หมอชี้โควิดยังน่าห่วงไปอีกระยะ ยันฉีดวัคซีนกันตาย ชี้สลับชนิดตามทรัพยากรที่มี

หมอชี้โควิดยังน่าห่วงไปอีกระยะ ยันฉีดวัคซีนกันตาย ชี้สลับชนิดตามทรัพยากรที่มี

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ ศ.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ร่วมเวทีเสวนาวิชาการ “วัคซีนโควิด-19 สำหรับสื่อมวลชน”

นพ.โสภณกล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 เดือน ก.ค. เรามีผู้ป่วยรายวันสูง เฉลี่ย 9 พันกว่าราย ผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย เป็นช่วงที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงที่สุด และมีการระบาดเกิดหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เกิดจากคนที่ทำงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อปิดสถานประกอบการก็เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานของกรมควบคุมโรค เร่งป้องกันและสอบสวนคุมโรคเต็มที่ คาดว่า สถานการณ์จะอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง ที่นอกเหนือจากมาตรการส่วนบุคคล เรื่องวัคซีนเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ต้องเร่งรัด

นพ.โสภณกล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เหมือนกับป้องกันไม่ให้เกิดการป่วยด้วยวิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แม้ว่าฉีดแล้วก็ติดเชื้อได้ เพราะเป้าหมายหลักของวัคซีน คือ ป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต วัคซีนทุกตัวในขณะนี้ไม่ว่าที่มีในไทยหรือยังไม่มี เมื่อฉีดแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อได้ แต่หากติดเชื้อก็ป่วยไม่รุนแรง และโอกาสเสียชีวิตน้อยลง เมื่อเทียบกับคนไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้น บุคลากรสาธารณสุขทั่วโลก เน้นย้ำความสำคัญเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกัน ไม่ให้เกิดความสูญเสีย และต้องติดตามข้อมูลเป็นระยะ เพราะมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส วัคซีนอาจได้ผลดีกับเชื้อที่เคยเกิดขึ้นปีที่แล้ว เพราะวัคซีนผลิตออกมาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อมีการกลายพันธุ์ ก็มีโอกาสที่ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง

Advertisement

นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยสั่งวัคซีนมา 2 ตัว โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีการจองไว้มากที่สุด 61 ล้านโดส ที่เป็นวัคซีนหลัก แต่เมื่อเราพบการระบาดในเดือน ธ.ค.63 เราจึงจัดหาวัคซีนซิโนแวค และเป็นวัคซีนที่เราซื้อได้ในเวลาเร่งด่วนในขณะนั้น และการฉีดซิโนแวคก็ส่งผลให้บุคลากรแพทย์ค่อนข้างปลอดภัย เป็นการนำมาเสริมขณะรอวัคซีนตัวอื่น อย่างไรก็ตาม เราจะมีวัคซีนแอสตร้าฯ และซิโนแวค รวมๆ กันเดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อให้เรามีวัคซีนใช้เพียงพอ โดยกำลังการฉีดของไทยประมาณ 3 แสนโดสต่อวัน

ด้าน นพ.พรเทพกล่าวว่า ขณะนี้ กทม.มีปัญหาเรื่องการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เราตั้งใจตั้งแต่ต้นว่า เดือนมิ.ย.-ก.ค. เราจะระดมฉีดใน 2 กลุ่มนี้ก่อน แต่ปรากฏว่าในการระบาดของกทม. จึงมีการระดมปูพรมฉีด และผู้สูงอายุบางส่วนที่มีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงวัคซีน ไม่ยอมมารับวัคซีน ทำให้การฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุไม่ดีเท่าที่ควร อยู่ที่ประมาณ 30% และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคอีก 40% และเราหวังว่า 2 สัปดาห์ที่จะถึง เราจะระดมฉีด 2 กลุ่มนี้ให้ได้ 70% เพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิต เราก็อยากประชาสัมพันธ์ให้ 2 กลุ่มนี้ไปโรงพยาบาลที่เคยมีประวัติรักษา แจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีน หรือลงทะเบียนไทยร่วมใจ เครือข่ายมือ หรือร้าน 7-11 เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงนี้ได้รับวัคซีนก่อน

“หวังว่าฉีดแล้วการป่วยของคนกรุงเทพฯ จะลดลงแต่ดูกราฟแล้ว กรุงเทพฯ มีข่าวดีว่า จำนวนผู้ป่วยลดลง ในช่วงวันที่ 10 ก.ค. เป็นต้นมา ก็ลดลงมาตลอด จาก 3,191 ราย วันนี้เหลือ 2,224 ราย แต่อย่างไรก็อย่าประมาณ ไม่ใช่ชีวิตเสี่ยง ลดการออกนอกบ้านที่ไม่จำเป็น หากอยู่ในบ้านก็ให้สวมหน้ากาก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ” นพ.พรเทพกล่าว

Advertisement

นพ.พรเทพกล่าวว่า เรามีมติของคณะกรรมการวิชา ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ว่า 1.เราจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ วัคซีนเรามีในมือต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ป้องกันการป่วย การตายให้ตาย ด้วยการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์เดลต้า หรือ 2.ผู้ที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็มแล้ว ขอรออีกประมาณ 1 เดือน จะฉีดกระตุ้นเป็นแอสตร้าฯ เพื่อให้มีภูมิป้องกันเดลต้า แต่ขอให้เข็ม 3 ฉีดให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยก่อน

“ประเด็นที่ผมไม่ชอบเลย คือ สื่อไปตัดคำให้คนเข้าใจผิด องค์การอนามัยโลกไม่ได้พูดตามที่สื่อบางสื่อไปตัดถ้อยคำ ทำแบบนี้บาปกรรมมาก ผมไม่ได้แช่งท่านนะ แต่ทำแบบนี้บาปมาก ทำให้วุ่นวายหมด ไปตัดทอนจนสับสน ขอให้หยุด ขอให้พี่น้องสื่อมวลชนไปสื่อสารว่า องค์การอนามัยโลกที่เจนีวา บอกว่าสลับวัคซีนทำได้ หากมีผลงานวิจัยมารองรับ และเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุข ซึ่งผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวิชาการของ พ.ร.บ.โรคติตต่อฯ ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ และขอให้สื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมด” นพ.พรเทพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image