ยางรายย่อยเมืองคอนยื่นปลดจนท. 3 องค์กร แก้ปัญหาล้มเหลว

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมชาวสวนยางรายย่อย เปิดเผยว่า วันที่ 4กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 11.00 น. ชาวสวนยางรายย่อยทุกคนจะรวมตัวกันที่บริเวณหน้าที่ทำการ กยท.นครฯ2 (สกย.ทุ่งสง) อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อร่วมแถลงการณ์สรุปปัญหาและยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นทางออก ทั้งในเรื่องโครงการสร้างความเข้มแข็ง ไร่ละ 1,500 บาท ที่ยังไม่ถึงมือเกษตรกรส่วนใหญ่และโครงการซื้อยางจากเกษตรกรเพื่อดูดซับปริมาณ 100,000 ตัน ที่เกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อย ไม่มีโอกาสเข้าถึง

นายมนัสกล่าว ปัญหาต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ จากบทสรุปในการลงพื้นที่ของผู้แทนเกษตรกร และติดตามการดำเนินการของผู้รับผิดชอบโครงการ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ กยท. (บางคน) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานหลัก สรุปคือ เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนในการสั่งการขาดวิสัยทัศน์ ขาดความรับผิดชอบ ไร้จิตสำนึกในความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มีจินตนาการในการจัดการ แบ่งพวกเลือกฝ่าย ไม่ยอมรับฟังการสะท้อนปัญหาจากบริบทของวิถีชีวิตชาวสวนยางรายย่อย ไม่ยึดหลักทำตามกรอบเวลาของฝ่ายนโยบาย

“ ไม่ได้ให้และเห็นความสำคัญของเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของเงินภาษี cess อย่างจริงใจ ขาดหลักจริยธรรมและจิตวิทยาในการประสานงานมวลชน และหลายๆ ปัญหาส่วนใหญ่ ขาดภาวะวิสัยของความเป็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องให้บริการโดยไม่เลือกปฏิบัติ จึงก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งแก่เกษตรกร และหน่วยงานราชการโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ และการยางแห่งประเทศไทย” นายมนัสกล่าว

นายมนัสกล่าว จากผลสรุปปัญหาทั้งหมด ทาง สคย.จึงขอยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ และผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ กยท. ดังนี้ 1) ขอให้ปลดนายไสว นารีพล พ้นจากหน้าที่ ผช.ผอ.สกย.เขต 2นครศรีธรรมราชโดยด่วน  2) ขอให้ปลดนายเชาว์ ทรงอาวุธ พ้นจากหน้าที่ ปฏิบัติการผู้ว่าการยางฯ 3) ขอให้ รมต.ผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.การยาง ใช้อำนาจตาม มาตรา 5, มาตรา 17, มาตรา 74 และมาตรา 75 หรือโดยอำนาจนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 44 ให้มีผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยโดยเร็ว ภายในวันที่ 15 ก.พ. 2559ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเจตนารมณ์ในพระราชบัญญัติการยาง ฉบับ พ.ศ. 2558

Advertisement

“ เราจะอ่านแถลงการณ์แล้วเสร็จในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ แล้วจะส่งหนังสือตามไป พร้อมรายชื่อของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยที่ได้ร่วมลงชื่อ จากนั้นเป็นเรื่องของทางกระทรวงเกษตรฯแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในเมื่อเราเสนอทางเลือกและทางออกไว้แล้ว ” นายมนัสกล่าว

201602031030207-20041020143405

นายไพโรจน์ ฤกษ์ดี ตัวแทนชาวสวนยางรายย่อย กล่าวว่า นับตั้งแต่ได้มีการขับเคลื่อนปัญหาราคายางพาราตกต่ำสู่การแก้ไขของรัฐบาลเฉพาะกิจมาเป็นระยะ ซึ่งเมื่อมีการตอบสนองจากภาครัฐแล้ว เคยตั้งคำถามกันหรือไม่ว่าหลายโครงการทำไมล้มเหลว หรือที่เกษตรกรเรียกร้องแล้วสุดท้ายเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการมูลภัณฑ์กันชน หรือเป็นที่ให้เข้าใจว่าซื้อสะสมไว้เมื่อมีราคาต่ำ และนำออกขายเมื่อของนั้นมีราคาสูงเกินควร เพื่อรักษาระดับราคาของนั้นให้มีเสถียรภาพแต่ท้ายที่สุดแล้วเกษตรกรกลับเข้าไม่ถึง และต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล หรือแม้แต่ที่รัฐบาลกำลังกระทำอยู่ขณะนี้คือโครงการซื้อนำจำนวนหนึ่งแสนตัน โดยทั้งสองโครงการมีความแตกต่างที่การเรียกขานแต่มีความเหมือนกันที่ 1) เป็นการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพื่อลดกระแสการต่อต้านการปฏิรูปประเทศ 2) ทั้งสองโครงการไม่สามารถตอบโจทย์คำถามที่ตรงตามความหมาย ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งองคาพยพได้ 3) ต้นทางของโครงการทำท่าว่าจะส่งผลดี แต่สุดท้ายแล้ว กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์กลับไม่ใช่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งองคาพยพ (เจ้าของสวน คนกรีด ผู้อ้างอิงรายได้จากเกษตรกร) ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนที่เห็นและเป็นอยู่

Advertisement

“ จากการส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์ การลงมาตรวจจุดรับซื้อของตัวแทนจากภาครัฐ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานีแล้ว เห็นว่าปัญหาของความเหมือนกันในการแก้ไขปัญหา ล้านเกิดจากกระบวนการและวิธีการ เริ่มจากต้นทางคิดที่ไม่มีการรับฟังพี่น้องเกษตรกรโดยตรง สู่ระบบสั่งการที่อาจได้รับข้อมูลเท็จหรือปรุงแต่งให้น่าชม และการกีดกันไม่ให้ภาคเกษตรกรแสดงความคิดเห็น ปัญหาทั้งหมดหากเปรียบเทียบกับประเภทของกฎหมายเรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากวิธีสบัญญัติ ดังนั้นหากรัฐบาลจะแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรได้ ต้องมีการนำวิธีสบัญญัติมาใช้ หรือเจาะลึกตรงไปที่กระบวนการและวิธีการของการแก้ไขปัญหา และต้องตระหนักอยู่เสมอว่า คนคิดไม่ใช่ผู้ที่เดือดร้อนโดยตรง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ และว่าพวกเรา จะติดตามการทำงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นระยะ เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงต่อความต้องการต่อไป” นายไพโรจน์กล่าว

ส่วนบรรยากาศการซื้อขายยางพาราหน้าสวนที่ถึงมือเกษตรกร เช้าวันนี้ น้ำยางดิบ กก.ละ  32-33 บาท เศษยาง กก.ละ 15 บาท  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image