น้ำท่วมอุบลฯเริ่มคลี่คลาย เข้าโหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจ เคาะงบ 500 ล้าน เยียวยาชาวบ้าน

แฟ้มภาพ

น้ำท่วมอุบลฯเข้าสู่โหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาชดเชยความเดือดร้อนของประชาชน

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้สถานการณ์น้ำท่วม จ.อุบลราชธานีในภาพรวมที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านส่วนหนึ่งกลับไปดูแลบ้านที่ถูกน้ำท่วม เริ่มเข้าสู่ช่วงการพื้นฟูซ่อมแซม จังหวัดจึงเร่งสำรวจความเสียหาย

ส่วนบ้านกุดชุม หมู่ 1 ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จำนวน 180 ครัวเรือน ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมเข้าถึงลำบาก ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงถุงยังชีพและกล่องของใช้ โดยหย่อนให้กับเจ้าหน้าที่รอรับบนเรือ

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า แนวทางปฏิบัติหลังน้ำท่วมคลี่คลาย เบื้องต้น จังหวัดเตรียมงบประมาณไว้กว่า 500 ล้านบาท จะเร่งสำรวจความเสียหายเยียวยาชดเชยความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ชดเชยความเสียหายไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ได้แก่ นาข้าวไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผักไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท การประมงให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติที่สัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ดังนี้ ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่เลี้ยงในบ่อดิน สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร ส่วนค่าซ่อมแซมบ้านเรือนไม่เกินหลังละ 49,500 บาท

Advertisement

นายชลธีกล่าวว่า เบื้องต้นกระทรวงมหาดไทยได้เร่งประชุมสำรวจลุ่มน้ำ ผังน้ำชุมชน ตลอดจนห้วย หนอง คลอง บึง เพื่อนำฐานข้อมูลมาสรุปหาแผนพัฒนาในเชิงระบบ บริหารจัดการป้องกันภัยระยะยาว และจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า น้ำท่วมอุบลฯครั้งนี้คาดว่าจะเสียหายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งคาดว่าจะได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ สำหรับความเสียหายของภาคเอกชนอาจต้องพูดคุยกับธนาคารถึงการฟื้นธุรกิจและขอเงื่อนไขพิเศษจากธนาคาร เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยและอื่นๆ อีกหลายกรณี

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังน้ำท่วมคลี่คลาย วัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐ หิน ทรายจะมีความต้องการสูงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังคา ประตู ก๊อกน้ำ รวมถึงโถสุขภัณฑ์ โดยวัสดุเหล่านี้ยังไม่มีการปรับราคา ยกเว้นเหล็กเส้นและปูนที่มักมีราคาสูงขึ้น ร้านค้าจะมีการทยอยปรับราคา ขณะที่กำลังซื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในวงเงินเยียวยาหลังน้ำท่วม

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image