ปธ.สภาวัฒนธรรมร้อยเอ็ดเบรกวิวาทะ ย้อนที่มาคำขวัญจว. ชี้ บ้านเมืองไม่อาเพศ 101 หรือ 11 ประตูก็ไม่สำคัญ

ดร. สาธิต กฤตลักษณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม สืบเนื่องกรณี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญ รสจันทร์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เผยแพร่แถลงการณ์ ในฐานะผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ด เรียกร้องให้หน่วยงานราชการยุติการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดร้อยเอ็ด กรณี ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ซึ่งถูกหักล้างไปนานกว่า 10 ปีด้วยข้อมูลทางวิชาการของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากร แต่กลับยังคงมีการใช้ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจนั้น (อ่านข่าว อ.ราชภัฏร้อยเอ็ด จี้หน่วยงานรัฐเลิกยัดเยียด-ผลิตซ้้ำ ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ใช้ภาษีเผยแพร่ข้อมูลไร้หลักฐานรองรับ)

ดร. สาธิต กฤตลักษณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าว มีการถกเถียงกัน โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างคำว่าร้อยเอ็ดประตู กับ 11 ประตู ซึ่งเป็นคำขวัญของจังหวัดร้อยเอ็ดที่มีการประกวดคำขวัญขึ้นใหม่  ว่า ’11 ประตูเมืองงาม  เรืองนามพระสูงใหญ่  ผ้าไหมสาเกต  บุญผะเหวดประเพณีมหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา  โลกลือชาข้าวหอมมะลิ’

อย่างไรก็ตาม ต่อมามีผู้โต้แย้งคำว่า 11 ประตูไม่เป็นความจริง แต่ต้องมี 101 ประตูจึงจะถูก โดยต่างฝ่ายต่างอ้างข้อมูลที่ตนค้นหามา กระทั่งใน พ.ศ.2555 นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดในขณะนั้น ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความชัดเจน

ดร.สาธิต กล่าวว่า ฝ่ายที่มีความเชื่อว่าร้อยเอ็ดน่าจะมี 101 ประตู อ้างว่าศึกษาจากคำจารึก และเอกสารใบลานดั้งเดิมของพระครูโพนเสม็ดหรือยาคูขี้หอม โดยเรียกร้องให้แก้ไขคำขวัญที่ไม่ถูกต้อง

Advertisement

ในขณะที่อีกฝ่ายที่เชื่อว่าร้อยเอ็ด มี 11 ประตู อ้างว่าพิจารณาจากแผนที่เมืองร้อยเอ็ดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ มีแผนที่เส้นทางออกจากใจกลางเมืองร้อยเอ็ด 11 เส้นทางอย่างชัดเจน รวมถึงอ้างว่า ในอดีตร้อยเอ็ดเป็นเมืองใหญ่ มีร่องรอยหลักฐานตั้งแต่สมัยทวาราวดี โดยปรากฏเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ อาทิ เมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย กล่าวโดยสรุปคือ เชื่อว่าร้อยเอ็ดมีเมืองบริวารอยู่ 11 หัวเมืองรายรอบ นอกจากนี้ ยังนำแผนที่ทหารมากล่าวอ้างว่า เมืองร้อยเอ็ดในอดีตมีทางเข้าออก 11 ทางจึงน่าจะเป็น 11 ประตู

จากนั้น ดร.สาธิต ยังกล่าวถึงประเด็นการอ้างเอกสารโบราณที่ว่า ปรากฏการเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดเป็นตัวเลข 101 ซึ่งอ้างกันว่า ในอักขรวิธีโบราณ ต้องอ่านเป็น สิบเอ็ด ไม่ใช่ ร้อยเอ็ด

อย่างไรก็ตาม ในเวทีเสวนาสืบค้นประวัติศาสตร์ในประเด็นดังกล่าวที่จัดขึ้นโดย นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี 2555 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีการสรุปหรือตัดสินว่า ฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด โดยที่ประชุมให้คงไว้ซึ่งข้อความเดิมในคำขวัญคือ 11 ประตู

Advertisement

ในตอท้าย ดร. สาธิต  กล่าวว่า ความสำคัญของเมืองร้อยเอ็ด ไม่ได้อยู่ที่ว่า มีร้อยเอ็ดประตู หรือสิบเอ็ดประตู แต่สิ่งที่น่าภูมิใจคือเมืองร้อยเอ็ดสืบทอดตำนานที่ดีงามมาจากเมืองใหญ่ที่มีเมืองบริวารหรือเป็นมณฑลใหญ่ตามตำนานสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 มาจนพัฒนาขึ้นเป็นจังหวัด

“คำขวัญที่มีคำว่า 11 ประตู เมื่อไม่ทำให้คนทุกข์ร้อน ไม่ทำให้เกิดเหตุอาเพศ ประชาชนอยู่ดี บ้านเมืองก็มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ เรื่องอื่นก็ไม่จำเป็น เพราะไม่ว่าจะเป็น 101 หรือ 11 ประตู เมื่อไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของผู้คน ของภูมิบ้านภูมิเมืองเลวร้าย ก็ควรที่จะใช้กันไป เพราะไม่ใช่สิ่งเสียหาย อยากให้ทุกคนหันกลับมาสมัครสมานสามัคคี ร่วมกันสร้างสิ่งดีๆให้กับเมืองร้อยเอ็ดของเราด้วยความภาคภูมิใจน่าจะดีกว่า” ดร.สาธิตฯกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image