กลุ่มหนุน-ค้าน ‘อัคราฯ’ ทำเหมืองแร่ทองคำ ยื่นหนังสือ กมธ.ป.ป.ช. หวังฟังทุกด้าน

ประจันหน้า ระหว่างกลุ่มคัดค้าน-กลุ่มผู้สนับสนุนเปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ขณ กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าอำเภอทับคล้อ จ.พิจิตร กลุ่มผู้คัดค้านการเปิดเหมืองทองและกลุ่มหนุนการเปิดเหมืองแร่ทองคำกว่า 100 คน ต่างทำหนังสือมายื่นต่อนายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายหลังชาวบ้านพื้นที่รอบเหมืองทอง ทั้ง อ.ทับคล้อ และ อ.วังโปร่ง 29 หมู่บ้าน อ้างว่าได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลได้รับการต่ออนุญาตใบประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำจำนวน 4 แปลง เป็นระยะเวลา 10 ปี และต่อใบอนุญาตโรงงานโลหกรรมอีก 5 ปี

ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนให้เปิดเหมืองแร่ทองคำระบุว่า ชาวบ้านอ้างว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีประชาชนได้รับผลประโยชน์ และมีรายได้จากการทำงานในเหมือง

นายจารึก พร้อมคณะ กมธ.ได้รับหนังสือทั้ง 2 ฝ่าย จากนั้นลงพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงตรวจสอบข้อร้องเรียนจากชาวบ้านพื้นที่โดยรอบ จำนวน 29 หมู่บ้าน รวมทั้งหาข้อเท็จจริงจากผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลประกอบการพิจารณาข้อร้องเรียนในการเปิดเหมืองแร่ทองคำที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้

Advertisement

นายจารึกกล่าวว่า การมาลงพื้นที่วันนี้เพราะจะมารับฟังปัญหาอย่างรอบด้าน ทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุน เพื่อนำปัญหาต่างๆ กลับไปสรุปผลและพิจารณาจต่อไป

นายชัยพร สุดสิน ประธานชมรมคนรักเหมืองทอง กล่าวว่า ตนเอง พร้อมด้วยอดีตพนักงานเหมืองทอง รวมถึงชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้าอยู่ในพื้นที่กว่า 200 คน มีข้อห่วงกังวลเรื่องการให้ข้อมูลจากกลุ่มบุคคลนอกพื้นที่ที่อาจจะมีวาระอื่นแอบแฝงหรือไม่ โดยอ้างพิษภัยของการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ทั้งๆ ที่อยู่ห่างไกลเหมือง ตนกล้ายืนยันว่าการประกอบการเหมืองแร่ทองคำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งสุขภาพของประชาชนแต่อย่างใด มิเช่นนั้นพวกคนในพื้นที่จะเป็นผู้ต่อต้านเอง

Advertisement

นายชัยพรกล่าวว่า การปิดเหมืองส่งผลกระทบด้านคุณภาพชีวิตกับชาวบ้าน รวมถึงร้านค้าในพื้นที่ขาดรายได้ ตลอดจนกลุ่มพนักงานกว่าพันคนก็ได้รับความเดือดร้อนตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนตามมา

ด้าน น.ส.พริมสินี สินทรธรรมทัช กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือต่อ กมธ.เพื่อให้มีการตรวจสอบเหมืองแร่ทองคำ ว่าได้มีการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชาวบ้าน ตั้งแต่ตอนที่เหมืองแร่ทองคำยังเปิดอยู่หรือยัง เหตุใดเหมืองแร่ทองคำจึงได้รับการต่ออนุญาติใบประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ จำนวน 4 แปลง เป็นระยะเวลา 10 ปี และต่อใบอนุญาตโรงงานโลหกรรมอีก 5 ปีได้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจะเปิดเหมืองแร่ทองคำ เพราะผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนรอบๆ เหมืองแร่ทองคำเยอะมาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image