นักวิชาการ ชี้ กระเช้าภูกระดึง ดีต่อเศรษฐกิจ แต่ห่วงจัดการขยะไม่ทัน หากคนเที่ยวล้น

เสียงสะท้อนของนักวิชาการ นักท่องเที่ยว หากมีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ตามที่คณะรัฐมนตรีได้จัดประชุมนอกสถานที่ จ.หนองบัวลำภู ในส่วนของประเด็นการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ได้มีการเสนอเข้าในการประชุม ครม. และคณะ ครม.ได้รับอนุมัติในหลักการทั้งหมดของโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง โดยให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมปัจจุบันอีกครั้ง และเป็นการปัดฝุ่นโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ก็มักจะมีกระแสทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

ผศ.ดร.วัลลภ ทาทอง ประธานสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ม.ราชภัฏเลย เผยว่า อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงสมบูรณ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศวิทยา ด้วยวิถีนักท่องเที่ยวที่จะมาภูกระดึง ความคาดหวังของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมีจิตใจในด้านอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อม และนักท่องเที่ยวที่จะมา ต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายพอสมควรถึงจะขึ้นได้ ทั้งในปัจจุบันและทั้งในอดีต ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ

ทั้งนี้ หากถ้ามีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ก็เป็นการพัฒนาประเทศ ที่ต้องปรับไปตามนโยบายของรัฐบาล และการเปลี่ยนแปลงการพัฒนา ที่จะเทียบเท่ากับต่างประเทศ หรือจะเทียบเท่าประเทศอื่นที่มีการสร้างกระเช้าอยู่แล้ว อย่างประเทศจีน เวียดนาม อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางระบบนิเวศ มีธรรมชาติ สัตว์ป่า ยังคงอุดมสมบูรณ์ผืนป่ายังคงเขียวขจีตลอดทั้งปี หากมีกระเช้าขึ้นภูกระดึง ก็จะเป็นข้อดีสร้างความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยว ผู้สูงอายุก็สามารถขึ้นไปชมธรรมชาติได้ ระบบเศรษฐกิจในตัวอำเภอ ตัวจังหวัดก็จะดีขึ้นจะเห็นผลได้อย่างชัดเจน

Advertisement

นอกจากนี้ หากมองระบบธรรมชาติ ระบบนิเวศของภูกระดึงในระบบโครงสร้าง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่แน่นอน เริ่มตั้งแต่การก่อสร้าง การทำฐานเสาของกระเช้า ธรรมชาติในจุดนั้นๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร และไม่อาจจะฟื้นฟูกลับมาได้ และความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงระบบของธรรมชาติ หากมีคนขึ้นจำนวนมากเกินสมรรถนะของธรรมชาติเกินที่จะรองรับได้ รวมทั้งของเสียที่จะเกิดมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาด้านบนภู ก็จะเกิดก่อกิจกรรมของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเช่นกัน ไปกินไปอยู่ไปใช้ของเสียอาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะน้ำเสีย ขยะ ซึ่งบนภูกระดึงไม่เหมาะกับการบำบัดของเสีย บนภูกระดึงยังคงมีสัตว์ป่า ธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งเหล่านี้หากมีแล้วจะมีการจัดการยังไง

“การมีกระเช้าสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่เคยอยู่แล้วจะปรับตัวยังไง ที่สิ่งแปลกปลอมโผล่ขึ้นทั้งสายเคเบิล สายไฟ ตอม่อ ทั้งช้างป่าและเหล่าสัตว์ป่าทั้งหลายที่อาศัยบนภูกระดึงจะปรับตัวยังไง ในเรื่องเหล่านี้ต้องมีการศึกษาในรอบด้าน เมื่อโครงสร้างของระบบนิเวศธรรมชาติมันเปลี่ยนไป ทุกอย่างรอบข้างต้องปรับตัวหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่รอบข้าง ทั้งสัตว์ ทุกอย่างต้องแลกมากับสิ่งที่จะเกิดขึ้น อย่างนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เยอะ เศรษฐกิจอาจจะดีขึ้นแต่ระบบนิเวศจะลดลง แต่เราต้องยอมรับสิ่งเหล่านี้ หากมีการสร้างกระเช้าขึ้น” ดร.วัลลภกล่าว

ด้าน นายธีรวัฒน์ สีหไตร นักท่องเที่ยวจากจังหวัดหนองคาย เผยอีกว่า ตนมาท่องเที่ยวมากับครอบครัว นำลูกๆ มาขึ้นภูกระดึง ในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่งมองว่า หากมีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มนต์เสน่ห์แบบนี้ที่พาครอบครัวเดินเท้า พูดคุยกันระหว่างทาง การพาครอบครัวมากางเต็นท์มันก็จะหายไป การเดินขึ้นเขาที่ได้มาผจญภัยร่วมกับเด็กๆ ลูกๆ มันได้บรรยากาศแบบเต็มที่ และไม่เหมือนที่อุทยานอื่นๆ ที่ขับรถขึ้นไปได้ มันก็จะเป็นแค่ที่กางเต็นท์เฉยๆ ไม่ได้สัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึกที่จะได้ผจญภัย กับครอบครัวกับคนที่รัก เพื่อนฝูง แม้จะเหนื่อยหน่อย แต่มันก็จะหายไปหากเมื่อนั่งพัก ประสบการณ์เหล่านี้หาซื้อไม่ได้ ตนก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง แต่หากจะสร้างกันจริงๆ ขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image