นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สพฐ. คว้า 7 รางวัลวิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติ จากงาน International Innovation Competition in Canada 2018 (iCAN2018) ประเทศแคนาดา

    The International Innovation Competition in Canada 2018 (iCAN2018) เป็นการจัดงานประกวดแข่งขันผลงานการวิจัยและนวัตกรรมระดับนานาชาติ  จัดขึ้นโดยสมาคม Toronto International Society of Innovation and Advance Skills หรือ TISIAS ประเทศแคนาดา เป็นอีกหนึ่งเวทีที่กลุ่มนักวิจัย นักพัฒนานวัตกรรม นักเรียน นักศึกษา สถาบันการศึกษาวิจัยและผู้ประกอบการให้ความสนใจนำผลงานสร้างสรรค์ทางไอเดียและผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงและร่วมการประกวดแข่งขัน ซึ่งในปีนี้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักเรียนกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้รับคัดเลือกจากสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและการประดิษฐ์ไทย (Association of Thai Innovation and Invention Promotion) เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในงาน iCAN2018 จำนวน 3 ผลงาน โดยเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จำนวน 2 ผลงานและโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จำนวน 1 ผลงาน ในภาพรวมปีนี้ประเทศไทยส่งผลงานจากสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ของประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในเวที iCAN2018 ทั้งหมด 13 ผลงาน  ซึ่งการจัดงาน iCAN2018 ปีนี้ มีผลงานจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประกวดแข่งขันทั้งหมด 322 ผลงาน จาก 42 ประเทศทั่วโลก โดยการประกวดจัดเป็น 2 ระยะ ได้แก่ รอบพิจารณาคัดเลือกผลงานขั้นต้น (Preliminary rounds) ของประเทศและภูมิภาคต่างๆ ระหว่างวันที่ 15 มกราคม – 15 กรกฎาคม 2561 และรอบตัดสิน (Final rounds) วันที่ 1 กันยายน 2561 ณ North York Memorial Community Hall เมืองโตรอนโต  ประเทศแคนาดา โดยในปีนี้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สร้างผลงานด้านวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นจนสามารถคว้ารางวัลประเภทต่างๆ ได้ 7 รางวัล ดังนี้

    ผลงาน Film from Protein Fibroin Blended Chloroplast to Absorb Carbon Dioxide and Produce Oxygen ผลงานวิจัยนวัตกรรมของ นางสาวเสาวรส มีเนียม นางสาวพชรภรณ์ กาฬภักดี และนางสาวสิริกาญดา เตียงตั้ง นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี โดยมีนายศาสตรา พรหมอารักษ์ เป็นที่ปรึกษา คว้ามาได้ 3 รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ได้แก่ รางวัล Gold Medal  รางวัล the Best Invention of Thailand และรางวัล Special Award จาก CROATIA inova ประเทศโครเอเชีย

    ผลงาน Biodergradable Bag from Soybean Meal and Water Hyacinth Fiber Use Rubber as a Cementitious Material ผลงานวิจัยนวัตกรรมของ นายมนัสกวิน ภู่ภิญโญกุล และนางสาวนรญญา รุจนเวชน์ นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นที่ปรึกษา ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ Gold Medal และ Special Inventor Award

Advertisement

    ผลงาน Roofing Tiles from High Density Polyethylene (HDPE) and Rice Husk Ashes ผลงานวิจัยนวัตกรรม ของนายญาณันธร รักธรรม และนายสรวิช แวววีรคุปต์ นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นที่ปรึกษา ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ Gold Medal และ Special Inventor Award

    ทั้งนี้ยังมีผลงานนวัตกรรมของนักวิจัยบริษัททรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล Gold Medal จำนวน 2 ผลงาน  รางวัล Silver Medal จำนวน 2 ผลงาน และ รางวัล Special Inventor Award จำนวน 1 ผลงาน จากจำนวนผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดแข่งขัน 4 ผลงาน

Advertisement

     จากประสบการณ์ในการเข้าร่วมการประกวดแข่งขันผลงานวิจัยนวัตกรรมของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ในครั้งนี้ สามารถสร้างเครือข่ายนักวิจัยระดับนานาชาติและนำข้อเสนอแนะมาพัฒนาผลงานนวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับประเทศไทยในอนาคตได้ นอกจากนี้  ผลงานถุงเพาะชำย่อยสลายได้จากกากถั่วเหลืองและผักตบชวาโดยมีน้ำยางพาราเป็นวัสดุประสาน หรือ Biodergradable Bag from Soybean Meal and Water Hyacinth Fiber Use Rubber as a Cementitious Material อยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตรรับรองทรัพย์สินทางปัญญา นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image