วิจิตรศิลป์ มช. แสดงความยินดี ‘ดินสอสี’ อดีตนางแก้วคณะ คว้ามงกุฎนางสาวไทย 2567

วิจิตรศิลป์ มช. แสดงความยินดี ‘ดินสอสี’ อดีตนางแก้วคณะ คว้ามงกุฎนางสาวไทย 2567

ได้คนมงเป็นที่เรียบร้อย สำหรับเวที ‘นางสาวไทย 2567’ โดยผู้ครองงมงกุฎและสายสะพายทรงเกียรติปีนี้ คือ ดินสอสี – พนิดา เขื่อนจินดา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นครั้งที่สองแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่สามารถครองมงกุฎประจำเวทีนางสาวไทยได้สำเร็จ นับตั้งแต่ที่มีการประกวดแบบรายจังหวัด

โดยดินสอสีนั้นเป็นสาวงามจากอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ปัจจุบันอายุ 26 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้เธอเคยคว้าตำแหน่งมิสแกรนด์เชียงใหม่ในปี 2020 และเข้าสู่รอบ 20 คนสุดท้าย ต่อมาในปี 2022 เธอได้เข้าประกวดเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ โดยเป็นตัวแทนจากจังหวัดนครพนม ก่อนจะเดินทางมาประกวดนางสาวไทยในปี 2024 จนสามารถคว้าตำแหน่งสูงสุดได้สำเร็จ

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความยินดีกับนางสาวไทยคนใหม่

Advertisement

โดยระบุว่า ขอแสดงความยินดีกับนางสาวไทย ประจำปี 2567 (คนที่ 55) พนิดา เขื่อนจินดา “ดินสอสี” ศิษย์เก่าสาขาวิชาประติมากรรม อดีตนางแก้ววิจิตรศิลป์ (รุ่นที่ 33) ปี 2558 ในตีมวัฒนธรรมจักสานโบราณ (เครื่องแต่งกายแบบชาวลัวะ)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สวยสมมง! ‘ดินสอสี พนิดา’ สาวงามเชียงใหม่ คว้านางสาวไทย 2567
เปิดใจครั้งแรก ‘ดินสอสี พนิดา’ หลังคว้ามงนางสาวไทย 2567 พร้อมดันท้องถิ่นสู่สากล

Advertisement

แล้ว ตำแหน่ง “นางแก้ว” คืออะไร?

ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า งานสำคัญก่อนงานไหว้ครูของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ “พิธีเสี่ยงทายนางแก้วและจตุรเทพ” ซึ่งเป็นหนึ่งเรื่องที่นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ยึดถือปฏิบัติ-สร้างสรรค์ และกลั่นจากเรื่องสำคัญที่เรียนกันในวิชาต่างๆ ซึ่งหมายถึงงาน Creative ที่คณะวิจิตรศิลป์ทำสืบเนื่องกันมาล่วงแล้วเกือบ 40 ปี

นางแก้วและจตุรเทพ มีที่มาจากการเรียนเรื่องคติจักรวาล ที่สล่ามักนำเรื่องสัตว์หิมพานต์มาประดับในสถาปัตยกรรมและใช้ในพิธีกรรม นางแก้วมีหน้าที่ดูแลมหาจักรพรรดิราช ผู้ปราบ 3 โลก ส่วนจตุรเทพทำหน้าที่ดูแล 4 ทิศ (ใน 4 ปีของการเป็นนักศึกษา) นางแก้วและจตุรเทพของคณะวิจิตรศิลป์ ต่างทำหน้าที่เป็นตัวแทนรุ่นในขณะเรียน และจบการศึกษาออกไปอย่างดีงาม

ส่วนนางแก้วตามคัมภีร์ภาคเหนือโบราณหมายถึง นาง “อิตถีรัตนะ” คือนางผู้วิเศษที่มีความเพียบพร้อมดีงามเป็นนางแก้วของจักรพรรดิและหากออกเรือนแล้วจะกลายเป็นแม่ศรีเรือนที่ทรงค่าที่สุดของชาย ซึ่งมักจะเรียกว่า “เมียนางช้างแก้ว”

โดยผิวกายของนางแก้วจะมีสัมผัสที่นิ่มดุจปุยนุ่น มีกลิ่นจันทน์หอมฟุ้งออกจากพระกาย มีกลิ่นอุบลฟุ้งออกจากพระโอษฐ์ ประกอบด้วยคุณเป็นอเนกมีการเสด็จลุกขึ้นก่อนพระราชา เป็นต้น

หลายคนอาจคิดว่าเรื่อง “นางแก้ว” เป็นเพียงเรื่องอุปโลก แต่แท้จริงแล้วตามตำนาน “นางแก้ว” หรือ “อิตถีรัตนะ” นับเป็นรัตนะประการหนึ่งของพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งมักหมายถึง พระมเหสีร่วมพระบารมีกันมานับอเนกชาติ ซึ่งในคติทางพุทธศาสนา มีความเชื่อกันว่า ผู้จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีอำนาจยิ่งใหญ่ในโลกนั้น จักต้องประกอบไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ

ซึ่งจากข้อมูลบันทึกโบราณจะปรากฏว่า “นางแก้ว” เป็นส่วนหนึ่งของคติ “รัตนะทั้ง 7” ของพระเจ้ามหาจักรพรรดิ ที่ได้รับมาจากอินเดียโบราณ (เคยได้สังเกตจากการศึกษาเบื้องต้นว่า มีแนวคิดนี้มาตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมอินเดียช่วงราชวงศ์ศุงคะ-โมริยะ ซึ่งเป็นช่วงที่นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ซึ่งดูใกล้เคียงกับคติแบบทางล้านนามากที่สุด) “นางแก้ว” นั้นนับเป็นของสูงค่ายิ่งแก่ที่พระบรมหาจักรพรรดิที่จะมีไว้เคียงคู่พระบารมี โดยสิ่งที่จะแสดงออกถึงพระบรมสมภารบารมีควรที่จักรพรรดินั้น ตามคัมภีร์ “จักกวัตติสูตร” โดย “รัตนะทั้ง 7” ของพระเจ้ามหาจักรพรรดิประกอบไปด้วย

1. จักรรัตนะ (จักรแก้ว)
2. หัตถีรัตนะ (ช้างแก้ว)
3. อัสสรัตนะ (ม้าแก้ว)
4. มณีรัตนะ (แก้วมณี)
5. อิตถีรัตนะ (นางแก้ว)
6. คหปติรัตนะ (ขุนคลังแก้ว)
7. ปรินายกรัตนะ (ขุนพลแก้ว)

“นางแก้ว” นั้นหมายรวมได้กับ “พระราชธิดา” ผู้ทรงคุณงามความดีนานับประการ พระผู้ทรงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตนเสมอ ทรงบริหารพระราชกรณียกิจรายวันให้กลายเป็นความสุขได้ ความสุขอันเกิดจากการได้ช่วยเหลือดูแลผู้อื่น และเห็นผู้อื่นเป็นสุข “นางแก้ว” นี้จึงปรากฏในสร้อยพระนาม “เทพรัตนราชสุดา” อันหมายถึง “พระราชธิดาของพระราชา ผู้เป็นดั่งดวงแก้วของเทวดา”

“นางแก้ว” ผู้นั้นแม้ผ่านสมัยผ่านรัชกาลมาแล้ว ก็ยังเป็นรัตนะแห่งพระบรมเชษฐาธิราช ผู้ช่วยแบ่งเบาพระราชภาระบำบัดทุกข์บำรุงสุขนานาประการให้แก่เหล่าพสกนิกรในขอบขัณฑสีมาอย่างสม่ำเสมอ สมดังสร้อยพระนามที่ว่า “รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ” คือ “พระผู้ทรงคุณอันเป็นที่รักของคนในชาติ” โดยแท้จริง

นางแก้ว – วิจิตรศิลป์

ในส่วนของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือสตรีผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ดีงาม ซึ่งจะเป็นผู้อัญเชิญขันบายศรีและน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์เข้าสู่พิธีกรรมการไหว้ครูดังนั้น “นางแก้ว” จึงเป็นกิจกรรมที่นักศึกษาได้สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยได้ผสานเข้ากับคติทางความเชื่อแห่งวัฒนธรรมไทย เพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากการเลือกตัวแทนความดีความงามที่มีอยู่โดยทั่วๆ ไปในสถาบัน การศึกษาต่างๆ เช่น การเลือกตัวแทนหนุ่มสาว ดาวเดือน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้พิธีกรรมการไหว้ครูของคณะวิจิตรศิลป์ จึงเปี่ยมไปด้วยสัญลักษณ์ ความหมายและความงามที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน นับตั้งแต่พิธีกรรมการคัดเลือกนางแก้ว ด้วยการคัดเลือกจากตัวแทนนักศึกษาสตรีชั้นปีที่ 1 การออกแบบหรือจัดหาเครื่องแต่งกายที่สวยงามสำหรับนางแก้วและจตุรเทพในแต่ละปี

ไปจนกระทั่งพิธีตักน้ำจากอ่างแก้วเพื่อผสมเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีไหว้ครูเรียกว่า “สุคนธ ศรี สินธุธารา สุเทพาธาตุ” เพราะเชื่อว่าน้ำจากอ่างแก้วก็คือน้ำที่หลั่งไหลมาจากดอยสุเทพอันถือเป็นภูเขาที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเชียงใหม่ นอกจากนักศึกษาจะร่วมกันจัดเตรียมเครื่องบวงสรวงเพื่อทำพิธไหว้ครูในวันรุ่งขึ้นแล้ว

ในค่ำคืนเดียวกันนี้ทางนักศึกษาได้จัดกิจกรรมสำคัญ คือ พิธีเลือกตัวแทนนักศึกษาหญิงเพื่อเป็นนางแก้ว ซึ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะเลือกตัวแทนสตรีออกมา 3 คน แล้วเข้าสู่ขั้นตอนแห่งการเสี่ยงทายเพื่อให้ได้คนที่จะมาเป็นนางแก้ว ซึ่งพิธีการอาจจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละปี อาทิ มีการให้เลือกผ้าสไบแดงคนละผืน ผู้ใดได้ผืนยาวที่สุดผู้นั้นก็ได้รับตำแหน่งนางแก้ว หรือบางปีก็ให้เสี่ยงทายเลือกจากคนโทน้ำ หากผู้ใดได้คนโทที่มีน้ำมากที่สุดผู้นั้นก็จะได้ตำแหน่งนางแก้วไป และอีกสองคนที่เหลือก็จะได้รับตำแหน่งรองนางแก้ว

หลังจากนั้นจะมีพิธีสรงน้ำนางแก้วคือให้สตรีที่ได้รับคัดเลือก นุ่งขาวห่มขาวแล้วมาอาบน้ำมนต์หมายถึงการ เปลี่ยนจากผู้หญิงธรรมดาให้เป็นผู้หญิงสาวบริสุทธิ์เหมาะแก่การอัญเชิญเครื่องสักการบูชาครูในวันรุ่งขึ้น นางแก้วจะได้รับการแต่งกายให้สวยงามอย่างที่สุด โดยรุ่นพี่จะออกแบบสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายขึ้นมาภายใต้แรงบันดาลใจจากกลุ่มวัฒนธรรมไทยในแถบลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งในแต่ละปีก็จะแตกต่างกันออกไป

ภูษางาม – นางแก้ว

นางแก้วนอกจากจะมีความโดดเด่นเรื่องความดีงามแล้ว ในส่วนของเครื่องแต่งกายก็นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีความงดงามโดดเด่นและแตกต่างกันออกไปโดยให้อยู่ในกลุ่มสายวัฒนธรรมไทยในแถบลุ่มแม่น้ำต่างๆ อาทิ ลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำปิง เป็นต้น

ดังนั้นในทุกๆ ปี นางแก้วจึงได้รับความสนใจและเป็นที่รอคอยสำหรับผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก มรดกทางวัฒนธรรมไทย ทั้งนี้นางแก้วสมมุติของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถือว่าเป็นผู้ถูกคัดเลือกไว้แล้วด้วยความสมบูรณ์แบบและความพร้อมทั้งมวล เพื่อจะใช้เป็นตัวแทนความดีงาม ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะในฐานะตัวแทนของครูบาอาจารย์ รุ่นพี่รุ่นน้อง ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน หรือแม้แต่ศิษยานุศิษย์ต่างสำนักที่เคารพบูชาใน “ผีครูเดียวกัน” ในพิธีกรรมการไหว้ครู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image