น.ศ.คุกเข่าร่ำไห้ ไหว้กยศ.วอนอย่าตัดเงินกู้ยืมเรียน หลังถูกระงับเงิน เผยครอบครัวฐานะยากจน

น.ศ.คุกเข่าร่ำไห้ ไหว้กยศ.วอนอย่าตัดเงินกู้ยืมเรียน หลังถูกระงับเงิน เผยครอบครัวฐานะยากจน

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นางรัชดา ตันติมาลา ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเครือข่ายประชาสัมพันธ์ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมด้วย น.ส.ศิริกาญจน์ หอมสุคนธ์ หน.กลุ่มงานตรวจสอบปฏิบัติการ น.ส.มารีนา เชื้อเมืองพาน หน.กลุ่มงานให้กู้ยืม และคณะรวมจำนวน 8 คน ได้เดินทางมาพบ น.ส.ฐณิชา สาลีพันธ์ รองอธิการบดี และคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อมารับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการให้กู้ยืมเงินของสถานศึกษากับนักศึกษา และมาให้ข้อมูลกับผู้กู้ยืมเพิ่มเติมในส่วนของผู้กู้ โดยได้ขอให้มหาวิทยาลัยแจ้งให้นักศึกษาที่มีปัญหาติดขัดจำนวน 517 ราย มาพบกับเจ้าหน้าที่ของกองทุนเพื่อสอบถามข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมเรียน มีนายบุญชวัฒน์ ปัญญาแดง ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.ศรีสะเกษ และคณะมาร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย

ต่อมา มีนายมหินธร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ และ น.ส.อุไรรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการจัดการและเพื่อนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้รวมจำนวน 5 คน เดินทางมาพบคณะเจ้าหน้าที่ของ กยศ. ซึ่งกลุ่มนักศึกษาทุกคนที่มาพบกับคณะเจ้าหน้าที่ กยศ.ต่างมีสีหน้าเศร้าหมอง เนื่องจากได้กู้เงิน กยศ.เรียนมาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 แล้ว และเมื่อถูกเรียกมาพบกับเจ้าหน้าที่ของ กยศ.ก็ต่างพากันวิตกกังวลใจ เกรงว่าจะไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ยืมเรียนต่อไปอีก เพราะว่าขณะนี้กำลังเรียนใกล้จะสำเร็จการศึกษาแล้ว โดยกลุ่มนักศึกษาพูดจาอ้อนวอนคณะเจ้าหน้าที่ กยศ.ว่า ขอความเมตตาอย่าได้ตัดสิทธิเงินกู้ยืมเรียนของพวกตน

ทันใดนั้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเลย กลุ่มนักศึกษาทั้ง 5 คน ได้พากันนั่งคุกเข่าลงกับพื้นพร้อมกับพากันนั่งพนมมือไหว้คณะเจ้าหน้าที่ของ กยศ.และพากันนั่งน้ำตาคลอเบ้าเพื่ออ้อนวอนขอความเมตตาจากเจ้าหน้าที่ กยศ.ไม่ให้ตัดสิทธิเงินกู้ยืมเรียนของพวกตน ทำให้คณะเจ้าหน้าที่ของ กยศ.พากันรีบลุกขึ้นจากเก้าอี้ที่นั่งอยู่ เพราะว่านั่งอยู่ตรงข้างหน้าของกลุ่นักศึกษาพอดี ต่อมา น.ส.มารีนา เชื้อเมืองพาน หน.กลุ่มงานให้กู้ยืม ได้ขอให้นักศึกษาทุกคนลุกขึ้นมานั่งบนเก้าอี้เพื่อทำการสอบถามถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงิน กยศ.

Advertisement

นายมหินธร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ครอบครัวพ่อแม่ของตนมีฐานะไม่สู้ดีนัก ดังนั้น ตนจึงอยากเรียนหนังสือให้สำเร็จระดับปริญญาตรี แต่ว่าตนไม่มีเงินค่าเล่าเรียนทั้งค่าดำรงชีพและค่าเทอม ดังนั้น ตนจึงขอกู้เงินจาก กยศ.มาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 แล้ว เมื่อสำเร็จการศึกษามีงานทำแล้วก็จะนำเอาเงินมาผ่อนชำระเงินกู้ให้กับ กยศ.ต่อไป แต่เมื่อตนได้รับแจ้งว่าให้มาพบกับเจ้าหน้าที่ กยศ. อีกทั้งในระบบของ กยศ.แจ้งว่ายื่นเบิกเงินปีการศึกษา 2566 ภาคเรียนที่ 2 ไม่สามารถเบิกเงินกู้ยืมได้ เนื่องจากคุณถูกระงับการให้กู้ยืม

จากสาเหตุกองทุนอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลการให้กู้ยืม ทั้งที่พวกตนเป็นนักศึกษาผู้กู้รายเก่าในสถานศึกษาที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติและทำสัญญากู้มาแล้วอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา แต่ตามปฏิทิน กยศ. 2/2566 พวกตนไม่สามารถดำเนินการได้ ในเมนูกองทุนได้ขึ้นข้อความระงับการให้กู้ยืม ทำท่าจะไม่ได้กู้ต่อ พวกตนจึงต้องหางานทำเป็นการหารายได้ระหว่างเรียน เพราะระบบไม่เปิด ค่าครองชีพวันละ 100 ก็ไม่ได้ กองทุน กยศ.ไม่มีหลักประกันในชีวิตว่าจะให้ตนเรียนจนจบ ตนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรับจ้างเพื่อมาเลี้ยงตนเองและเป็นค่าใช้จ่ายในการมาเรียน ทำให้พวกตนเกิดความเครียดมาก พวกตนจึงกราบอ้อนวอนขอความเมตตาจาก กยศ.ขอได้โปรดอย่าตัดสิทธิเงินกู้ยืมเรียนตนกับเพื่อนทุกคนเลย เพราะว่าพวกตนอยากเรียนหนังสือมาก เพื่ออนาคตที่ดีของตนเอง ครอบครัวและเพื่อเป็นพลเมืองดีของชาติตามนโยบายของรัฐบาล

Advertisement

น.ส.อุไรรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการจัดการ กล่าวว่า ครอบครัวของตนมีฐานะยากจนมาก แต่ว่าตนใฝ่เรียนรู้อยากเรียนหนังสือ จึงมาขอกู้เงิน กยศ.เรียนหนังสือตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 แล้ว ขณะนี้เรียนอยู่ปี 4 อีกไม่กี่เดือนก็จะสำเร็จการศึกษาแล้ว หากโดน กยศ.ตัดสิทธิกู้เงิน ตนก็จะไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและค่าเทอม ตนจึงกราบเท้าขอวอน กยศ.โปรดอย่าตัดสิทธิเงินกู้ยืมเรียนของพวกตนเลย หากตนถูกตัดสิทธิก็จะไม่มีเงินเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาได้ทั้งที่เหลือเวลาเรียนอีกเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

ทางด้าน น.ส.ศิริกาญจน์ หอมสุคนธ์ หน.กลุ่มงานตรวจสอบปฏิบัติการ กยศ. ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวว่า การที่ กยศ.อนุมัติเงินกู้ยืมล่าช้านานถึง 9 เดือน ทำให้นักศึกษาต้องไปหางานทำเพื่อเป็นการหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและค่าเทอมนั้น ในส่วนนี้จะเป็นการผิดหลักเกณฑ์ของ กยศ.หรือไม่นั้น น.ส.ศิริกาญจน์ได้กล่าวว่า ณ วันที่ผู้กู้ยื่นคำขอกู้ หากผู้ขอกู้ไม่มีงานประจำทำก็ถือว่าผู้ขอกู้ได้ให้ข้อมูลถูกต้องเรียบร้อยแล้ว คือไม่ได้เข้าเกณฑ์ผู้ขอกู้ขาดคุณสมบัติแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ กยศ.ได้ให้นักศึกษาทำการตอบแบบสอบถามทุกคน ทั้งนี้ เพื่อต้องการนำเอาไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมเรียนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image