5 คำถามกับ “รศ.ดร.สิริพรรณ” ทำไมเดโมแครตกลับมาคว้าชัย และ อนาคตของ”ทรัมป์”

หลังทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า พรรครีพับลิกันสามารถรักษาเสียงข้างมากในวุฒิสภาไว้ได้  พรรคเดโมแครต สามารถคว้าชัยกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ในการเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี  จะส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งและการทำงานของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไร

“มติชนออนไลน์” สนทนาเรื่องนี้กับ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์การเมืองสหรัฐฯ หลังทราบผลการเลือกตั้งกลางสมัยสหรัฐฯ

1.ทำไมเดโมแครตกลับมาชนะเลือกตั้งได้ 

การกลับมาชนะการเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ประหลาดอะไร เพราะโดยสถิติแล้วพรรคที่กุมเสียงข้างมากในสภา และเป็นพรรคเดียวกับประธานาธิบดี มักจะแพ้เลือกตั้งในช่วงเลือกตั้งกลางเทอม หากย้อนกลับไป ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี โอบามา,คลินตัน การเลือกตั้งกลางเทอมของสองประธานาธิบดี ก็แพ้เหมือนกัน การแพ้เลือกตั้งดังกล่าว เหตุผลหลักคือเรื่อง หลักการถ่วงดุลอำนาจของคนอเมริกัน เป็นเหมือนการพยายามดึงการเมืองกลับสู่ความสมดุลในสภาคองเกรส ซึ่งเมื่อครั้งเลือกตั้งในปี 2016 พรรครีพับลิกันชนะ ควบคุมทั้งประธานาธิบดี และเสียงข้างมากในสภาล่าง และ สว.

Advertisement

สำหรับลักษณะเฉพาะของการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็มี เช่น ความต้องการสื่อสารหรือบอกไปยังประธานาธิบดีทรัมป์เอง ว่านโยบายหลายอย่างของเขาอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับ ตัวอย่างนโยบายที่อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมากเช่น นโยบายการลดภาษีสำหรับชนชั้นกลาง นโยบายการเลิกสิทธิ์การเป็นพลเมืองของคนที่เกิดในประเทศ การใช้ความกลัวมาขู่ หรือนโยบายเกี่ยวกับการอพยพ การเลือกตั้งครั้งนี้เสมือนเป็นพลังตอบโต้จากคนซึ่งเป็นฐานเสียงของเดโมแครต โดยเฉพาะผู้หญิง และคนรุ่นใหม่ ครั้งนี้เราจะเห็นว่ามีผู้หญิงเข้าสภามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ตัวเลขเท่าที่มีตอนนี้คือ 112 คน

การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ เพราะมีผู้หญิงมุสลิมเข้ามาเป็นสว.สองคน มีผู้ว่าการรัฐที่เปิดเผยว่าเป็นเกย์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์  และยังมีผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุด ได้เป็น สส. 1 คน  นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้เราได้เห็นการระดมกันของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เห็นว่านโยบายของทรัมป์ดึงดูด และค่อนข้างกลัวทิศทางของประเทศที่อาจจะเดินไปสู่การแบ่งแยก นี่จึงเป็นการกระตุกให้ประเทศกลับมาอยู่จุดสมดุลเท่าที่จะทำได้ การถ่วงดุลทางอำนาจในครั้งนี้ จึงไม่ใช่การถ่วงดุลกันของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเดียว แต่เป็นการถ่วงดุลทางอำนาจของสังคมด้วย

2.มีผลการเลือกตั้งของเขตไหนที่น่าสนใจ

Advertisement

หลักๆเช่นที่มลรัฐจอร์เจีย คือ Stacey Abrams ซึ่งเป็นเดโมแครต กับ Brian Kemp ซึ่งเป็นรีพับลิกัน Brian Kemp ชนะในพื้นที่นี้เพราะเคยเป็นฐานเสียงของรีพับลิกันมาก่อน แต่ที่คนสนใจเพราะ Brian Kemp  มีตำแหน่งเป็น Secretary of state ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง เหมือนกับว่าคุณจัดการเลือกตั้งแล้วคุณก็ลงแข่งเอง และการหาเสียงดูเหมือนจะใช้วิธีสาดโคลนใส่ Stacey Abrams  ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวสี ที่มีผู้สนับสนุนหลักคือโอปราห์ วินฟรีย์ สุดท้าย รีพับลิกันก็ชนะ  ผลการเลือกตั้งโดยรวม ส่วนใหญ่ก็คาดการณ์กันอยู่แล้วว่าเดโมแครตจะชนะในสภาคองเกรส ส่วนรีพับลิกันจะคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา

3.ผลการเลือกตั้งแบบนี้บอกอะไรกับอนาคตทางการเมืองของทรัมป์

หลักๆคือนโยบายที่ทรัมป์โปรโมต ในอีกสองปีอาจทำไม่ได้หรือทำได้ยาก เช่น นโยบายต่อต้านผู้อพยพ การลิดรอนสิทธิ์ของผู้ที่อพยพเข้ามา นโยบายด้านเฮลท์แคร์ ซึ่งทรัมป์โฆษณามากว่าจะยกเลิก Obama Care อาจทำได้ยาก ที่น่าสนใจคือการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างขาขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.7 ซึ่งต่ำมาก ถ้าเทียบกับสมัยโอบามา ซึ่งอยู่ที่ 9.8 แต่เดโมแครตก็ยังชนะได้ แสดงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมันสะท้อนความแตกแยกในประเทศ

ในส่วนของทรัมป์นั้นนโยบายหลายอย่างอาจจะทำได้ยากขึ้น และช่วงหลังเมื่อคะแนนน้อยลง ทรัมป์ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเขาควรจะซอฟท์ลงมากกว่านี้ ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ก็อาจจะเบรกให้ทรัมป์ ต้องระมัดระวัง เพราะการเลือกตั้งอีกสองปีข้างหน้า รีพับลิกันอาจแพ้มากกว่านี้ก็ได้ รวมถึงหากทรัมป์จะลงเลือกตั้งอีกครั้งก็จะต้องปรับ ท่วงทำนองท่าที แต่สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนอันนึงคือนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายกับจีนเรื่องกำแพงภาษี อันนี้คือนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากเดโมแครตด้วย

แต่นโยบายหลายอย่างในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องภาษี เรื่องเฮลท์แคร์ จะเห็นการตรวจสอบมากขึ้น การตัดสินใจของทรัมป์หลายอย่างจะยากขึ้น ก็คล้ายกับสมัยประธานาธิบดี โอบามา ช่วงหลังเลือกตั้งกลางเทอม ที่ก็ทำให้เขาไม่สามารถผลักดันนโยบายเฮลท์แคร์ไปให้ถึงที่สุดอย่างที่ต้องการได้ เพราะต้องประนีประนอม นี่คือภาพสะท้อนกลไกของประชาธิปไตยซึ่งอาจจะไม่เต็มร้อย แต่จะเห็นว่าในที่สุดประชาชนก็จะให้อำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลเสียงของฝ่ายบริหารได้ดีที่สุด

 

(Photo by Mark RALSTON / AFP)

4.ตลอดสองปีที่ผ่านมา การวิจารณ์-ต่อต้าน ทรัมป์ เยอะมาก ทำไมคะแนนของรีพับลิกันก็ยังสูงอยู่มาก เขตที่เดโมแครตชนะหลายพื้นที่ก็ชนะแบบสูสี

ผลการเลือกตั้งมันสะท้อนปัญหาของการเมืองอเมริกันตอนนี้จริงๆ คือมันสะท้อนความแตกแยกในเชิงวัฒนธรรม อัตลักษณ์ ความเชื่อและอุดมการณ์ ของสังคมอเมริกัน บางคนก็วิเคราะห์ว่าระบบการเมืองมันเริ่มผิดปกติ เริ่มรวน แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นพังทลาย เช่นปัญหาความกลัวที่ไม่จริง ปัญหาความแตกแยกในเชิงอัตลักษณ์ของคนกลุ่มน้อย ที่เป็นพลังและฐานเสียงของเดโมแครต เช่น คนผิวสี ลาตินอเมริกา เอเชีย หรือแม้แต่อิสลาม กับฝั่งรีพับลิกัน ที่กระแสอนุรักษ์นิยมสุดขั้วค่อนข้างแรงขึ้น โดยเฉพาะหลายมลรัฐในตอนใต้ ซึ่งเป็นการตอบโต้ชนกลุ่มน้อยในเดโมแครต ตรงนี้เป็นปัญหาในสังคมอเมริกันซึ่งอาจจะต้องหาผู้นำที่จะสามารถประสานความแตกต่างตรงนี้ได้ ขณะที่ทรัมป์ ก็เป็นผู้นำที่ฉกฉวยผลประโยชน์จากความแตกแยกในเชิงอัตลักษณ์และวัฒนธรรม อุดมการณ์ ผลการเลือกตั้งมันจึงสะท้อนความแตกแยก คิดว่าคงต้องรอการเลือกตั้งคราวหน้า ว่าประเทศจะหาทางความสมดุลของระบบการเมือง ได้ดีขึ้นกว่านี้หรือเปล่า

5 การเปลี่ยนดุลอำนาจจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ของสหรัฐฯ จะมีผลกระทบอะไรกับเมืองไทยไหม

คิดว่าไม่น่าจะมีผล การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐจะเปลี่ยนแปลงการถ่วงดุลการเมืองในประเทศเป็นหลัก เพราะฝ่ายบริหารก็ยังเป็นทรัมป์และรีพับลิกันอยู่ ส่วนสภาที่แสดงบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศมากกว่าคือวุฒิสภา ไม่ใช่สส. ไม่ชัดเจนว่าไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ในเชิงนโยบายกับไทย

ชาวสหรัฐฯ ตื่นตัวใช้สิทธิล้นหลาม

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รอลุ้นผลเลือกตั้งกลางเทอม มะกันตื่นตัวใช้สิทธิล้นหลาม

เลือกตั้งกลางเทอมมะกันดุเดือด เดโมแครตกลับมาครองสภาผู้แทนฯ ส่วนรีพับลิกันยังครองวุฒิสภา

ดาราดังแห่ “เซลฟี่” โชว์ และ ชวนคนอเมริกันไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันคึกคัก

เผยโฉม 6 ผู้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่การเมืองอเมริกัน

เจน ฟอนดา นางเอกรุ่นใหญ่เผย การเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดในชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image