ตรังน่าห่วง! ทุบสถิติยอดติดเชื้อโควิดพุ่ง 44 ราย ด้าน อบจ.ทุ่ม 80 ล้านซื้อวัคซีน แต่มหาดไทยยังไม่ปลดล็อก

ตรังน่าห่วง! ทุบสถิติยอดติดเชื้อโควิดพุ่ง 44 ราย – อบจ.ตรังทุ่ม 80 ล้านซื้อวัคซีนฉีดให้ชาวตรัง แต่มหาดไทยยังไม่ปลดล็อก

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์แถลงข่าวบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศบค.) จ.ตรัง ห้องลิบง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.ตรัง

นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.ตรัง ในฐานะโฆษก ศบค.ตรัง พร้อมด้วย แพทย์หญิงทิพย์ลดา บุญชัย นายแพทย์ชำนาญการ รพ.ตรัง ในฐานะรองโฆษก ศบค.ตรัง ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน จ.ตรัง โดยวันนี้ จ.ตรัง มีผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 44 ราย รวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 425 ราย เป็นหญิง 22 ราย เป็นชาย 22 ราย มีการรักษาหายเพิ่ม 4 ราย รวมการรักษาหาย 283 ราย

นพ.ตุลกานต์กล่าวว่า โดยผู้ติดเชื้อแบ่งเป็นในพื้นที่ อำเภอย่านตาขาว 14 ราย อำเภอเมือง 16 ราย อำเภอกันตัง 8 ราย อำเภอปะเหลียน 2 ราย อำเภอวังวิเศษ 2 ราย และอำเภอห้วยยอด 2 ราย ในส่วนของการสรุปกลุ่มการระบาดในพื้นที่จังหวัดตรังวันนี้ แบ่งเป็น กลุ่มคลัสเตอร์เขาวิเศษ 3 ราย คลัสเตอร์ครอบครัวหนองตรุด 3 ราย คลัสเตอร์ผู้คัดกรองก่อนเข้าเรือนจำ 8 ราย คลัสเตอร์ร้านภาสินี 10 ราย คลัสเตอร์โรงงานถุงมือ 17 ราย คลัสเตอร์ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงสูง 2 ราย คลัสเตอร์ผู้ที่เฝ้าระวังก่อนการผ่าตัด 1 ราย ในส่วนของผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 4 ราย รวมมีผู้ป่วยรักษาหาย 283 ราย

นพ.ตุลกานต์กล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์โรงงานได้มีมาตรการของจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตรังได้ให้การช่วยเหลือทางโรงงาน โดยหากมีผู้ป่วยจากโรงงานก็จะรับเข้าสู่ รพ.สนาม และเข้าระบบรักษาตามปกติ มีการประกาศปิดโรงงานจนกว่าสถานการณ์ปกติ ในส่วนที่ผู้ต้องกักกันทางโรงงานจะรับผิดชอบมีส่วนร่วมในการดูแลพนักงาน 1,579 คน โดยในการกักกันตัวจะมี 4 ส่วน คือ ส่วนแรกในพื้นที่โรงงานมีบ้านพักจุประมาณ 500-600 คน เป็นสถานกักกันสำหรับผู้ที่ตรวจพบเป็นลบ ส่วนที่ 2 ภายในโรงงาน อาทิ โกดัง หรือพื้นที่โรงอาหาร พื้นที่สำนักงาน จะใช้เป็นสถานที่กักกันสำหรับผู้ที่ตรวจพบเป็นลบ ประมาณ 300 คน ส่วนที่ 3 จะใช้ในโรงแรมอีโค่อินน์และโรงแรมวัฒนาพาร์ค เป็นสถานที่กักกันสำหรับผู้ที่ตรวจพบเป็นลบ เพราะฉะนั้นพื้นที่ทั้งหมดที่จังหวัดดูแลสามารถรองรับผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงงานถุงมือได้ คนที่ทำงานในโรงงานถุงมือทั้งสิ้น 1,579 คน เป็นชาวเมียนมา 291 คน เป็นคนงานชาวไทยที่อยู่ต่างจังหวัด 208 คน ที่เหลือ 1,082 คน เป็นชาวจังหวัดตรังที่กระจายอยู่ในอำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอเมืองตรัง

Advertisement

นพ.ตุลกานต์กล่าวว่า ในส่วนของการจองฉีดวัคซีนใน จ.ตรัง มีประชาชนลงทะเบียนไปแล้ว จำนวน 132,555 ราย ในส่วนของการลงทะเบียนเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนนั้นสามารถลงทะเบียนได้ใน 3 ช่องทาง คือ 1.ลงทะเบียนผ่านทางองค์กร หรือ อสม. 2.ลงทะเบียนผ่านทางโรงพยาบาลในพื้นที่ 3.ลงทะเบียนได้ที่จุดบริการฉีดวัคซีน พร้อมยืนยันว่าเชื้อโควิด -19 ที่ระบาดในพื้นที่จังหวัดตรังยังคงเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษยังไม่พบการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อื่น

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.ตรัง ได้ร่วมกับทางสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ตรัง องค์การบริหารส่วน จ.ตรัง ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตรัง ได้มีการทำหนังสือขอจัดซื้อวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อจัดสรรวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม โดยทางองค์การบริหารส่วน จ.ตรัง (อบจ.) สนับสนุนงบประมาณ 80 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกันยังคงติดในส่วนกฎระเบียบกระทรวง ที่ไม่ให้จัดซื้อวัคซีน โดยทางกระทรวงมหาดไทยจะต้องอนุญาต หรือปลดล็อกกฎระเบียบ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนได้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าจะมีวัคซีนพร้อมหรือเพียงพอต่อการซื้อหรือไม่ หากมีการปลอดล็อกกฎระเบียบกระทรวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image