ผลสะเทือนศึกซักฟอก พรรคร่วมเขย่าปรับครม. รื้อกติกาคุมเกมเลือกตั้ง

ผลสะเทือนศึกซักฟอก

พรรคร่วมเขย่าปรับครม.

รื้อกติกาคุมเกมเลือกตั้ง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ภายใต้ยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคมที่ผ่านมา

Advertisement

ด้วยความที่เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงต้องเน้นหนักทั้งเนื้อหาสาระ ข้อมูลหลักฐาน เพื่อหวังดิสเครดิตในทางการเมืองของรัฐบาลให้มากที่สุด

โดยเฉพาะรัฐมนตรีทั้ง 11 คน ด้วยกลยุทธ์การอภิปรายตลอด 45 ชั่วโมง ของฝ่ายค้าน คือช่วง 2 วันแรก อภิปรายรัฐมนตรีในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เริ่มจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ต่อด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค ภท.

จากนั้นเข้าสู่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และเลขาธิการพรรค พปชร. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรค พปชร. และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่ง 2 วันสุดท้าย เป็นคิวของกลุ่ม 3 ป. คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร.

Advertisement

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกอภิปรายจัดหนักคนเดียวถึง 30 ชั่วโมง

ในทางการเมืองด้วยความเป็นเสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะหักกลุ่มเสียงตัวแปร อย่างพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรค ศท. 16 เสียง กับกลุ่ม 16 ที่มี นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นหัวหน้ากลุ่ม 16 แล้ว หากรัฐบาลยังจับมือกันแน่น มีความเป็นเอกภาพของพรรคร่วม ย่อมจะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายไปได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ประสบปัญหาไร้ความเป็นเอกภาพเช่นเดียวกัน คือมี ส.ส.กลุ่มที่ถูกเรียกว่า “งูเห่า” พร้อมโหวตสวนมติของฝ่ายค้าน มาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอยู่เสมอ คะแนนไม่ไว้วางใจ ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะรวมกันให้ได้ถึง 239 เสียง หรือ กึ่งหนึ่งของ ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสภาได้ คือ 477 คน เพื่อหวังสอยให้รัฐมนตรีทั้ง 11 คน ตกจากเก้าอี้ ในทางปฏิบัติ ถือว่า “ยาก” นอกเสียจากมีเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลมาผสมโรง เพื่อหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง นั่นคือ การบีบให้ผู้มีอำนาจอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ยอมตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของรัฐมนตรีที่ได้คะแนนไม่ไว้วางใจสูงสุด

หรือรัฐมนตรีที่อาจเจออุบัติเหตุทางการเมืองถูกโหวตคว่ำกลางสภา โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ส.ส.ภายในพรรค พปชร. ที่อยากให้มีการปรับ ครม.ภายหลังการอภิปราย พร้อมกับสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ขยับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสะดวกต่อการทำพื้นที่ของ ส.ส. ในการเตรียมความพร้อมต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่กลไกและอำนาจรัฐถือว่ามีส่วนสำคัญในการเอื้อประโยชน์ ชี้ขาดผล “แพ้-ชนะ” ได้

การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หากไม่สามารถล้มเก้าอี้รัฐมนตรีจากผลการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ต้องหวังผลในช่วงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะการเมืองในสภา ที่จะต้องอาศัยเสียงของ ส.ส.ชี้ขาด การ “อยู่” หรือ “ไป” ของผู้มีอำนาจฝ่ายบริหารนั้น หากนายกฯและรัฐมนตรีแต่ละคนผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว เสียง ส.ส.ในสภา ก็จะไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายบริหารได้ เพราะจะไม่มีประเด็นร้อนทางการเมืองที่ต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภาเป็นตัวชี้ขาดอีกต่อไป จะมีแค่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระ 2-3 คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลย่อมควบคุมเสียงข้างมากให้สนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯผ่านสภาไปได้ เพราะประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณฯ คงไม่มีนักการเมืองคนใดเอาเรื่องการเมืองมายุ่งเกี่ยวเพื่อคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เนื่องจากจะส่งผลกระทบกับการนำงบประมาณไปบริหารประเทศ และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหากับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่วาระร้อนเรื่องการตีความการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี หรือไม่ในเดือนสิงหาคมนี้

ที่คาดว่าจะมีการยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ชี้ขาดว่าจะนับการดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีเมื่อใด แต่จากสัญญาณของผู้มีอำนาจที่ส่งออกมาว่า วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกฯ คงจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะครบ 8 ปี ในช่วงปี 2568 ทำให้นายกฯ สามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระ 4 ปีของรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2566

ขณะที่ประเด็นเรื่องกติกาเกี่ยวกับการออกกฎหมายลูกที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข กำหนดให้การเลือกตั้งครั้งหน้ากลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ 1 ใบเลือก ส.ส.เขต 400 คน กับอีกหนึ่งใบเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่ติดตรงปัญหาที่ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ประชุมรัฐสภา

กลับมติเสียงข้างมาก ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในประเด็นเรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค จากที่เสนอให้ใช้สูตรหารด้วย 100 คน มาเป็นสูตรหารด้วย 500 คน ซึ่งอาจจะแฝงด้วยเหตุผลทางการเมืองที่กลับมาใช้สูตรหารด้วย 500 เนื่องจากเป็นการสกัดกลยุทธ์ “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ล่าสุดผู้มีอำนาจส่งสัญญาณออกมาว่าอาจจะต้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งเพื่อให้กลับมาสนับสนุนสูตรหารด้วย 100 คน เนื่องจากสูตรหาร 500 พรรคร่วมอาจจะสร้างปัญหาให้กับพรรคร่วมรัฐบาลได้เหมือนกัน หากได้ ส.ส.เขตเกินจำนวน ส.ส.พึงมี อาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะส่งผลต่อเสียง ส.ส.ภายหลังการเลือกตั้งของแต่ละพรรคได้ จึงอาจจะใช้กลไกของรัฐสภาให้กลับมาใช้สูตรหาร 500 อีกครั้ง

ส่วนผลการเลือกตั้งจะเป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจคาดหวังไว้หรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image