ปราบคอร์รัปชั่น : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวคราวขณะนี้ มีแต่ข่าวไม่ดีโถมเข้าหารัฐบาลเป็นระลอกๆ ตั้งแต่ข่าว แจ๊ก หม่า ข้ามประเทศไทยไปเลือกมาเลเซียเป็นศูนย์กระจายสินค้า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยโดยชัยภูมิที่ตั้งก็ดี ขนาดของตลาดก็ดี คุณภาพของแรงงานก็ดี คุณภาพของผู้บริหารบริษัทเอกชนก็ดี น่าจะมีอยู่เหนือมาเลเซียเป็นอันมาก หลายคนคิดว่าเป็นเพราะระบบการเมืองและระบบราชการของเรา โปร่งใสน้อยกว่ามาเลเซีย

เหตุผลสำคัญของการทำรัฐประหารครั้งนี้คือ การประกาศว่าจะเข้ามาขจัดและปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง พวกที่ร่วมสนับสนุนการทำรัฐประหารกันมาก็เพราะเชื่อว่าปัญหาสำคัญของประเทศไทยก็คือปัญหาคอร์รัปชั่น รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังรัฐประหารก็เป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่อำนาจอยู่กับคนคนเดียว ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ย่อมเป็นกฎหมาย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ซึ่งก็ได้มีการใช้อยู่บ่อยๆ โดยไม่ต้องมีระบบตรวจสอบ ไม่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะสภานิติบัญญัติฯก็เป็นสภาแต่งตั้ง สามารถสั่งได้ ไม่ต้องไปตอบกระทู้ ไม่ต้องมีการอภิปรายทั่วไป ไม่ต้องมีญัตติไม่ไว้วางใจ กฎหมายก็ผ่านได้โดยง่ายเพราะเป็น “สภาฝักถั่ว” ผลการนับคะแนนก็จะผ่านด้วยคะแนนข้างมากอย่างท่วมท้นเสมอ

ประชาชนก็ให้ความไว้วางใจ ไม่ต่อว่าอะไร เพราะเป็นรัฐบาลของคนดี ไม่ต้องมีการคานอำนาจ ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีการตรวจสอบ การทุจริตประพฤติมิชอบก็ไม่ควรจะมี เพราะไม่มีนักการเมืองเข้ามามีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีทั้งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พรรคที่เคยเป็นรัฐบาลก็อาจจะไม่เก่งในการเป็นฝ่ายค้าน แต่พรรคที่เคยมีชื่อเสียงและชำนิชำนาญในการเป็นฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแกนนำแต่ละคนก็ล้วนชำนิชำนาญในการอภิปรายตรวจสอบรัฐบาล ต่อต้านเผด็จการทหารและเชิดชูระบอบประชาธิปไตย

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยพูดไว้เป็นอมตะวาจา ว่า “ผมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา” เพราะเชื่อในระบบมากกว่าบุคคล ก็พลอยเงียบหายไปด้วย

Advertisement

เมื่อได้เข้าปกครองประเทศมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แทนที่พวกเราจะไม่ได้ยินเรื่องความไม่ชอบมาพากล เรื่องที่น่าสงสัยและทำกันอย่างเปิดเผย เช่น การซื้อขายที่ดินราคาสูง การนำเงินราชการไปฝากในบัญชีส่วนตัวเพื่อเอาดอกเบี้ย การซื้อเครื่องมือตรวจระเบิดที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้ การสร้างฝายที่ใช้การไม่ได้ การประมูลงานก่อสร้างในเขตทหาร ข่าวฉาวโฉ่ว่าบริษัทโรลส์-ลอยซ์จ่ายเงินสินบน เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาซื้อเครื่องยนต์โรลส์-ลอยซ์ในบริษัทการบินไทย และบริษัท ปตท. จำกัด แต่ข่าวการติดตามผู้รับเงินก็เงียบหายไป การจะจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยกลุ่มนายทหาร 6 คนที่ใกล้ชิดกับผู้นำรัฐบาล โครงการซื้อเรือดำน้ำให้กองทัพเรือโดยซื้อ 2 ลำ แถม 1 ลำ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ค้านกับความรู้สึกของคนโดยทั่วไป รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งหมด จนกลายเป็นหัวข้อสนทนาของคนทุกระดับ ตั้งแต่คนขับรถแท็กซี่ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง เพราะไม่มีใครเชื่อและเห็นด้วย กลายเป็นเรื่องฉงนสงสัยว่าจะเอาไปใช้รบกับใคร สู้เอาเงินก้อนนี้ให้กองทัพเรือไปปฏิรูปและพัฒนากองทัพเรือทางอื่นด้วยเงินจำนวนเดียวกันน่าจะดีกว่า

ความรู้สึกมั่นใจที่เคยหวังไว้ว่า รัฐบาลทหารและข้าราชการน่าจะดีกว่ารัฐบาลโดยนักการเมือง ก็ค่อยๆ ละลายหายไป ความรู้สึกว่าระบบการตรวจสอบ “ความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา” น่าจะเป็นวาทกรรมที่ถูกต้องที่สุด เพราะประชาชนทุกคน ผู้เสียภาษี มีสิทธิที่จะเปลี่ยนรัฐบาล มีสิทธิที่จะเปลี่ยนสมาชิกสภานิติบัญญัติได้โดยสันติวิธีทุกๆ 4 ปี

ถ้าหากว่าได้รัฐบาลที่ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใส ก็ไม่ต้องไปโทษใคร ต้องโทษตัวประชาชนเอง แม้ว่าในระยะแรกๆ อาจจะมีนักการเมืองไม่ดีเข้ามาในสภา เพราะระบบการกลั่น
กรองของพรรคการเมืองไม่ดีพอ พัฒนาการของพรรคการเมืองยังไม่มากพอ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้เรื่องการเมืองการปกครองของสังคมมีบทเรียนมากขึ้น ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงก็จะบีบบังคับให้พรรคการเมืองต้องปรับตัว และกลายเป็นพรรคการเมืองของประชาชน ไปในที่สุด

Advertisement

แต่ระบบการเมืองที่ไม่สามารถทำลายวัฏจักรความชั่วร้าย (political vicious circle) ระบบการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงถาวรต่างหาก ที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงต้องจ่ายด้วยต้นทุนที่แพงโดยที่ไม่มีสิทธิตรวจสอบ

การเสนอร่าง พ.ร.บ.บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่จะทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในการบริหารราชการของรัฐบาลทหาร ซึ่งได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร ที่ทำให้เชื่อว่าจะเข้ามาปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไป ที่เห็นก็คือเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นจะถูกตรวจสอบเฉพาะฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น แต่ถ้าเป็นฝ่ายตนหรือฝ่ายพันธมิตรของตนก็จะไม่ถูกตรวจสอบ ผู้ที่นำเอาเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมาเปิดเผยก็คือผู้ที่เคยร่วมรัฐบาล แต่ต้องออกเพราะขวางการตั้งบรรษัทดังกล่าว

เป็นที่น่ายินดีที่ สตง.ประกาศจะตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง ที่ร่ำรวยผิดปกติและไม่เคยยื่นเสียภาษีเงินได้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะทุกคนต้องยื่นแบบรายการเสียภาษีเงินได้ เพราะต้องรับเงินเดือนและถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในขณะดำรงตำแหน่ง หากไม่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้เพื่อขอคืนภาษี หรือต้องเสียภาษีเพิ่มเพราะมีเงินได้จากหลายทาง กรมสรรพากรก็จะมีหนังสือมาเตือนให้ไปยื่นและจะต้องจ่ายเงินเพิ่มและค่าปรับ ถ้าหลุดรอดไปได้ก็เท่ากับการจัดเก็บภาษีไม่มีประสิทธิภาพดีพอ ต้องปรับปรุงกฎระเบียบวิธีการจัดเก็บให้รัดกุมกว่านี้และจะเป็นธรรมกับผู้ที่จ่ายภาษีเงินได้ทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งส่วนมากคือมนุษย์เงินเดือน

เรื่องความโปร่งใส เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภาที่มีวุฒิสภามาร่วมในการเลือกตัวผู้นำรัฐบาล และผู้นำเป็นผู้เลือกคณะรัฐมนตรี ส่วนข้าราชการนั้นก็เป็นผู้ดำเนินการให้และมีผลประโยชน์ร่วมด้วย แต่การเสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งซ้ำซ้อนกับบริษัท ปตท. แม้ว่าจะเป็นเพียงการเสนอกฎหมาย ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่ก็เป็นการส่อไปในทางที่ประชาชนไม่ไว้วางใจ แม้ว่ามีเหตุผลที่จะเปิดให้รัฐบาลมีทางเลือกมากขึ้นกว่าเดิมคือ ประมูลให้สัมปทานในการสำรวจขุดเจาะเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลอาจจะเลือกระบบลงทุนร่วมกันแล้วแบ่งปันผลผลิต รับความเสี่ยงร่วมกัน หรือจะได้ก็ได้ด้วยกัน หรือถ้ารัฐบาลรู้แน่ๆ แล้วว่ามีก๊าซธรรมชาติที่แปลงไหน จุดไหน ก็อาจจะจ้างขุดเจาะเสียเลยทีเดียว แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตั้งหน่วยงานใหม่เป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นเรื่องย้อนยุคกลับไปก่อนที่จะมีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ “ความโชติช่วงชัชวาล” อันเกิดจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ในยามที่น้ำมันมีราคาแพงขึ้นทุกวันเพราะการรวมกลุ่มของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปค

เหตุการณ์อาจจะลุกลามและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อสังคมไปทั่ว จนรัฐบาลต้องสั่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ส่งเรื่องไปให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาใหม่ เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลเป็นอย่างมาก

นอกจากจะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลในการบริหารพลังงานของชาติแล้ว วิธีการเสนอกฎหมายก็ทำอย่างไม่ถูกต้อง เพราะกระทำการอย่างมีเงื่อนงำ เพราะร่างกฎหมายเดิมมีแต่เพียงขยายอำนาจให้รัฐบาลมีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะต้องใช้วิธีประมูลให้สัมปทานขุดเจาะอย่างเดียว เมื่อสภานิติบัญญัติฯลงมติในวาระแรกรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแล้ว กรรมาธิการสามัญที่จัดตั้งขึ้นจะแปรญัตติเกินกว่าหลักการไม่ได้ หากกระทำไปก็คงจะต้องมีผู้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นโมฆะอยู่ดี นอกจากจะรีบดำเนินการก่อนที่ศาลจะวินิจฉัย ซึ่งเรื่องก็คงจะยุ่งและกลายเป็นประเด็นการเมืองไปในทันที เคราะห์ดีที่รัฐบาลถอยเรื่องนี้ก่อนที่เรื่องจะลุกลามไป

ข้างหน้าก็คงจะมีเรื่องอย่างนี้อีก มีสถานการณ์อย่างนี้อีก จะมีเรื่องที่ทำผิดอยู่เรื่อยๆ ผิดที่มักจะใจร้อน ไม่ระมัดระวัง เป็นธรรมชาติของการเมืองขาลง เพราะเวลาเหลือน้อย

เรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นเรื่องใหญ่ทางการเมือง

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image