กระเช้าภูกระดึง ไทม์ไลน์ 41 ปี  เศรษฐกิจ หรือระบบนิเวศ จุดลงตัวคือตรงไหน

กระเช้าภูกระดึง ไทม์ไลน์ 41 ปี  เศรษฐกิจ หรือระบบนิเวศ จุดลงตัวคือตรงไหน

กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง สำหรับกระเช้าภูกระดึง ที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ใช้โอกาสการเดินทางไปประชุมครม.สัญจร ที่จ.หนองบัวลำภู ปัดฝุ่นขึ้นมาพิจารณาอีกรอบ

และได้รับคำยืนยันว่าได้อนุมัติเห็นชอบในหลักการ ภายใต้วงเงิน 28 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามถือเป็นเพียงก้าวแรก “อีกครั้ง” เท่านั้น เพราะหากจำกันได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่กระเช้าขึ้นภูกระดึงถูกหยิบยกมาพูดถึง ทั้งในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชน

Advertisement

ครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน!??

ว่าแล้ว มาย้อนไทม์ไลน์ที่ถือได้ว่าเป็นมหากาพย์ฉบับที่เขียนมาแล้ว 41 ปี ยังไม่มีตอนจบ

30 สิงหาคม 2525 : อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เสนอกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ให้พิจารณานำระบบขนส่งขึ้น-ลงอุทยานฯ โดยใช้ยานพาหนะซึ่งเดินทางโดยสายเคเบิลมาใช้

Advertisement

3 พฤษภาคม 2526 : วิจารณ์ วิทยศักดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงในขณะนั้น นำเสนอแนวคิดและรายละเอียดข้อมูลเบื้องต้น

11 ตุลาคม 2526 : คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติ ‘เห็นชอบในหลักการ’ แต่ให้ศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับความเหมาะสมทั้งในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและในด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

พ.ศ.2528 : คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และกำหนดเส้นทางไว้ 3 แนวทางเผื่อเลือก ได้แก่

1.เริ่มต้นจากบริเวณใกล้เคียงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานและสิ้นสุดที่บริเวณหลังแป

2.เริ่มต้นบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ในบริเวณพื้นที่ป่าธรรมชาติและยังไม่มีการก่อสร้างถนนเข้าถึงพื้นที่

3.เริ่มต้นบริเวณบ้านนาน้อย อ.ภูกระดึง จ.เลย สิ้นสุดบริเวณผาหมากดูก

ผลการศึกษาในครั้งนั้น มีข้อสรุปว่า ทางเลือกที่ 1 เหมาะสมที่สุด เพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสะดวกต่อการดูแลควบคุมของอุทยานฯ โดยเสนอแนะว่าการสร้างกระเช้าไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่งที่สมควรดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกวัยในการเดินทางขึ้น-ลงภูกระดึง สามารถใช้เป็นเครื่องมือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปพักแรมบนยอดภูกระดึงและแก้ปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยว ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและชีวภาพ รวมทั้งการขนถ่ายขยะมากำจัด และนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มองค์กรอนุรักษ์ภาคประชาชนและคนในท้องถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกหาบและผู้เสียผลประโยชน์จากการมีกระเช้าไฟฟ้า

พ.ศ.2541 : กรมป่าไม้ มอบหมายให้ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ จำกัด ดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดการด้านนันทนาการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยมีผลการศึกษาและกำหนดรูปแบบเบื้องต้นของกระเช้าไฟฟ้าและองค์ประกอบต่างๆ ที่เหมาะสมใน 3 เส้นทางเช่นกัน ได้แก่

1.เริ่มต้นบริเวณใกล้เคียงลานจอดรถสำรวจของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานไปสิ้นสุดบริเวณหลังแปใกล้เคียงทางเดินเท้าขึ้น-ลงภูกระดึง มีความยาวตามแนวลาดชันประมาณ 3,675 เมตร

2. เริ่มต้นบริเวณพื้นที่ป่าเบญจพรรณในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ด้านทิศตะวันตก ไปสิ้นสุดบริเวณทุ่งหญ้าใกล้เคียงที่เรียกว่า ‘คอกเมย’ มีความยาวตามแนวลาดชันประมาณ 4,175 เมตร

3. เริ่มต้นบริเวณป่าเบญจพรรณใกล้เคียงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติอีเลิศ ไปสิ้นสุดบริเวณทุ่งหญ้าบริเวณที่เรียกว่า ‘ช่องขอน’ มีความยาวตามแนวความลาดชันประมาณ 4,750 เมตร

ผลการศึกษาสรุปได้ว่า เส้นทางที่ 1 มีความเหมาะสมมากที่สุดเนื่องจากมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

สำหรับรูปแบบกระเช้าไฟฟ้าเป็นรูปแบบเก๋ง ลักษณะการทำงานใช้สายเคเบิลขึงระหว่างสถานีต้นทางและสถานีปลายทาง ผู้โดยสารไม่สามารถเปิด-ปิดประตูได้ด้วยตนเองจนกว่าจะถึงสถานีปลายทาง จะต้องก่อสร้างเสารองรับ 16 จุด ในพื้นที่การก่อสร้าง 5,850 ตารางเมตร หรือ 3.16 ไร่

26 ธันวาคม 2545 : คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัดเลย (กรอ.จังหวัดเลย) ประชุมหารือโดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาข้างต้น โดยคาดว่าการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวเฉลี่ยได้วันละ 20,000 คน หรือปีละ 7 ล้านคน

28 กันยายน 2548 : คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร สรุปผลการพิจารณาศึกษา โดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ เส้นทางก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงควรแยกออกจากทางเท้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางประเภทยังต้องการอนุรักษ์และหวงแหนเส้นทางเดิมอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการ ชี้ กระเช้าภูกระดึง ดีต่อเศรษฐกิจ แต่ห่วงจัดการขยะไม่ทัน หากคนเที่ยวล้น

นายอำเภอชี้ คนภูกระดึง 99% ต้องการกระเช้า คาดช่วยโกยเงินท่องเที่ยวปีละ 7 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ ยังเสนอว่า ต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอีก 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.ความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพดินและน้ำ

2.ปรับปรุงเส้นทางเดินเท้าควบคู่ไปกับการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า เช่น การปูหินบริเวณทางขึ้นภูกระดึงเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นทางเดินเท้าเกิดการขยายตัว

25 พฤศจิกายน 2553 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งให้อุทยานแห่งชาติภูกระดึงดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นข้อพิจารณาประกอบ คือ หากมีกระเช้าภูกระดึงจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวอำเภอภูเรือ เชียงคาน ด่านซ้ายและนาแห้วเพิ่มขึ้นด้วย โดยการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงจะแยกนักท่องเที่ยวเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการเดินขึ้นภูกระดึงกับกลุ่มผู้สูงอายุที่เดินไม่ไหวก็ให้ขึ้นกระเช้าไฟฟ้า

4 ตุลาคม 2554 ในการประชุมโดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวภูมิภาคในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภาเกี่ยวกับนโยบายการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม (EIA) เพราะภูกระดึงมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของไทย โดยวิเคราะห์ด้วยว่าแม้นักท่องเที่ยวจะขึ้นภูกระดึงด้วยกระเช้าไฟฟ้า หากไม่แข็งแรงจะเดินทางไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างไร เพราะมีระยะทางห่างไกลกันมาก ตั้งแต่ 2 กิโลเมตร 9 กิโลเมตร จนถึง 12 กิโลเมตร บนพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร

22 กุมภาพันธ์ 2555 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ โดยนายกฯ ปู ระบุว่า ‘ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจเรื่องนี้’

กุมภาพันธ์ 2559 ในรัฐบาลคสช. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า คณะรัฐมนตรี รับทราบผลการศึกษาโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ตามที่ครม.เคยมีมติให้ศึกษาเมื่อปี 2555 โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้จัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ นำโดย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท แกรนด์เทค จำกัด และบริษัท ไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด

โดยโครงการสร้างกระเช้าจะใช้งบประมาณ 633 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ปี ปีละกว่า 200 ล้านบาท

พล.อ.ธนะศักดิ์ ระบุในขณะนั้นว่าประชาชนในพื้นที่ ชาวบ้าน ภาครัฐ นักธุรกิจ ภาคเอกชน ยืนยันว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้มหาศาล สร้างงานเพิ่มขึ้นให้กับคนในพื้นที่ และจะทำให้นักท่องเที่ยวจะมีจำนวนมากขึ้น

4 ธันวาคม 2566 ในรัฐบาลเศรษฐาฯ ระหว่างการประชุมใน ครม.สัญจร หนองบัวลำภู ทางจังหวัดเลย นำเสนอโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง ที่ประชุม ‘อนุมัติในหลักการ’ เพื่อนำไปเรียงลำดับพิจารณาความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในการเขียนแบบก่อสร้างที่ใช้งบราว 28 ล้านบาท

ถือเป็นการเดินทางที่ยาวนาน 41 ปี ของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างภูกระดึง ที่คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงทรัพยากรของคนในพื้นที่

ตลอดจนข้อท้วงติงเรื่องระบบนิเวศ การก่อสร้างที่อาจกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม การรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อการเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ปริมาณนักท่องเที่ยวย่อมเพิ่มขึ้นตาม

ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม ความแออัดหนาแน่นของนักท่องเที่ยว ที่จะส่งผลทั้งในเรื่องการบริหารจัดการขยะ จะดำเนินการอย่างไร เพือให้ภูกระดึง แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในตำนานได้อยู่อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เป็นเรื่องที่รัฐบาล และผู้เกี่ยวข้องต้องหาทางออกร่วมกัน

และถึงวันนั้นเราจะได้เห็นกันว่าบทสรุปของเรื่องดังกล่าวจะเป็นอย่างไร!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image