กรมชลฯ…สร้างโอกาสในวิกฤต

    แค่เกิดอุทกภัยสักหนหนึ่ง ผู้ประสบภัยก็แทบจะทนรับความเสียหายไม่ไหวแล้ว แต่การมาของอ่างเก็บน้ำพร้อมกับปริมาณน้ำมหาศาล เรียกว่าเป็นการพลิกชีวิตคนที่ต้องเสียสละที่อยู่ที่กินให้จมน้ำ เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก

    แน่นอนว่ากรมชลประทานผู้รับผิดชอบการสร้างอ่างเก็บน้ำ ไม่ปล่อยให้น้ำตาของชาวบ้านต้องไหลอย่างเปล่าประโยชน์ โดยการซับน้ำตาด้วยการชดเชยค่าที่ดิน, สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรอย่างสมน้ำสมเนื้อ นอกจากนี้ยังเยียวยาระยะยาวด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพราะชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องสูญเสียที่ทำกิน สูญเสียอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง การสร้างงานสร้างอาชีพจึงเปรียบได้กับการให้เบ็ดตกปลา ไม่ใช่แค่ให้ปลา

     พรสิริ คณะใหญ่ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพโดยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินการ

    “กรมชลประทานสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ แต่ลักษณะการสนับสนุนเป็นแบบกลุ่ม เขาต้องจัดตั้งกลุ่ม เงินงบประมาณที่ให้ไปก็จะหมุนเวียนอยู่ในกลุ่ม ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากเพราะชาวบ้านรวมกลุ่มกันได้”

Advertisement

    ชุมชนรอบอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร จ.ชลบุรี เป็นตัวอย่างของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ แล้วได้รับการเยียวยาจากกรมชลประทานในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านอาชีพที่ชาวบ้านได้นำความรู้ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปมากมาย เช่น น้ำพริกสับปะรด ซอสสับปะรด เป็นต้น

    ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายภายในชุมชนเป็นหลัก แต่จะดีกว่าหากได้รับโอกาสให้คนนอกได้รู้จักของดีของชุมชน กรมชลประทานจึงพาชาวบ้านไปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สำนักงานของกรมชลประทาน กรุงเทพฯ

Advertisement

    สุรีย์พร ทรายนอก ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 บ้านเนินตะแบก เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ แล้วรับการส่งเสริมอาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร จนได้สินค้าเด่นประจำชุมชนคือ น้ำพริกสับปะรดและซอสสับปะรด

    “ที่หมู่บ้านปลูกสับปะรดเยอะ แต่ตั้งแต่ไดรับผลกระทบก็ไม่ค่อยมีรายได้ กรมชลประทานได้เข้ามาส่งเสริม โดยให้อาจารย์จากม.บูรพาเข้ามาช่วยพัฒนา สับปะรดเรามีเยอะ แต่ใครๆ ก็ทำสับปะรดกวน เลยลองทำเป็นน้ำพริกสับปะรดกับซอสสับปะรด ทีแรกไม่เป็นสับปะรดหรอกค่ะ แต่พวกเราลองดัดแปลงจนรสชาติดีเลย”

    ผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้เริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 2556 ผ่านไป 5 ปี สินค้าได้รับการตอบรับอย่างดี โดยเฉพาะเวลาไปจำหน่ายที่กรมชลประทาน กรุงเทพฯ ปัจจุบันกำลังพัฒนาสู่การเป็นสินค้า OTOP

    รูปแบบการทำงานของกลุ่มมีลักษณะเป็นสหกรณ์ มีเงินปันหุ้นแก่สมาชิก ที่ผ่านมาสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้ไม่น้อยทีเดียว

    สำหรับรสชาติก็แตกต่างจากน้ำพริกอื่นๆ ตรงที่ใช้เนื้อสับปะรดเต็มๆ รสชาติออกเปรี้ยวอมหวาน จะรับประทานแบบน้ำพริกทั่วไปก็อร่อย หรือจะเป็นวัตถุดิบของเมนูอื่นๆ อย่างปลาราดพริกก็ยอดเยี่ยม ส่วนซอสก็เต็มไปด้วยเนื้อสับปะรด รสชาติหวานเปรี้ยวกลมกล่อม แต่จุดเด่นที่เป็นจุดอ่อนด้วยของสินค้าสองอย่างนี้คือไม่ใช้สารกันบูด จึงเก็บไว้ได้ไม่นานมากนัก หากไม่แช่ตู้เย็นจะอยู่ได้ 4-5 วัน ถ้าแช่ตู้เย็นจะอยู่ได้เป็นเดือน

    รสชาติของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ใช่แค่ถูกปากคนไทย แต่ยังเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวจีนบ้างแล้ว ไม่แน่ว่าอนาคตนี่อาจเป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้คนในชุมชนนี้ และจะพลิกชีวิตชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบให้กลายเป็นชีวิตที่มีความสุขได้อย่างเหลือเชื่อ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image