โต้ โจ นูโว! อ.เจษฎาชี้ ทฤษฎีดาร์วิน หมายรวมถึงการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แนะอย่าเอาไปอ้างมั่ว

ทฤษฎีดาร์วิน

โต้ โจ นูโว! อ.เจษฎาชี้ ทฤษฎีดาร์วิน หมายรวมถึงการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แนะอย่าเอาไปอ้างมั่ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ โจ จิรายุ ดารานักร้องชื่อดังได้โพสต์ข้อความตอบแฟนคลับที่คอมเมนท์ข้อความระบายความยากลำบากของชีวิต โดยนักร้องดังไล่ให้แฟนคลับรายดังกล่าวไปตายโดยอ้างทฤษฎีการคัดสรรทางธรรมชาติของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชื่อดัง จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น (คลิกอ่าน สุดอึ้ง! ‘โจ นูโว’ ตอบแฟนๆ ได้รับผลกระทบโควิด ยกทฤษฎีชาร์ลส์ ดาร์วิน ‘ตายได้ตายไปก่อนเลย’)

ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก อธิบายถึงทฤษฏีคัดสรรทางธรรมชาติของชาร์ลส์ ดาร์วิน ว่าไม่ได้หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงกว่าอยู่รอด แต่มีความหมายที่กว้างกว่าครอบคลุมถึงการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทำให้สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นั้นๆมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้

โดยรศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า แนวคิดลักษณะดังกล่าว คือแนวคิด Social Darwinism ได้ถูกเอาไปอ้างกันมากในหลายๆ กลุ่มเพื่อสนับสนุนความเชื่อของกลุ่มตน ไม่ว่าจะเป็นพวกทุนนิยม พวกเหยียดเชื้อชาติ พวกจักรวรรดินิยม พวกฟาสซิสต์ พวกนาซี หรือแม้แต่เวลาที่มีการขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและกลุ่มชน

โดยข้อความของอ.เจษฎา ระบุว่า

Advertisement

มาทำความเข้าใจ “ทฤษฎีวิวัฒนาการ ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ของชาร์ล ดาร์วิน” กันให้ถูกต้องครับ

ตอนนี้มีประเด็นดราม่ากันเกิดขึ้น เนื่องจากมีคนพูดทำนองว่า “ในสถานการณ์วิกฤตโรคโรคโควิด-19 ระบาดนี้ ใครลำบาก มันก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยตัวเอง ตายได้ตายไปเลย ธรรมชาติจะคัดสรรผู้ที่อยู่รอดสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ตามทฤษฎีชาร์ล ดาร์วิน” ?!

จริงๆ แล้ว ลักษณะประโยคอย่างที่พูดมานั้น ไม่ได้ตรงตามทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน แต่เป็นแนวคิดที่เรียกว่า Social Darwinism ซึ่งเกิดขึ้นในยุคทศวรรษที่ 1870s อ้างว่าเป็นการเอาหลักชีววิทยาของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) และการอยู่รอดของผู้ที่ปรับตัวได้ดีกว่า (survival of the fittest) มาประยุกต์ใช้กับเรื่องรัฐศาสตร์สังคมวิทยา

Advertisement

ผู้ที่นิยมแนวคิดนี้ เชื่อว่า ผู้ที่แข็งแรงกว่า ก็ควรจะมีอำนาจและทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่อ่อนแอกว่า ก็ควรจะมีอำนาจและทรัพย์สมบัติลดลง .. แนวคิด Social Darwinism ได้ถูกเอาไปอ้างกันมากในหลายๆ กลุ่มเพื่อสนับสนุนความเชื่อของกลุ่มตน ไม่ว่าจะเป็นพวกทุนนิยม พวกยูเจนิกส์ (eugenics) พวกเหยียดเชื้อชาติ พวกจักรวรรดินิยม พวกฟาสซิสต์ พวกนาซี หรือแม้แต่เวลาที่มีการขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและกลุ่มชน

แต่ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติของดาร์วินนั้น ดาร์วินตั้งใจจะใช้เพื่ออธิบายความหลากหลาย และการเกิดขึ้นของสปีชีส์ใหม่ ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ไม่ได้มีเจตนาที่มุ่งไปที่การต่อสู้กันของสังคมมนุษย์ อย่างที่เอาไปอ้างกัน

ยิ่งกว่านั้น ดาร์วินไม่ได้นิยามคำว่า สิ่งมีชีวิตตัวที่ “fittest” นั้น ว่าคือตัวที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นตัวที่เข้าได้กับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และได้ขยายไปถึงตัวที่ทำงานร่วมมือกับตัวอื่นได้ ในกรณีของสัตว์สังคมหลายๆ ชนิด ตามหลักที่ว่า “struggle is replaced by co-operation” การแก่งแย่งดิ้นรน จะถูกแทนที่ด้วยการร่วมมือกัน !!

ดาร์วินได้เคยคาดการณ์ไว้แล้วว่า คำว่า การคัดเลือกโดยธรรมชาติ ที่เขากำลังนำเสนอแก่วงการวิทยาศาสตร์นั้น อาจจะสูญเสียความหมายที่ถูกต้องของมันไป ถ้าถูกเอาไปใช้ในมุมที่แคบๆ ว่าคือการดิ้นรนต่อสู้ระหว่างสิ่งมีชีวิตแต่ละตัว เพียงเพราะตั้งใจจะให้ตัวเองอยู่รอด

ดาร์วินเขียนไว้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือ “Origin of Species กำเนิดสปีชีส์” อันโด่งดังของเขา ระบุถึงความหมายของคำดังกล่าวว่า “เป็นสำนึกในมุมกว้างและอุปมาอุปไมย ที่จะครอบคลุมถึงการที่สิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งจะพึ่งพากับอีกตัวหนึ่ง และสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จะครอบคลุม ไม่ใช่เฉพาะการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตตัวนั้น แต่รวมถึงความสำเร็จในการที่จะมีลูกหลานสืบต่อไปด้วย” [จาก Origin of Species, บทที่ 3 หน้าที่ 62 ฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 1]

ในหนังสืออีกเล่มหนึ่งตามมาของชาลส์ ดาร์วิน คือ The Descent of Man ดาร์วินได้เขียนเน้นหนักหลายหน้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่กว้างขึ้นและถูกต้องของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ดาร์วินชี้ให้เห็นว่า ในสังคมของสัตว์สารพัดชนิด เรากลับไม่พบการดิ้นรนแก่งแย่งกันเองของสัตว์แต่ละตัว แต่กลับถูกแทนที่ด้วยการทำงานร่วมกัน และพัฒนาไปสู่ศักยภาพด้านสติปัญญาและจริยธรรม ที่ช่วยให้สัตว์สปีชีส์นั้นอยู่ในสภาวะที่ดีที่สุดที่จะอยู่รอดได้

ดาร์วินอธิบายว่า ในกรณีดังกล่าวนั้น คำว่า fittest ไม่ได้หมายถึง ตัวที่แข็งแรงที่สุดทางกายภาพ แต่หมายถึงตัวที่เรียนรู้ที่จะรวมตัวพึ่งพากัน เพื่อช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งตัวที่แข็งแรงและตัวที่อ่อนแอ เพื่อประโยชน์สุขของทั้งสังคม

ดาร์วินเขียนว่า ” สังคม ซึ่งมีสมาชิกที่เห็นอกเห็นใจกัน เป็นจำนวนมากที่สุด จะเติบโตรุ่งเรืองที่สุด และจะมีลูกหลานเป็นจำนวนมากที่สุดด้วย” (จากฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 163)

ดังนั้น คำว่า การคัดเลือกโดยธรรมชาติ ซึ่งแรกเริ่มจากมุมมองแคบๆ ของการต่อสู้แข่งขันกันตามแนวคิดของ มัลธัส (Malthus นักเศรษฐศาสตร์ในยุคของดาร์วิน) ได้สูญเสียความแคบนั้นไป เมื่ออยู่ในจิตใจของคนที่เข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง

(สรุปง่ายๆ ว่า อย่าเอาแนวคิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ของชาร์ล ดาร์วิน มาอ้างกันมั่วๆ เพื่อปฏิเสธเรื่องที่คนเราควรจะช่วยเหลือกันในสังคม )

ข้อมูลจาก https://en.m.wikipedia.org/wiki/Social_Darwinism

ภาพประกอบจาก https://m.facebook.com/…/a.1622485398020…/2634697253466083/…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image