนปฏิบัติการกู้เรือเฟอร์รี่ราชา 4 ต้น ก.ย.นี้ คาดใช้เวลา 1 เดือนแล้วเสร็จ

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่สำนักงานราชาเฟอร์รี่ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ได้แถลงแผนปฎิบัติการกู้เรือเฟอร์รี่ราชา 4 ที่ประสบเหตุล่มเมื่อวันที่ 1 ส.ค.63 บริเวณเกาะสี่เกาะห้า อ.เกาะสมุย ห่างจากท่าเรือเกาะสมุย ประมาณ 2 ไมล์ทะเล มีผู้รอดชีวิต 11 คน เสียชีวิต 5 ราย จะเริ่มกู้ต้นเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนขึ้นอยู่สภาพอากาศ ผลการสำรวจใต้น้ำพบเรือราชา 4 จมในสภาพคว่ำหน้าตะแคงขวา ยานพาหนะทั้ง 7 รายการยังอยู่(รถบรรทุกขยะ 3 คัน รถกระบะ 1 คัน รถจักรยานยนต์ 3 คัน)ขยะบางส่วนยังอยู่ในกระบะรถพ่วง บางส่วนลอยออกมาแต่ยังติดอยู่ในเรือ โดยจะนำขยะที่ลอยอยู่ในระวางเรือ 14 ลูกออกก่อนแล้วกู้รถบรรทุกขยะ 3 คันกับพ่วงบรรทุกขึ้นครบทั้ง 6 พ่วง จึงกู้เรือราชา 4 ขึ้นนำทั้งหมดไปส่งที่ท่าเรือดอนสัก

นายอภิชาติ ชโยภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯได้ว่าจ้างบริษัท เอ็ม.เอส.เซอวิส จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญในการกู้เรือเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งก่อนการกู้เรือจะต้องส่งแผนให้ทางจังหวัด สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคเกาะสมุย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ทางบริษัทฯเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายครั้งนี้ โดยทีมประดาน้ำที่บริษัทฯว่าจ้างได้พบผู้สูญหาย 2 รายสุดท้ายนำส่งให้ญาติและครอบครัวไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ต้องแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด หรืออยากให้เกิดขึ้น เชื่อว่าหากกู้เรือขึ้นมาได้ จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวสมุยได้อย่างแน่นอน

ด้านนายวิโรจ กุลวิโรตตมะ ประธนกลุ่มบริษัท เอ็ม.เอส.เซอร์วิส กล่าวว่า จากข้อมูลของทีมประดาน้ำสำรวจที่ได้มาวิเคราะห์ พบว่า เรือมีลักษณะคว่ำหน้าตะแคงขวา ได้เตรียมแผนกู้เรือจะเริ่มจากนักประดาน้ำติดตาข่ายรถพ่วงเพื่อกันสิ่งของหลุดออกมาแล้วใช้เครนยก 2 ตัว ขนาด 600 ตันและ 200 ตัน ใช้สลิงต่อยกเรือเพื่อพลิกให้เรือเข้าสู่แนวตั้งแล้วรัดตาข่ายรถบรรทุกก่อนปลดลูกพ่วง(กระบะบรรทุกพ่วง)ออกจากแม่(รถบรรทุก) ทยอยยกพ่วงขึ้นเรือจนครบทั้ง 6 พ่วง และทำการใช้อุปกรณ์การยก(Lifting Gear)ยกเรือขึ้นสู่ระดับผิวน้ำ สูบน้ำออกและดำน้ำสำรวจสภาพท้องเรือและกำลังลอยของเรืออีกครั้งก่อนลากเรือเข้าฝั่ง

ข่าวแจ้งว่า เรือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการกู้ ประกอบด้วย เรือเครน ขนาด 200 ตันกับ 600 ตัน เรือทัก ขนาด 2,200 แรงม้ากับ 500 แรงม้า ทีมงานนักประดาน้ำ ชุดอุปกรณ์การยก ตาข่ายคลุมกระบะรถพ่วง ส่วนชุดเก็บขยะและน้ำมันมีเรืออวนลากคู่ ความยาวตาข่าย 100 เมตร ลึก 3 เมตร เรือช้อนขยะ 2 ลำ เรือรับขยะ บูมกักน้ำมัน ยาว 200 เมตร น้ำยาขจัดคราบน้ำมัน แผ่นซับน้ำมัน ตาข่ายคลุมปากระวางหัวเรือและท้ายเรือ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image