คพ.แนะ 6 แนวทางแก้กลิ่นเหม็น ให้ 2 โรงงานยางอุดรฯปฏิบัติ

วันที่ 26 เมษายน 2560 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เรื่องการแก้ปัญหากลิ่นโรงงานยางพาราเหม็นใน จ.อุดรธานี อ้างถึงกรมควบคุมมลพิษได้แจ้งผลการตรวจวิเคราะห์ ความเข้มกลิ่นจากโรงงานยางพารา 2 แห่ง บ.ศรีตรัง แอโกร อินดัสทรี จก.(มหาชน) และ บ.วงษ์บัณฑิตอุดรธานี จก. ทำให้อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี มีคำสั่งให้ทั้ง 2 โรงงาน หยุดการอบยางและปรับปรุง ให้เสร็จสิ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560

 

นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ในคราวการประชุม เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 มีบัญชาให้กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น กรมควบคุมมลพิษได้ร่วมประชุมหารือกับ จ.อุดรธานี รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีข้อเสนอแนะ ในการจัดการปัญหากลิ่นโรงงานทั้ง 2 แห่ง ดังนี้

Advertisement

1.ดำเนินการปรับปรุงระบบรวบรวมอากาศเสีย จากการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถจัดการกลิ่นเหม็น ก่อนที่ระบายออกจากโรงงานได้ดีขึ้น , 2.ดำเนินการปรับปรุงระบบบำบัดอากาศเสีย จากปล่องระบายอากาศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถพิจารณาจากระบบที่ใช้อยู่เดิม หรือจะพิจาณราติดตั้งระบบใหม่ เพิ่มเติมตามความเหมาะสมดังนี้

 

2.1ระบบบำบัดแบบชีวภาพ (ไอโอฟิลเตอร์) โดยเน้นให้พิจารณาใช้ตัวกลางดูดจับกลิ่นที่มีประสิทธิภาพ เช่น ถ่าน ขี้เลื่อย และดิน เป็นต้น 2.2 ปรับปรุงระบบบำบัดอากาศเสียแบบ Wet Scrubber ที่โรงงานใช้อยู่แล้ว โดยให้พิจารณาเพิ่มระบบที่หลายชั้นมากขึ้น หรืออาจเพิ่มตัวกลางดูดจับกลิ่นที่มีประสิทธิภาพ (เดิมใช้น้ำหในเวียนที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานฉีดพ่นเพียงอย่างเดียว) หรืออาจพิจารณาใช้ระบบอื่นตามที่โรงงานเห็นเหมาะสม

Advertisement

 

3.เพิ่มประสิทธิการจัดเก็บวัตถุดิบ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจัดเก็บยางก้อนถ้วยในระบบปิด บริหารจัดการวัตถุดิบไม่กองนานเกิน , 4.ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนสารเคมี ที่ใช้ในการทำน้ำยางจับตัวเป็นก้อน จากกรดซัลฟิวริกเป็นกรดฟอร์มิค 5.ให้โรงงานจัดทำแผนปรับปรุง และแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถติดตามความคืบหน้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอน และ 6.ให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่รอบโรงงาน มีส่วนร่วมในการติดตามความคืบหน้า การแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ได้นำข้อเสนอแนะของกรมควบคุมมลพิษ มอบให้อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี แจ้งให้โรงงานยางแท่งทั้ง 2 รับนำไปปฏิบัติ และให้ติดตามการแก้ไขต่อเนื่อง ส่วนการที่ จ.อุดรธานี ตรวจพิสูจน์ “น้ำกรดหยดยาง” มีขายในพื้นที่ จ.อุดรธานี 46 ตัวอย่าง พบว่า กรดที่ระบุเป็นกรดฟอร์มิค และกรดอินทรีย์ 10 ชนิด กลับตรวจพบมีกรดซัลฟิวริกผสมอยู่ 7 ชนิด จึงตรวจซ้ำอีกพบว่ามีกรดซัลฟิวริกผสมอยู่ถือเป็น “กรดปลอม” เตรียมแจ้งให้ สนง.คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการตามกฎหมาย

 

“ประการที่สอง ตรวจกรดซัลฟิวริก 36 ยี่ห้อ พบโลหะ , โลหะหนักอื่นจัดเป็นสารพิษ อาทิ สารหนู , แคชเมียม , แมงกานิส และเซเลเนี่ยม เกินกว่าค่ามาตรฐานน้ำทิ้งโรงงานอุตสาหกรรม แตกต่างกันออกไปทั้งหมด จะรายงานให้กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบหาทางแก้ไขด้วย” นายชยาวุธ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image