ใกล้วิกฤตแล้ง! เขื่อนใหญ่โคราชเหลือน้ำแค่ 36% ผู้ว่าฯสั่งสำรวจพื้นที่ 32 อำเภอ เสี่ยงขาดน้ำดื่ม-ใช้

โคราชจ่อวิกฤตแล้ง 4 เขื่อนใหญ่เหลือน้ำใช้แค่ 36 เปอร์เซ็นต์ ผู้ว่าฯโคราช สั่ง 32 อำเภอ เร่งสำรวจพื้นที่และประเมินความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค

เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมกรรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 4/2567 ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการทุกสังกัดกระทรวงในพื้นที่จังหวัดฯ นายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ และตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้จะเป็นเรื่องสถานการณ์ภัยแล้ง และสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัด

โดยโครงการชลประทานนครราชสีมาได้รายงานว่า สถานการณ์น้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำรวมคงเหลือ อยู่ที่ 488.52 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40.15% และเป็นน้ำใช้การได้ 426.12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 36.92% เท่านั้น โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประกอบด้วย

1.อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาตรน้ำคงเหลือ อยู่ที่ 107.51 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 34.19% เท่านั้น ซึ่งเป็นน้ำใช้การได้ 84.79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 29.06% อยู่ในเกณฑ์สีเหลือง “น้ำน้อยวิกฤต”

Advertisement

2.อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีน้ำคงเหลือเกินครึ่งอ่าง โดยมีปริมาตรอยู่ที่ 82.89 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 53.48% เป็นน้ำใช้การได้ 82.17 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 53.26% อยู่ในเกณฑ์สีน้ำเงิน “น้ำปานกลาง”

3.อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาตรน้ำคงเหลือ อยู่ที่ 57.67 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 40.91% เป็นน้ำใช้การได้ 50.67 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 37.82% ยังอยู่ในเกณฑ์สีเขียว “น้ำน้อย”

4.อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาตรน้ำคงเหลือ อยู่ที่ 102.40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 37.24% และเป็นน้ำใช้การได้ 95.40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 35.60% ยังอยู่ในเกณฑ์สีเขียว “น้ำน้อย”

Advertisement

ซึ่งจะเห็นได้ว่าอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่เป็นอ่างเก็บน้ำหลัก ส่งจ่ายน้ำหล่อเลี้ยงชาวโคราชถึง 5 อำเภอ ตอนนี้เหลือน้ำใช้น้อยกว่า 30% เข้าขั้นวิกฤตแล้ว นายชัยวัฒน์จึงมีข้อสั่งการให้ทุกอำเภอเร่งสำรวจพื้นที่และประเมินความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค เพื่อนำมาประกอบการประเมินสถานการณ์น้ำจากผลกระทบภัยแล้งในภาพรวม จะได้เตรียมความพร้อมรับมือ และดำเนินแผนเผชิญเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ พร้อมกับย้ำชลประทานทุกพื้นที่ให้บริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม ใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก และรักษาระบบนิเวศ, ส่งจ่ายให้ภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร ตามลำดับ ส่วนภาคประชาชนขอให้เก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนให้นานที่สุดจนกว่าจะถึงหน้าฝน รวมทั้งใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image