ผู้ว่าฯเชียงใหม่ โวยงบแก้ฝุ่นยังไม่ออกจะมีเงินทอนได้ไง ชี้ประกาศภัยพิบัติ ไม่เกิดประโยชน์

‘ฝุ่นจิ๋ว’ ยังพุ่งไม่หยุด ผู้ว่าฯ ยัน ไม่ประกาศภัยพิบัติ อ้างไม่มีระเบียบรองรับการใช้เงิน เหตุไม่ช่วยดับไฟเพราะไม่ใช่หน้าที่-ไม่เชี่ยวชาญ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เชียงใหม่ รายงานพบจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 18 มีนาคม 2567 รอบเช้า จำนวน 112 จุด ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว 20 จุด สันทราย 11 จุด พร้าว 10 จุด แม่แจ่ม 9 จุด ไชยปราการ 7 จุด ดอยสะเก็ด 7 จุด แม่วาง 7 จุด ฮอด 6 จุด แม่ริม 6 จุด แม่แตง 6 จุด ดอยเต่า 6 จุด สะเมิง 4 จุด อมก๋อย 4 จุด แม่อาย 3 จุด หางดง 2 จุด ฝาง 2 จุด ดอยหล่อ 1 จุด และแม่ออน 1 จุด ส่งผลให้สภาพพื้นที่ยังคงถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นละเอียด หรือฝุ่นจิ๋ว ไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพ-ปุย สัญลักษณ์สำคัญกลางเมืองเชียงใหม่ได้เหมือนเดิม ดัชนีคุณภาพอากาศไม่ดีระดับโลกลดลงมาที่ 5 ในขณะที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานทั้งจังหวัดต่อเนื่องแม้จะลดลง แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและนักท่องเที่ยว

ในขณะที่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ภาพรวมการบริหารสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ว่า ตนได้นำเรียนนายกรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สองเดือนแรก ที่เน้นไปในพื้นที่เกษตร เราทำได้เกือบ 100% ที่ไม่ให้เกิดการเผาเลย ในเดือนมีนาคมได้รายงานนายกรัฐมนตรีไปว่า พื้นที่ท้าทาย จะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ป่าทุกประเภทอยู่ถึง 90% เกือบ 12 ล้านไร่ มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดจุดความร้อนในป่ามากขึ้น จึงใช้วิธีดับให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดควันสะสม ซึ่งปีนี้เราสามารถทำให้พื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ลดลงถึง 70% ทำให้ไม่เกิดการสะสมของกลุ่มควันที่เราผลิตขึ้นเองมาเอง ซ้ำเติมกับฝุ่นที่มาจากเพื่อนบ้าน

Advertisement

ทั้งนี้ สิ่งที่เราจะทำต่อไปในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งจะจัดสรรให้กรมต่างๆ เช่น กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ จ้างคนที่มีอาชีพหาของป่า ที่มีความชำนาญ เข้ามาเป็นพนักงานรักษาป่าเกือบ 2,000 กว่าคน และขณะนี้จังหวัดอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบกลางจากรัฐบาล ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงบประมาณ เราก็จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเพิ่มดูแลทุกช่องทางการเข้าป่า และเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกดับไฟป่า ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จนถึงฤดูฝนมา

วันนี้ พ.ร.บ.งบประมาณ ยังไม่ออกเลย จะเอาอะไรมาไม่โปร่งใส เรายังไม่มีเงินใช้เลย ซึ่งจังหวัดอยู่ระหว่างของบไปยังรัฐบาล เงินยังไม่อนุมัติมา เพราะฉะนั้นเรื่องความไม่โปร่งใส การใช้งบประมาณถือว่าเป็นศูนย์ เพราะยังไม่มีงบให้ใช้ อย่าเพิ่งไปถามหาความไม่โปร่งใส หรือทุจริต ช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ไม่มีงบ เราทุกคนก็ตั้งใจที่จะทำหน้าที่ป้องกันการเผา ในเดือนนี้มีการเผาเยอะ เราก็ตั้งใจที่จะทำหน้าที่ในการดับไฟให้เร็วที่สุด ให้เกิดควันน้อยที่สุด ให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด”

นายนิรัตน์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติจากสถานการณ์ฝุ่น หากใครคุ้นเคยจากสถานการณ์น้ำท่วมขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องประกาศภัยพิบัติ คือสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นสถานการณ์ขนาดใหญ่ และระเบียบเงินทดรองราชการของกระทรวงการคลัง ก็เขียนไว้ชัดว่ามีรายการที่ระบุว่าจ่ายค่าอะไรได้บ้าง แต่สำหรับภัยที่เป็นฝุ่น PM2.5 ในระเบียบเงินทดรองราชการ กระทรวงการคลัง ไม่มีเขียนไว้ว่าจ่ายค่าอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากค่าน้ำมันรถเจ้าหน้าที่ ระเบียบเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การประกาศภัยพิบัติเพื่อสู้ฝุ่น ไม่เกิดประโยชน์ในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยราชการ จึงไม่มีความจำเป็น หรือมีน้ำหนักมากเพียงพอ หรือเป็นสิ่งจูงใจว่าเราต้องประกาศ เพื่อให้นำเงินมาใช้เพราะไม่เกิดประโยชน์อยู่แล้ว

Advertisement

ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไข เมื่อ พ.ร.บ.อากาศสะอาด และกฎหมายลูกผ่านออกมา ที่มีการพูดถึงข้อจำกัดของระเบียบเงินทดรองราชการ หรืองบฉุกเฉินฯ เพราะประกาศ ไปก็ใช้ไม่ได้จริงสำหรับภัยพิบัติฝุ่น จึงจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.อากาศสะอาด และกฎหมายลูก ที่จะมีค่าใช้จ่ายออกมา ขณะนี้ปรึกษากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กรุณาอนุมัติงบกลาง เป็นปีแรกที่รัฐบาลเห็นความจำเป็น ส่วนหนึ่งจะมาจ้างคนไปดูแลป่า ซึ่งทางจังหวัดเองก็ขออนุมัติงบกลางไปยังคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะออกมาเร็วๆ นี้ เราจะมาเติมเต็มในส่วนที่คนของกระทรวงทรัพย์ฯ ยังจ้างไม่หมด เราจะจ้างเพิ่ม และให้หน่วยงานที่เดินเท้าเข้าป่า ให้ค่าน้ำมันรถ ไม่ได้ขอมาซื้อของ หรือซ่อมถนน หรือที่ไปกลัวว่าจะต้องมีเงินทอนต่างๆ

นายนิรัตน์​กล่าวว่า ไม่มีบริษัทไหนมาขายของเพื่อภัยพิบัติ ตนไม่ได้ขอมาซื้อหน้ากากอนามัยใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องเงินทอนต่างๆ ตัดไปได้เลย ตนระวังตัวและไม่อยากยุ่งกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ตั้งใจที่จะดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ และอาสาสมัคร ที่อยู่กับเราเป็น 10,000 คน ให้เป็นกองทัพที่เดินด้วยท้อง มีอาหาร ให้เขากิน มีน้ำให้เขาแบกขึ้นไป มีเสบียง มีอุปกรณ์ มีไม้ดับไฟ มีรองเท้าที่กันไฟ จึงเป็นค่าใช้จ่ายประเภทนี้เท่านั้น เพื่อให้เขามีกำลังใจ ให้รู้ว่าเราได้ดูแลเขา ที่ไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ไปสำลักควัน ไปเป็นลมแทนเรา

ส่วนกรณีที่ไม่อยากให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น นายนิรัตน์กล่าวว่า เป็นมติของคณะกรรมการควบคุมไฟป่าจังหวัด โดยส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยกับการจุดไฟเผาแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อเป็นมติที่ประชุม และมีหลักวิชาการป่าไม้เข้ามาอธิบาย ถ้าไม่ชิงจัดการเชื้อเพลิงไว้ก่อน และเกิดไฟลุกไหม้ ที่มีคนมาแอบจุดนอกเหนือแผน จะลุกไหม้ที่ไร้การควบคุมและจะเกิดไฟแบบแปลงใหญ่ 1,000 ไร่ 10,000 ไร่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตนต้องยอมรับความจริงว่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการป่าไม้ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องยอมรับ แต่การอนุมัติให้มีการชิงเผาเป็นอำนาจของแต่ละอำเภอ แต่ละท้องถิ่น หรือ อบต. ไม่เคยมาถึงผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ถ้าสถานการณ์อยู่ในช่วงอากาศปิด การระบายอากาศเป็นไปได้น้อย แน่นอนว่าตนจะให้คำแนะนำว่าช่วงนี้ควรงดเว้นก่อน และตนได้ทำหน้าที่นี้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดตกบกพร่อง

“ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ได้ผ่านการฝึกดับไฟป่า ที่ต้องใช้ทักษะ ใช้กำลัง ใช้ความอดทน ผมมีหน้าที่สนับสนุนเสบียงอาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์กันไฟ รองเท้าทนไฟ หรือสนับสนุนในกรณีที่จุดดับไฟจุดแรกดับไม่ได้ จะส่งชุดอื่นเข้าไปอย่างไร มีหน้าที่ที่จะอำนวยการให้พนักงานดับไฟป่ากว่า 10,000 คนในเชียงใหม่ทำงานได้ โดยไม่ติดขัด และดับไฟได้ทุกจุดภายในวันนั้น นี่คือหน้าที่ของตน” นายนิรัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image