กกท. ผนึก ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ใช้พุทธศาสตร์การกีฬา พัฒนานักกีฬา

กกท. ผนึก ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ใช้พุทธศาสตร์การกีฬา พัฒนานักกีฬา

“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ กกท. โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พระมหาสมบูรณ์ วุฑฒิกโร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, นายปรีชา ลาลุน รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย, นางนิตยา เกิดจันทึก ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬาอาชีพ, คณะผู้บริหาร กกท., คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสื่อมวลชน ร่วมพิธี ณ ห้องศรีนครินทร์ 2 ชั้น 9 โรงแรมเดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

ดร. ก้องศักด ยอดมณี กล่าวว่า กกท.ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต้องขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้ร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งหน่วยงานทั้งสองได้ตระหนักถึงบทบาท และการพัฒนาทางวิชาการให้แก่นักกีฬาทีมชาติไทย มีความประสงค์ที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตรพุทธศาสตร์การกีฬาเชิงบูรณาการกับการฝึกนักกีฬาทีมชาติไทย โดยใช้กระบวนการ การทำสมาธิควบคุมอารมณ์ให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง การทำงานและแข่งขันกีฬาตามศักยภาพได้อย่างมีความสุข หรือประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาได้

“เนื้อหาสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลง มีวัตถุประสงค์หลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานักกีฬาโดยตรง อาทิ การทำสมาธิ ควบคุมอารมณ์ การพัฒนาองค์ความรู้วิจัย วิชาการ การจัดโปรแกรมการฝึกนักกีฬาทีมชาติไทย ก่อนและระหว่างการแข่งขันรวมถึงการบริหารองค์กรและแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชรัฐประศาสนศาสตร์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาในด้านสุขภาพจิต ตามแนวทางพุทธศาสตร์การกีฬา ในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่จะได้นำเรื่องของจิตวิทยามาใช้ในการเตรียมความพร้อมของนักกีฬาในการไปชิงชัยที่มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดคือ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์ 2024 เรื่องของจิตวิทยาการกีฬาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อมีความพร้อมของร่างกายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของจิตใจ”

Advertisement

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล สุยะพรหม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยินดีที่จะให้การสนับสนุน กกท. ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการนำเรื่องของจิตวิทยาเข้าฝึกสอนให้กับนักกีฬาทีมชาติไทย อาทิ การทำสมาธิ ควบคุมอารมณ์ เมื่อมีความพร้อมของร่างกายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของจิตใจ ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชการ การพัฒนาหลักสูตรพุทธศาสตร์การกีฬาเชิงบูรณาการกับการฝึกนักกีฬาทีมชาตินั้น จะสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาความสามารถของนักกีฬาทีมชาติไทย ได้ในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาทีมชาติไทยในด้านสุขภาพจิตตามแนวทางพุทธศาสตร์การกีฬา,การจัดศึกษาเชิงบูรณการกับการทำงาน และการฝึกนักกีฬา โดยใช้กระบวนการการทำสมาธิ ควบคุมอารมณ์ และการบริหารองค์กร, การพัฒนาองค์ความรู้ วิจัย วิชาการ การบริหารองค์กรและการฝึกนักกีฬา โดยใช้กระบวนการทำสมาธิ ควบคุมอารมณ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารองค์กร, จัดโปรแกรมการฝึกนักกีฬาทีมชาติไทย รวมทั้งใช้กระบวนการทำสมาธิ ควบคุมอารมณ์ในนักกีฬาทีมชาติ ทั้งก่อน และระหว่างการแข่งขัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image