นพ.ธีระวัฒน์ ค้านถอด ‘โควิด’ ออกจาก ‘การแพทย์ฉุกเฉิน’ ลั่นยังไม่ถึงเวลาประกาศ ‘โรคประจำถิ่น’

นพ.ธีระวัฒน์ ค้านถอด ‘โควิด’ ออกจาก ‘การแพทย์ฉุกเฉิน’ ลั่นยังไม่ถึงเวลาประกาศ ‘โรคประจำถิ่น’

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า โควิดเป็นโรคประจำถิ่นถอดออกจากการแพทย์ฉุกเฉิน รักษาตนเอง ตรวจเอง และต่อไปประกาศตัวเลขสัปดาห์ละครั้ง

ข้อสังเกตวัคซีนโควิดที่ออกมาเป็นการใช้ในสภาวะฉุกเฉินโดยมีการพัฒนารวดเร็วมาก เทียบกับวัคซีนต่างๆ ที่ผ่านมา

ถึงแม้จะป้องกันได้ระดับหนึ่งแต่ก็มีผลแทรกซ้อน ดังที่ได้พยายามให้มีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังซึ่งมีความปลอดภัยกว่ามาก

ในเมื่อเป็นการฉีดป้องกันโรคประจำถิ่น เมื่อเกิดผลข้างเคียงถึงชีวิตหรือเจ็บป่วยใดๆ จะสามารถเรียกค่าชดเชยจาก สปสช.ได้หรือไม่ ดังที่มีมาก่อนและผ่านมามากกว่า 10,000 ราย ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานของ สปสช.

Advertisement

อนึ่งการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ที่มีความปลอดภัยกว่านั้นไม่ใช่เพราะปริมาณน้อยกว่าอย่างเดียว แต่มีกลไกคนละประเภทกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

นอกจากนี้ นพ.ธีระวัฒน์ยังโพสต์ด้วยว่า ประกาศเป็นโควิดเฉยๆ ได้มั้ย?

Advertisement

การประกาศเป็นโควิดเฉยๆ เหมือนอย่างที่พูดว่า จะกลายเป็นเชื้อประจำถิ่น ถ้าพิจารณาตามกฎเกณฑ์จะยังไม่มีทางเป็นไปได้เนื่องจากการเป็นโรคประจำถิ่นหมายความว่าโรคนั้นสามารถทราบลักษณะความประพฤติ ปฏิบัติตัวได้อย่างชัดเจนว่าจะมาในเดือนใดฤดูกาลใด กระทบคนจำนวนเท่าใดและจะเกิดเจ็บป่วยหนักเสียชีวิตในระดับใด

พูดง่ายๆ ก็คือ รับมืออยู่หรือเอาอยู่ได้ชัดๆ

แต่สถานการณ์ของโควิดขณะนี้ที่มีโอมิครอนพี่และจะทดแทนด้วยโอมิครอนน้อง ในระยะเวลาอันใกล้

เพียงแต่ทราบว่าความรุนแรงน้อยกว่า แม้ว่าจะติดได้รวดเร็วกว่ามากก็ตาม

เหตุผลที่รุนแรงน้อยกว่า อธิบายได้จากในพื้นที่หรือในประเทศต่างๆ นั้น ต่างเคยติดเชื้อมาก่อนถ้วนหน้า หรือได้รับวัคซีนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน้อยสามเข็มในระยะเวลาไม่นานนัก

และอีกประการสำคัญก็คือสัดส่วนของผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวไม่มากนักที่จะตกเป็นเหยื่ออาการหนักของโอมิครอน

หรือถ้าพูดอย่างคนในประเทศนั้นเองแดกดันว่า คนเปราะบางตายไปหมดแล้วตั้งแต่ระลอกที่หนึ่ง สองและสาม เช่น ในประเทศอังกฤษ จนกระทั่งสามารถประกาศอิสรภาพได้ จะไปไหนเปิดหน้ากากเฮฮาปาร์ตี้ได้ไม่ต้องมีการตรวจยืนยันการฉีดวัคซีนหรือมีการตรวจเอทีเคด้วยซ้ำ

การพิจารณาว่า จะเป็นโควิดเฉยๆ อาจจะดูได้จาก
หนึ่ง ตัวเลขคนติดเชื้ออยู่ในขาลง
สอง ตัวเลขคนที่มีอาการจะต้องเข้าโรงพยาบาลรวมทั้งที่มีอาการหนักอยู่ในจำนวนคงที่และมีแนวโน้มว่าลดลงโดยไม่เป็นภาระต่อระบบสาธารณสุข

แต่ในประเทศสวีเดนตามข่าวดูเหมือนว่ายังไม่ครบทั้งสองข้อนี้ แต่เนื่องจากต้องการประหยัดงบประมาณ โดยที่ใครอยากตรวจต้องออกเงินเอง ใครเจ็บป่วยต้องรับผิดชอบตนเอง นัยว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาหรือ หมดสตางค์แล้ว

ประเทศไทยเริ่มมีประกาศติดตามมาตั้งแต่จะยกเลิกระบบการแพทย์ฉุกเฉินโควิดและกลายเป็นโรคที่รับผิดชอบตนเองและจนกระทั่งจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่มีการประกาศตัวเลขอีกต่อไป และใครจะเข้าจะออกประเทศหรือสถานบริการ สถานสาธารณะ จะเป็นอิสระเหมือนเมื่อก่อนปี 2563

ความเห็นนี้ไม่ได้คัดค้านหรือสนับสนุน

แต่น่าจะเป็นรูปแบบของการผสมผสานและยืดหยุ่นโดยดูตามสถานการณ์เป็นระยะและต้องไม่ลืมว่าโควิดไม่น่าจะจบที่โอมิครอน

โดยที่จุดกำเนิดของโอมิครอนน่าจะมาจากไวรัสอู่ฮั่นจากคนไปหนู จนมีวิวัฒนาการและปล่อยจากหนูมาคน

โดยที่ต้องไม่ลืมว่า ความพยายามเพาะบ่มตนเองในสัตว์ประเภทอื่นที่ส่งผ่านมาจากคนมีเนิ่นนานตั้งแต่เมษายน 2563 ในเสือ แมว หมา ตัวมิ้งค์ ตลอดจนกระทั่งกวางในอเมริกา ขึ้นอยู่กับว่าสัตว์ชนิดใดจะเอื้ออำนวยให้มีการพัฒนาการสูงส่งและกลับมาเป็นตัวร้ายเข้ามนุษย์ที่ครบถ้วนกระบวนความทั้งติดง่าย แพร่เร็ว หลบหลีกภูมิคุ้มกัน เพื่อก่อโรครุนแรงไปพร้อมกับจนกระทั่งมีการแพร่ทางอากาศโดยสมบูรณ์

สรุปว่านาทีนี้แล้วแต่กรรม หรือตัวใครตัวมันหรือเปล่า?

หมายเหตุ
และแล้วการควบรวมผสมระหว่างเดลต้าและโอมิครอนก็เกิดขึ้นจริงในประเทศอังกฤษ จากที่เคยตั้งข้อสงสัยว่ารายงานจากไซปรัสนั้นเป็นความผิดพลาดในห้องปฏิบัติการ

ทั้งนี้ รอเวลาว่า เดลต้า และโอมิครอน ที่มีการพัฒนากันคนละสาย แต่มาอยู่ด้วยกันเป็นไฮบริด จะแสดงศักยภาพได้เก่งเท่าใดในแง่ติดง่าย แพร่ง่ายและรุนแรงมากขึ้นหรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image