‘ป.ป.ช.บึงกาฬ’ ลุยสอบพิรุธ จนท.ภูลังกา ปล่อยคนขึ้นเกินกำหนด วันเสาร์ห้า

“ป.ป.ช.บึงกาฬ” ลงพื้นที่ตรวจสอบ ปมจนท. ปล่อยนักท่องเที่ยวขึ้นอุทยานภูลังกาเกินจำนวนกำหนด พบพิรุธ บอก ล้นวันเสาร์ห้าวันแรงพอดี แรงจนต้องมีถอดไกด์

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายภูเทพ ทวีโชติธากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานป.ป.ช. แถลงผลการขับเคลื่อนศูนย์ป้อมปรามการทุจริตแห่งชาติ(CDC) ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์ CDC สำนักงานป.ป.ช. เพื่อให้เข้าไปดำเนินการป้องกัน ป้องปรามการทุจริตในพื้นที่ต่างๆ ที่สื่อมวลชนให้ความสนใจและมีผลกระทบกับรัฐและประชาชน โดยมีเรื่องที่น่าสนใจคือ กรณีที่มีการร้องเรียนว่า มีการปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในถ้ำนาคาเกินกว่าจำนวนที่อุทยานกำหนด ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนอาจสงสัยว่า ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ลงไปตรวจเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ถือว่า มีอำนาจเนื่องจากถ้ำนาคาอยู่ในพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบและมีการเก็บค่าเข้าชม ค่าธรรมเนียมต่างๆซึ่งต้องเก็บเข้าเป็นงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นหากมีการกระทำผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวก็อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป.ป.ช. และ สำนักงานป.ป.ช. ที่จะลงไปตรวจสอบเบื้องต้นได้

ในเรื่องนี้มีการเผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มีการพาดหัวข่าวว่า มีการแฉเรียกรับเงิน นักท่องเที่ยวแห่ทะลักถ้ำนาคาในวันเสาร์ห้า ซึ่งเป็นวันแรง และสุดท้ายก็แรงจริงๆ ที่มีการสั่งถอดไกด์และย้ายเจ้าหน้าที่ ของอุทยานออกทั้งหมด

ในเรื่องนี้ทางป.ป.ช. จังหวัดบึงกาฬได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 พร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของจังหวัดบึงกาฬ เข้าตรวจสอบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา พบว่า จากกรณีที่เป็นข่าวในกระแสสังคมว่ามีนักท่องเที่ยว ขึ้นไปแล้วไปติดค้างอยู่บริเวณแหล่งที่ท่องเที่ยวดังกล่าวจนมืดค่ำ พบว่า น่าจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเกินกว่า ระบบการจองคิวที่จำกัดไว้ 500 คนต่อวัน ในเรื่องนี้พิจารณาได้ว่า อาจจะเกิดความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ที่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเกินกว่าระบบจองคิว

ในการตรวจสอบพบว่า ทางอุทยานได้มีคำสั่งเปลี่ยนชุดเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่บริเวณถ้ำนาคา และมีการกำชับให้มีการจัดการโดย ยึดเอาระบบจองคิวในแอพพลิเคชั่นออนไลน์ และมีการกำชับให้ขึ้นลงตามช่วงระยะเวลาอย่างเคร่งครัดไม่ให้มีการปล่อยนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีการจองคิวสามารถนัดคิวขึ้นไปได้ทั้งนี้ทางจังหวัดบึงกาฬ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้พิจารณานำมาตรการต่างๆ มาเพื่ออำนวยความสะดวกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และดำเนินการประชุมหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือตามแนวทางการแก้ไขดังกล่าว ทั้งนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทราบเรื่องแล้ว

Advertisement

มีข้อน่าสังเกตว่า ก่อนที่ทางป.ป.ช. บึงกาฬจะลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2565 ก็ปรากฏว่าในวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2565 ทางอุทยานมีการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยย้ายออกทั้งหมดและส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหม่เข้าไปดำเนินการซึ่งในเรื่องของการจองคิวในระบบการเข้าชมอุทยานต่างๆ ทางป.ป.ช.เอง เคยยื่นมาตรการเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีแล้วว่า การจองคิวระบบท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ หากใช้ระบบที่สามารถกำกับติดตามได้ อย่างมีระบบจองคิวผ่านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ก็จะสามารถตรวจสอบได้ สามารถช่วยแก้ปัญหากรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการจัดลำดับคิวด้วยตัวเอง สร้างความโปร่งใสให้พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ไม่ต้องมีการลัดคิวอย่างที่เป็นข่าว สำหรับเรื่องนี้หากมีความคืบหน้าประการใด จะได้แจ้งให้ประชาชนทราบอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image