บอร์ด”กสทช.”ไฟเขียวเดินหน้าโครงการเน็ตหมู่บ้าน1.9หมื่นแห่ง-คาดติดตั้งเสร็จกลางปี61

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้นำเสนอประมูลโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน จำนวน 19,652 แห่ง ที่ได้รับจัดสรรจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จำนวน 15,732 แห่ง และพื้นที่หมู่บ้านชายขอบนั้น ขณะนี้ กสทช.ได้เริ่มส่งทีมลงสำรวจพื้นที่แล้วจำนวน 3,920 แห่งซึ่งแต่ละพื้นที่ที่ห่างไกล ที่เป็นภูเขา จะต้องสำรวจดูว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีใดบ้าง เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถลากสายไฟเบอร์ออปติกเพียงอย่างเดียวได้ จึงต้องดูว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรมาเสริม เช่น ไวแม็กซ์ ดาวเทียม เป็นต้น โดยจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์มูลค่าการลงทุน และกำหนดรายละเอียดในการทำทีโออาร์ คาดว่าจะสำรวจพื้นที่เสร็จประมาณปลายเดือน มกราคม 2560 และในวันที่ 10 มีนาคมนี้ ทีมผู้บริหารของ กสทช. จะส่งพื้นที่สำรวจด้วยตัวเองที่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นคาดว่าภายในเดือนมีนาคม จะสามารถออกเกณฑ์การประกวดราคาได้ และในเดือน มิถุนายน จะสามารถลงนามกับผู้ชนะการประมูลโครงการ และต้องเร่งวางโครงข่ายเพื่อให้เปิดบริการได้ภายในเดือน ธันวาคมนี้

นายฐากรกล่าวว่า ส่วนหมู่บ้านในพื้นที่ชนบท จำนวน 15,732 แห่งนั้น ก็จะทำงานคู่ขนานกันไป โดยทีมสำรวจได้ลงพื้นที่เดือน มกราคมปี2560 แต่กระบวนการสรุปเทคโนโลยี หรือพื้นที่ทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จได้ก่อนพื้นที่ชายขอบ เพราะหมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่ในชนบท และคาดว่าจะใช้เทคโนโลยีไฟเบอร์ออปติกทั้งหมด คาดว่าในเดือน มิถุนายน2560 และสามารถลงนามกับผู้ชนะการประมูลได้ในเดือน กันยายน 2560 พร้อมเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายน 2561 ทั้งนี้ กสทช. มีเงินที่นำมาใช้งานในโครงการดังกล่าวจะเหลือในกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) มีเหลือจำนวนอยู่ 21,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้จะใช้ทั้งหมด เนื่องจากต้องดูผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจะใช้เท่าไร

“โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน กสทช. ยังต้องหาจุดติดตั้ง 1 จุด ต่อ 1 หมู่บ้าน เพื่อให้เอกชนมาเช่าใช้ในการให้บริการตามครัวเรือน หากบ้านใดต้องการติดตั้งก็ต้องมาเชื่อมโครงข่ายจากส่วนกลางไป ซึ่งตรงนี้เอกชนที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการลากสาย และให้บริการด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาปกติในตลาด โดยในส่วนดังกล่าวสำนักงาน กสทช.จะเป็นผู้กำหนดราคาอีกครั้งหนึ่ง โดยอัตราความเร็วที่ให้ต้องอยู่ที่ 30/10 เมกะบิต ขณะที่ในส่วนของอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านที่ติดในโรงเรียน หรือสถานที่ราชการนั้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนด้วย โดย กสทช.จะเป็นผู้ดำเนินโครงการหาอุปกรณ์ และงบประมาณ รวมถึงการบำรุงรักษาให้ก่อนในระยะ 3 ปี เพราะเข้าใจว่า ส่วนราชการต้องใช้เวลาในการตั้งงบประมาณ จากนั้น เชื่อว่าหลังจาก 3 ปี หน่วยงานจะสามารถตั้งงบประมาณเพื่อดูแลในส่วนนี้ได้”นายฐากรกล่าว

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการอัพโหลดช่องสัญญาทีวีดิจิทัล ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ขึ้นดาวเทียม ตามกระกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้เป็นการทั่วไป หรือ มัสแครี่ ของผู้ประกอบการฟรีทีวีดิจิทัล 26 ช่อง ที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบัน ให้แก่ผู้ประกอบการโครงข่ายคือ บริษัท ไทยคม จำกัด(มหาชน) และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกฎมัสแครี่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 76/2559 เรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 นั้น กทปส.ได้สรุปกรอบวงเงินที่ผู้ประกอบการได้จ่ายให้กับดาวเทียมแล้วพบว่าทั้ง 26 ช่องได้ทำสัญญาจ่ายให้ผู้ให้บริการดาวเทียมคุณภาพเอสดี ราว 469.635 ล้านบาท

Advertisement

นายฐากร กล่าวว่า ดังนั้นคณะกรรมการกองทุน กทปส. จึงสอบถามที่ประชุม กสทช. ว่ากรอบการสนับสนุน 3 ปี ที่ คสช.ประกาศนั้น จะให้การสนับสนุนในคุณภาพ เอชดี ด้วยหรือไม่ เนื่องจากการอัพโหลดสัญญาณในกลุมช่องเอชดีมีราคาที่สูงกว่า ที่ประชุมจึงเสนอให้ส่งให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษารายละเอียดว่าจะสามารถสนับสนุนแค่ในคุณภาพ เอชดี ได้หรือไม่ โดยคาดว่าฝ่ายกฎหมายจะศึกษาเรื่องนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อนำเข้าที่ประชุม กสทช. ภายในวันที่ 15 มีนาคม หรือ หากไม่ทัน ก็นำเข้าที่ประชุมวันที่ 22 มีนาคม อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเบิกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2560 ทำหนังสือมาเบิกเงินกับทางสำนักงานกสทช.ได้ทันที ซึ่งขณะนี้มีผู้ขอเบิกแล้วประมาณ 2-3 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image