รายงานการศึกษา : ยก..อาณาจักรทวารวดี สู่เกม VR ล่าโบราณวัตถุเสมือนจริง

รายงานการศึกษา : ยก..อาณาจักรทวารวดี สู่เกม VR ล่าโบราณวัตถุเสมือนจริง

“เกม” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สร้างความผ่อนคลาย บางประเภทยังเป็นแหล่งทรัพยากรความรู้มากมาย และหลากหลาย ที่เข้าไปเรียนรู้ และค้นหาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลกได้ ซึ่ง น.ส.ศิรประภา ภูวงศ์ นายธนภัทร เขตร์สุพรรณ และ น.ส.วันทนีย์ ธนิศรทวีสิน นักศึกษาชั้นปี 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร ได้ร่วมกันผลิต “เกมล่าโบราณวัตถุในสภาพแวดล้อมโบราณสถานเสมือนจริง” โดยนำเทคโนโลยีอุปกรณ์การเล่นเกม Virtual Reality (VR) เข้ามาใช้

ศิรประภา หรือ น้ำหนึ่ง หนึ่งในทีมผู้ผลิตเกม เล่าว่า สนใจการเล่นเกม และชอบศึกษาประวัติศาสตร์ จึงอยากนำมาทำเป็นผลงานตอนเรียนจบ ซึ่งเพื่อนๆ ในกลุ่มมีแนวคิดเหมือนกัน จึงชวนกันศึกษาตั้งแต่อยู่ชั้นปี 2 โดยมี ผศ.ดร.ฉันทนา ปาปัดถา และ ผศ.ดร.ดลพร ศรีฟ้า อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย เป็นที่ปรึกษา

โดยเริ่มจากการศึกษาประวัติของอาณาจักรทวารวดี หนึ่งในแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึง มีวัตถุโบราณ และสิ่งปลูกสร้างที่น่าสนใจ จึงเริ่มสืบค้นจากกรมศิลปากร เข้าไปเก็บรวบรวมภาพ และข้อมูลที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และ พช.พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม จากนั้นรวบรวมข้อมูลนำมาสร้างเป็นเกมล่าโบราณวัตถุฯ ใช้เทคโนโลยีเกม VR ซึ่งเป็นเกมจำลองในรูปแบบเกมผจญภัยตามล่าหาสมบัติ ผสมผสานระหว่างความแฟนตาซีกับศิลปะโบราณวัตถุ และใช้โบราณสถานที่จริง มาผสมผสานกันให้เข้ากับเกม และแทรกเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ทำให้ผู้เล่นได้สัมผัสประสบการณ์จำลองที่เสมือนจริง และยังเป็นการอนุรักษ์ด้านประวัติศาสตร์

Advertisement

“เยาวชนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีปัจจุบัน เพิ่มความสนุก ความตื่นเต้น ผ่านลูกเล่นการค้นหาสิ่งของ อย่างเหรียญโบราณ วัตถุโบราณที่หายาก เข้าไปในเกมด้วย” น้ำหนึ่ง เล่า

ธนภัทร หรือแบงค์ เสริมว่า การทำงานแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การค้นหา และเรียบเรียงข้อมูล เพื่อนำมาวางแผนการทำงาน จากนั้นวาด Story Board ออกแบบฉากด้วยมือ และนำไปวาดโดยใช้โปรแกรม Adobe Illustrator ปั้นโมเดล ปั้นฉาก ทำพื้นผิวด้วยโปรแกรม Autodesk 3D Studio Max สุดท้ายเขียนระบบเกม Virtual Reality โดยนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับจากห้องเรียน

Advertisement

“คิดว่าเกมนี้ นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับศิลปะโบราณวัตถุ อาทิ วัตถุโบราณ เศียรพระพุทธรูป เหรียญกษาปณ์ ประติมากรรมปูนปั้นสิงห์ ยังช่วยส่งเสริมทักษะการสังเกตให้กับเยาวชนอีกด้วย” แบงค์ กล่าว

ผศ.ดร.ฉันทนา ปิดท้ายว่า สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย เน้นสร้างนักปฏิบัติการมัลติมีเดีย แอนิเมชั่น และเกมมืออาชีพ ที่สร้างสรรค์ผลงานให้สอดรับกับสื่อในยุคดิจิทัล โดยเน้นผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมัลติมีเดีย การออกแบบเทคนิคพิเศษ การออกแบบอินโฟกราฟิก โมชั่นกราฟิก แอนิเมชั่น การพัฒนาเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เกม 2 มิติ และ 3 มิติ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR และ VR เพื่อการต่อยอด โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image