‘เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์’ จัดเสวนาครั้งใหญ่แห่งปี ‘Next Step เกษตรไทย’ ระดมกูรู ภาครัฐ-เอกชน แนะทางรอดธุรกิจเกษตร หลังโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

‘เทคโนโลยีชาวบ้าน’ ในเครือมติชน จัดเสวนาใหญ่ ‘Next Step เกษตรไทย : ก้าวต่อไปธุรกิจเกษตรรับมืออย่างไร? หลังโควิดสู่โรคประจำถิ่น’ จัดเต็มผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ นำโดย ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ร่วมด้วยนักวิชาการ นักธุรกิจ และสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ชี้ทางออก หาทางรอดธุรกิจเกษตร แนะสร้างความแกร่งห่วงโซ่การผลิตภาคการเกษตร สร้างเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หนุนภูมิปัญญา เทคโนโลยี และนวัตกรรม ปั้นผลิตภัณฑ์เกษตรให้โดดเด่น พร้อมจับตา รถไฟลาว-จีน เปิดโอกาสมหาศาลให้ธุรกิจเกษตรไทย

  โดยภายในงาน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Next Normal : ธุรกิจเกษตรต้องปรับตัวอย่างไร? หลังโควิดสู่โรคประจำถิ่น ว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด และวิกฤตระดับโลกอื่นๆ อีกมากมาย แต่ในทุกวิกฤตมีโอกาสให้ไขว่คว้าเสมอ โดยความแข็งแกร่งของภาคการเกษตรของไทย คือ โอกาสท่ามกลางวิกฤต
“โอกาสของประเทศไทยคือการเจาะตลาดประเทศที่ไม่มั่นคงทางอาหาร เช่นประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศที่มีสภาพเป็นเกาะ นอกจากนี้ แม้แต่ประเทศมั่นคง เช่น ญี่ปุ่น ก็สามารถผลิตอาหารเพียงพอแค่ 37% เท่านั้น ขณะที่ไทยมีความมั่นคงทางอาหารกว่า 100% โอกาสใหม่ๆ ที่เราไม่คาดคิดพร้อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และนี่คือโอกาสใหม่ที่เราต้องไขว่คว้าไว้” นายอลงกรณ์ กล่าว 

 ด้าน รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในหัวข้อ Next Scenario : อีสานเกตเวย์ “รถไฟจีน-ลาว” โอกาสและความท้าทายที่เกษตรกรเผชิญหลังยุคโควิด-19 ว่า “รถไฟจีน-ลาว” สามารถสร้างรายได้ให้กับไทยอย่างมหาศาล หากมีการเชื่อมต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วง “หนองคาย-เวียงจันทน์” ให้เหมาะสม จะช่วยเรื่องการส่งออกสินค้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เข้าสู่จีนได้ง่ายขึ้น โดยหลักแล้วประเทศไทยจะส่งสินค้าเกษตรกัน 3 เส้นทาง แบ่งออกเป็น ทางบก 50%, ทางน้ำ 45% และทางอากาศ 5% แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ค่าขนส่งมีราคาสูงขึ้น โดยทางบกลดลงเหลือ 25%, ทางน้ำ 70% และอากาศ 5% ซึ่งหลังจากโควิด-19 คลายความกังวลลง ต่อไปนี้สินค้าเกษตรภาคตะวันออกและภาคเหนือ

Advertisement

จะใช้บริการรถไฟลาว-จีน เป็นหลัก แต่ก็มีความท้าทายสำคัญ คือ ปัจจุบันไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีน 2 หมื่นล้าน โดยส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มผักผลไม้ คือ แอปเปิล องุ่น และมะนาว ซึ่งหากเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยไม่ผลิต หรือผลิตในปริมาณน้อย ก็จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบ แต่หากเป็นสินค้าที่ผลิตมาก เช่น หัวหอม, กระเทียม หรือส้ม จะทะลักเข้าในประเทศไทย 100% ดังนั้น หากเราผลิตสินค้าเหล่านี้อาจต้องมีการทบทวนมากขึ้น 

ขณะที่การเสวนาในหัวข้อ Next Trends : เกษตรติดเทรนด์ ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง จะเป็นการสนทนาร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการทำเกษตรเพื่อให้อยู่รอดในยุคปัจจุบัน ประกอบด้วย นายถวิลย์ อินต๊ะขัน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจ Integration บริษัท เจียไต๋ จำกัด ดร.ปวิตพล ไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษากองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ น.ส.รัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ จ. สระแก้ว

Advertisement

  เริ่มต้นที่ น.ส.รัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ จ.สระแก้ว ได้ให้มุมมองของการตลาดว่า การสร้างเครือข่ายหรือพันธมิตรนั้นเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรขยายตลาดได้มากขึ้น เช่น จากเดิมเกษตรกรส่วนใหญ่จะเน้นจำหน่ายผลผลิตหน้าสวนเพียงอย่างเดียว แต่หากเรามีผลผลิตมากพอ ก็จะสามารถแบ่งตลาดได้มากขึ้น แต่เกษตรกรก็ต้องกลับมาพิจารณาผลิตภัณฑ์ตนเองอย่างถี่ถ้วนว่าสามารถจำหน่ายผ่านรูปแบบใดได้บ้าง อย่างกรณีของเครือข่าย “ไร่ดีต่อใจ” นั้น จะแบ่งเป็น 4 ช่องทางหลัก คือ พ่อค้าคนกลาง, แปรรูปส่งโรงงาน, โมดิร์นเทรด และขายปลีก ซึ่งอาจจะขยายต่อเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ด้วย ซึ่งเมื่อเรามีการกระจายความเสี่ยง จะทำให้เราสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น   

ขณะที่ ดร.ปวิตพล ไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษากองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กล่าวเสริมว่า เกษตรกรต้องปรับมุมมองจากการเป็นแค่คนทำเกษตรกร เป็นการทำเกษตรเพื่อนำไปประกอบธุรกิจ ต้องมีการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ใช้วิธีคิดทางธุรกิจเข้าช่วย โดยอาจเริ่มจาก “บันได 4 ขั้น” ของทางเลือกเกษตรกรยุคใหม่ คือ “ขั้นที่ 1-การเรียนรู้” ศึกษา เคล็ดลับ และบทเรียนจากผู้อื่น มาลงมือทำด้วยตนเอง “ขั้นที่ 2-พัฒนาทักษะ” ทำในสิ่งที่ชำนาญ และยกระดับทักษะฝีมือไปสู่อาชีพหลักสร้างรายได้ “ขั้นที่ 3-ขยับขยาย” ต่อยอด ไปสู่การทำเกษตรเชิงพาณิชย์ พลิกบทบาทสู่ผู้ประกอบการเกษตร “ขั้นที่ 4-ยั่งยืน” เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดได้ ในระยะยาว เช่น การรวมกลุ่มก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน 

สุดท้าย นายถวิลย์ อินต๊ะขัน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจ Integration บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวตอกย้ำในความสำคัญของการรวมกลุ่มว่า เกษตรกรไม่ควรกีดกันเพื่อเกษตรกรที่ปลูกในพืชชนิดเดียวกัน แต่ควรจับมือกันสร้างตลาด สร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการตลาดยุคนี้ และสิ่งที่ละเลยไม่ได้เลย คือ กระบวนการตั้งแต่การเพาะปลูก มาตรฐานของผลผลิตต้องมีคุณภาพ ปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย มาตรฐานเหล่านี้จะทำให้การเกษตรมั่นคงและยั่งยืน สามารถเป็นอาชีพได้จริงไม่ใช่แค่การยังชีพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image