เจ้าของฟอนต์ ‘ไทยแลนด์’ ยังรอ ‘ปันจักสีลัตไทย’ ชดใช้ค่าละเมิดลิขสิทธิ์ ขอทุกคนเห็นความสำคัญ

เจ้าของฟอนต์ ‘ไทยแลนด์’ ยังรอ ‘ปันจักสีลัตไทย’ ติดต่อกลับ ชดใช้ค่าละเมิดลิขสิทธิ์ ย้ำไม่มีใครภูมิใจได้เต็มที่กับผลงานที่ถูกนำไปใช้ โดยไม่ขออนุญาต

จากกรณีที่ “บึก” หรือ นายสุชาล ฉวีวรรณ กราฟิกดีไซเนอร์วัย 37 ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการออกแบบไทย เผยทางเฟซบุ๊ก Buk Babor หลังจากได้รับข้อความและเห็นแบบอักษรชื่อประเทศไทย คำว่า “ไทยแลนด์” หรือ “Thailand” ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของตนเองที่จดลิขสิทธิ์ไปปรากฏอยู่ในชุดแข่งขันของนักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทย ชุดทำศึกมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมา สมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย แถลงขอโทษนายสุชาล พร้อมยืนยันว่าไม่มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ฟอนต์ดังกล่าว

ต่อมา นายสุชาลระบุว่า หลังจบการแข่งขันซีเกมส์จะมีการเจรจาร่วมกับสมาคมและกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึงเรื่องที่เกิดขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายสุชาลอัพเดตความคืบหน้าว่า เมื่อวานนี้ (30 พฤษภาคม 2565) ผมได้มีนัดกับทางสมาคมปันจักสีลัตเพื่อเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงาน “ไทยแลนด์” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นคนกลางร่วมประชุมเพื่อรับทราบข้อตกลง

“จากเหตุการณ์ที่สมาคมปันจักสีลัตนำแบบตัวอักษร ‘ไทยแลนด์’ ไปปักบนเสื้อนักกีฬาโดยไม่ได้ขออนุญาต และผมได้แจ้งไปในโพสต์ก่อนหน้านี้ว่าได้มีการพูดคุยกับทางนายกสมาคม โดยมีท่านอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ เป็นคนกลาง ซึ่งผมได้อนุญาตให้นักกีฬาปันจักสีลัตใส่เสื้อที่มีลายปักตัวอักษร ‘ไทยแลนด์’ ต่อจนจบการแข่งขันตามคำขอจากทางสมาคม และการไกล่เกลี่ยจากท่านอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ ซึ่งผมเข้าใจดีว่ายังอยู่ระหว่างการแข่งขัน การตัดสินใจที่เกิดขึ้นก็เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬานะครับ ซึ่งนายกสมาคมได้พูดคุยพร้อมจะกลับมาเจรจาเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ดังกล่าวหลังจบการแข่งขัน

Advertisement

“ระหว่างรอนัดก่อนถึงวันเจรจา ผมเองไม่ได้รับการติดต่อจากทางสมาคม ถึงแม้ระหว่างทางจะมีกรมทรัพย์สินทางปัญญาคอยช่วยเป็นตัวกลางในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

“ล่าสุดเมื่อวานนี้ ผมได้มีการยื่นข้อเสนอเพื่อให้ทางสมาคมพิจารณา โดยทางสมาคมได้ขอนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาในวันนี้ (31 พฤษภาคม 2565) โดยจะแจ้งผลการประชุมภายในไม่ช้าครับ

“ผมได้ออกแบบผลงาน ‘ไทยแลนด์’ ขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2564 และโพสต์ออกสู่สาธารณะวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ผมอยากชี้แจงเพิ่มเติมว่า ความตั้งใจแรกของผมที่สร้างสรรค์งานออกแบบนี้ คือเพื่อเป็นงานเชิงศิลป์นำมาประยุกต์กับงานแปะทองบนกระจก (Glass Gilding) ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ผมได้ไปเรียนมา และเป็นอาชีพที่ผมยึดทำอยู่ควบคู่ไปกับงานออกแบบ นอกเหนือจากนี้ ผมยังไม่ได้มองภาพงานนี้ไปอยู่ในที่ที่ผมไม่ได้เป็นคนตัดสินใจครับ

Advertisement

“หลังจากผมได้นำผลงานนี้ไปจดลิขสิทธิ์ มีหลายหน่วยงานและหลายองค์กรติดต่อผมเข้ามาเพื่อขอนำแบบตัวอักษร ‘ไทยแลนด์’ นี้ไปใช้ แต่ผมยังไม่มีแผนการที่จะขายลิขสิทธิ์งานออกแบบนี้ให้กับใคร จึงได้ปฏิเสธไปทั้งหมดครับ

ภาพโดย กองประชาสัมพันธ์ กกท.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ในส่วนของการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ผมอยากให้ทุกคนที่ยังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ได้คิดให้เยอะๆ กับการกระทำของตัวเองว่าขณะที่เราทำงานอยู่นี้เรากำลังละเมิดผลงานใครหรือไม่ คิดถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งกับผู้ละเมิดเองและเจ้าของผลงาน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจ ความรู้สึก และรวมไปถึงผลกระทบทางธุรกิจของเจ้าของผลงานด้วย ไม่มีใครภูมิใจได้เต็มที่กับผลงานที่ถูกนำไปใช้โดยไม่ขออนุญาตนะครับ

“เรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสากลที่คนทั่วโลกรับรู้ ผมอยากให้เรื่องนี้ถูกให้ความสำคัญในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเหตุการณ์นี้ ซึ่งเป็นการละเมิดผลงานโดยนำไปใช้ออกสู่สายตาคนทั่วภูมิภาค และปรากฏไปยังสื่อสากลด้วย

“ถึงแม้จะได้หนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการจากทางสมาคม แต่ผมยังคงรอการแสดงออกอย่างถูกต้องตามข้อเสนอที่แจ้งไป คือการชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานนี้อย่างถูกต้องและเหมาะสมครับ

“สุดท้าย ผมอยากขอบอกผ่านช่องทางนี้ว่าจะขอทำเรื่องนี้ให้ถูกต้องที่สุด ผมมั่นใจว่าตัวเองทำในสิ่งที่ถูกต้อง และในฐานะนักออกแบบ ผมให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์ และคิดว่าคนสร้างสรรค์ผลงานทุกคนคงเข้าใจเรื่องนี้ดี

“ผมเคารพทุกฝ่าย และยังเชื่อว่าทุกคนจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าทางสมาคมติดต่อกลับ ผมจะมาแจ้งรายละเอียดอีกครั้งครับ

“เบื้องต้นยังขออนุญาตงดการให้สัมภาษณ์จากทุกช่องทางสื่อ หลังจากนี้ถ้าสามารถให้สัมภาษณ์ได้จะแจ้งอีกครั้งนะครับ

ขอบคุณครับ
สุชาล ฉวีวรรณ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image