‘หักหัวคิว’ เงินรางวัลนักกีฬา ฉาวอีกที่ ‘หางโจวเกมส์’

‘หักหัวคิว’เงินรางวัลนักกีฬา ฉาวอีกที่‘หางโจวเกมส์’

กลายเป็นเรื่องราวฉาวโฉ่วงการกีฬาของเมืองไทยกลางมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่กำลังแข่งขันกันเวลานี้ ที่นครหางโจว ประเทศจีน เมื่อกลุ่มอดีตนักกีฬาออกมาแฉว่า โดนโค้ชและผู้จัดการทีมหักเงินรางวัลที่ได้รับจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) อย่างไม่เป็นธรรม จนพวกเขาโบกมือลาวงการไปแบบไม่ค่อยสวย

ประเด็นการหักเงินรางวัลนักกีฬาไม่ใช่มีเพียงเฉพาะกีฬาตะกร้อเท่านั้น กีฬาอื่นๆ ก็มี บรรดาโค้ชและผู้จัดการทีมมักมองกันเป็นเรื่องปกติ

แต่ที่ไม่ปกติเพราะโค้ชเหล่านั้นมีเงินเดือนอุดหนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ส่วนหนึ่ง และสมาคมกีฬาต้นสังกัดอีกส่วนหนึ่ง แต่หากนักกีฬาไปสร้างความสำเร็จคว้าเหรียญรางวัล กองทุนกีฬาก็ยังจะมีเงินรางวัลมอบให้ในส่วนของโค้ช 20 เปอร์เซ็นต์ สมาคมกีฬา 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้ไปหักจากเงินรางวัลนักกีฬา เพราะรัฐบาลตั้งหลักเกณฑ์มอบให้แยกต่างหากอย่างชัดเจน

Advertisement

กรณีการ หักหัวคิว นักกีฬาตะกร้อที่เกิดขึ้นทำร้ายจิตใจนักกีฬาชุดปัจจุบัน และอดีตนักกีฬาที่ต้องโบกมือลาทีมชาติไปแบบไม่สวยทุกคน ตั้งแต่ โจ้ หลังเท้า พ.ต.ท.สืบศักดิ์ ผันสืบ รองผกก.จร.สน.วังทองหลาง ในปัจจุบัน, โอเล่ ร.ท.สุริยัน เป๊ะชาญ ตำนานตัวชงหวานเจี๊ยบ, จ.ส.ต.สราวุธ อินเล็ก จอมเสิร์ฟมากฝีมือจากอุทัยธานี, สารวัตรต้น พ.ต.ท.สมพร ใจสิงหล อีกหนึ่งตัวชงเท้าชั่งทอง รวมไปถึงนักตะกร้อสาว ตุ๊ก ธิดาวรรณ ดาวสกุล ดีกรีแชมป์ซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์หลายสมัย

สาเหตุประเด็นแรกต้องบอกว่า ทุกๆ เอเชี่ยนเกมส์นักกีฬาเหล่านี้จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเตือน หรือส่งสัญญาณไปยังโค้ช ทีมงานโค้ช ทีมงานผู้จัดการทีมว่า อย่าไปทำแบบที่เคยทำกับรุ่นน้องที่กำลังทำหน้าที่อยู่ เพราะนักกีฬาที่เลิกเล่นรับไม่ได้กับเงื่อนไขของโค้ชและผู้จัดการทีม

ประเด็นที่สอง เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่กำลังขับเคี่ยวกันอยู่ เพิ่งจะมีกรณีของ เจ้าปุ้ย พรชัย เค้าแก้ว ตัวฟาดประสบการณ์สูงดีกรี 10 เหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ และ 18 เหรียญทองซีเกมส์การันตีคุณภาพ โดนเรียกตัวมาร่วมทีมมาร่วมซ้อมตกลงกันไว้ตอนแรกว่าจะให้เล่นเอเชี่ยนเกมส์เป็นครั้งสุดท้ายตามความตั้งใจของพรชัย

Advertisement

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่คิด

เจ้าปุ้ย ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าจะไม่ได้เล่นทีมชุด กระทั่งวอร์มก่อนลงสนามได้รับแจ้งว่า ไม่มีชื่อ 12 คนที่จะใส่ชื่อในทีม A, B และ C ชนิดหักกันกลางอากาศไม่กี่นาทีก่อนลงสนาม โดยทีมงานโค้ชอ้างว่า เข้าใจผิดว่าส่งได้ 15 คน

แต่ร่ำลือกันว่าเบื้องหลัง คือ เรื่องเงินรางวัล

นักกีฬาตัวเก๋าอย่าง เจ้าปุ้ย รู้ดีว่าเล่นทีมชุดต่างจากเล่นทีมเดี่ยวอย่างไร เงินที่ต้องได้เท่าไหร่ แต่พอเลื่อนชั้นเป็นนักกีฬาตัวเก๋าการเจรจาขอกันย่อมไม่เป็นผล หรือมีผลแค่จำนวนน้อย

ทำให้บรรดาอดีตรุ่นพี่รู้ทันทีว่า เบื้องหลังคือเรื่อง หักหัวคิว อีกแล้วที่เป็นเหตุให้ เจ้าปุ้ย ต้องปิดฉากชีวิตตำนานนักตะกร้อทีมชาติแบบไม่ค่อยสวยไปอีก 1 ราย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 ในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ นั่นคือปฐมบทของเรื่องราวยุ่งเหยิง เงินๆ ทองๆ ในมุ้งกีฬาตะกร้อที่วุ่นวายไม่จบไม่สิ้น สมัยก่อนกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติยังไม่มีเงินมากนักจึงอุดหนุนเอเชี่ยนเกมส์ทองละ 1 ล้านบาท ซึ่งกีฬาตะกร้อถ้าทีมชุดจะส่งชื่อ 12 คน ซึ่งเป็นกติกาสากลรู้กันทั่วโลก ยกเว้นข้ออ้างของทีมตะกร้อไทยในครั้งนี้ที่เข้าใจว่า 15 คน ทำให้เงินรางวัล ณ ปี 2549 จะได้แน่ๆ 12 ล้านบาท

ธรรมเนียมของนักกีฬาตะกร้อพวกเขาจะรักกันมากในแคมป์ฝึกซ้อม เช่น นักกีฬาในแคมป์ทีมชาติถูกเรียกมา 20 คน แต่จำเป็นต้องส่งชื่อ 12 คน อีก 8 คนที่เหลือซ้อมกับทีมมาตลอดแต่ไม่ได้ไปแข่ง บรรดานักกีฬาที่ไปแข่งเขาจะตกลงกันภายในกลุ่มนักกีฬาเหมือนกับ พี่ให้น้อง หรือ เพื่อนให้เพื่อน เพราะพวกเขาฝ่าฟันสุข หรือทุกข์ด้วยกันในแคมป์ฝึกซ้อม ซึ่งเรื่องนี้รู้กันโดยทั่วไปและเป็นเรื่องดีที่เราคนไทยมีน้ำใจให้กัน

แต่…เรื่องมีอยู่ว่า หลังจบเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 15 ซึ่งตอนนั้นมีผู้อาวุโส 1 ราย ถูกดึงเข้ามาในฐานะผู้จัดการทีมชายแล้วได้ไปดึง น้องรัก มาช่วยงานในฐานะผู้จัดการทีมหญิง

นับจากบัดนั้นจนบัดนี้ วัฒนธรรมเรื่องเงินรางวัลในกีฬาตะกร้อถูกเปลี่ยนแปลงทันที…ซึ่งเฮดโค้ชทั้งทีมชายและทีมหญิงรับรู้กติกาด้วยเช่นกัน

มีการตกลงกับนักกีฬานอกรอบ แยกรายคน แต่ละคนขอหักเงินไม่เท่ากัน นักกีฬาหน้าใหม่จะโดนหักเยอะ แต่นักกีฬาเก๋าๆ หน่อยจะลดหลั่นไปจากเหรียญทองประเภททีมชุด (ส่งชื่อ 12 คน) ขณะที่ประเภททีมเดี่ยว (ส่งชื่อ 5 คน) ซึ่ง 5 ใน 12 คนจะได้เหรียญทองที่ 2 ของตัวเองเพราะคว้าทีมชุดไปแล้วนั้น จะต้องนำเงินอัดฉีดจากรัฐบาล 50% มากองรวมกันเพื่อให้ทีมงานโค้ช และผู้จัดการทีม ส่วนอีก 50% ที่เหลือจะนำไปแบ่งให้กับนักกีฬาที่หลุดโผจากแคมป์ฝึกซ้อม 8 คน ที่ไม่ได้เดินทางมาด้วย

นั่นหมายความว่า 5 คนที่ลงแข่งประเภทเดี่ยว จะแข่งขันฟรีแบบไม่มีเงินรางวัล

อีก 4 ปีต่อมา เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 16 ถ้าจำกันได้ โจ้ หลังเท้าŽ สืบศักดิ์ ผันสืบ ในเวลานั้นดังสุดขีด ออกมาดับเครื่องชนกลางเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่นครกว่างโจว ประเทศจีน

ตอนนั้น โจ้ สืบศักดิ์ โบกมือลาไปเพราะเหตุผลว่า พวกเขานักกีฬาตกลงกันเองได้ น้ำใจพวกเขามีให้พี่น้องกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่ โจ้ มองว่าไม่ต้องไปให้ผ่านคนอื่น จึงต้องโบกมือลาวงการไปนับจากบัดนั้นจนบัดนี้

เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 เหตุการณ์ย่อมแรงกว่าเดิมเพราะเงินอัดฉีดจากกองทุนถูกปรับเพิ่มเป็นเหรียญทอง 2 ล้านบาท สำหรับทีมชุด 12 คน เป็นเงิน 24 ล้านบาท เงินก้อนดังกล่าวจะถูกขอหักหัวคิวเป็นรายบุคคลครบทั้ง 12 คน ขึ้นอยู่กับพรรษาในทีมชาติของนักกีฬา

ส่วนทีมเดี่ยว ส่งชื่อ 5 คน ก็เป็นเงิน 10 ล้านบาท หัก 50 เปอร์เซ็นต์ให้โค้ชและผู้จัดการทีมก็เป็นเงิน 5 ล้านบาท ส่วนอีก 5 ล้านบาท จะเอาไปแบ่งนักกีฬาที่ไม่ได้มาแต่ร่วมซ้อมอยู่ที่แคมป์เช่นเดิม

นักกีฬาส่วนมากไม่กล้าออกมาเปิดเผยข้อมูลเพราะกลัวจะไม่ถูกเรียกมาเล่นทีมชาติอีก แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่อึดอัดใจ มันถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายบริหาร นายกฯนิด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รวมไปถึง บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ, รมต.ปุ๋ง สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.กีฬา, บิ๊กก้อง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) รวมไปถึง บิ๊กต้อม ธนา ไชยประสิทธิ์ นายกสมาคมกีฬาตะกร้อฯป้ายแดง ต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง

ไม่ปล่อยให้ขบวนการเหล่านี้บั่นทอนทำลายการกีฬา

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสังคายนากันใหม่

เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ บิ๊กก้อง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ประกาศตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาคนกระทำผิดแล้ว ที่สำคัญผู้ว่าการ กกท.ประกาศอีกว่า การหักเงินนักกีฬาเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

แย้มต่อไปกันอีกว่า หลังจบเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 จะมีการ ล้างไพ่ ทีมงานผู้จัดการทีม โค้ช สต๊าฟโค้ชกันใหม่หมดยกแผง

ชำระล้าง วงการกีฬา ที่มัวหมองจากปมหัวคิว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image