ชาวบ้านสุดผูกพัน “ชาลี ชักกุย” ห่วงเดินทางไกล เหตุเคลื่อนย้ายเข้าโครงการวิจัยพฤติกรรมหมีควาย

วันที่ 14 เมษายน นายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ กรณีผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะนำ “ชาลี ชักกุย” หรือ ชักกุย ลูกหมีควายเพศผู้ ไปทำโครงการวิจัยพฤติกรรมของหมีควาย ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้เลี้ยง”ชักกุย” อายุ 2 ปี 2 เดือน น้ำหนักกว่า 150 กิโลกัรม (กก.) ไว้บริเวณด้านหลังที่ทำการอุทยานฯ หลังจากเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ช่วยชีวิต ลูกหมีอายุ 2 เดือน น้ำหนัก 5 กิโลกรัม ระหว่างการถูกสุนัขรุมกัดเนื่องจากแม่หมีทิ้งไว้ในไร่สัปปะรด พื้นที่ หมู่ 7 บ้านพุบอน ต.หาดขาม อ.กุยบุรี โดยพบว่ามีอาการชัก ตัวเกร็ง สมองขาดออกซิเจน ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ ต้องให้ยาลดความดันในสมอง จากนั้นได้นำไปรักษาอาการป่วยที่ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทราย ต.ห้วยทรายใต้ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์หัวหิน ซึ่งมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยจากความผิดปกติด้านสมอง และป่วยเป็นโรคลมชัก

นายกาญจนพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ”ชักกุย” ต้องกินยากันชักวันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร และหลังจากทราบว่าจะมีการเคลื่อนย้าย ก็มีสมาชิกแฟนเพจในเฟซบุ๊ก”ชาลี ชักกุย” แสดงความเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะส่วนตัวเห็นว่าการเคลื่อนย้ายหมีควายขนาดใหญ่ไปทำวิจัยอาจจะมีปัญหาหรือไม่จากการเดินทางไกล ขณะที่ทีมนักวิชาการสามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ปัจจุบัน เพราะเป็นถิ่นกำเนิด นอกจากนั้น จะต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชนในพื้นที่ที่มีความรักความผูกพันมานานหลายปีและเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แต่การตัดสินเคลื่อนย้ายเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารกรมอุทยานฯตามคำแนะนำของทีมนักวิชาการ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image