มหาวิทยาลัย กับการก้าวข้ามปรากฏการณ์วิกฤต : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ในระยะสองสามปีที่ผ่านมาตลอดจน ณ เวลานี้มีกระแสเกิดปรากฏการณ์ภาวะวิกฤตของมหาวิทยาลัยกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาอย่างรอบด้านจะพบว่าวันนี้ คำว่า “วิกฤต” ยังไม่เกิดกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาทั้งมวลอย่างแท้จริง

ภาวะวิกฤตอันจะนำไปสู่ปัญหาต่อมหาวิทยาลัยนั้นทั้งในวันนี้และอนาคตอาจจะมีปัจจัยหรือตัวแปรที่หลากหลาย ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต่างรับทราบและพร้อมที่จะเผชิญกับสภาวะดังกล่าวด้วยการปรับแผนกลยุทธ์ตลอดจนกระบวนการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม จากกรณีคำกล่าวที่ว่า “วิกฤตมหาวิทยาลัย” อันเนื่องมาจากคำกล่าวของนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารประเทศระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาก็ตาม คำกล่าวดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าสนใจและชาวมหาวิทยาลัยไม่ควรจะมองข้าม นั่นเพราะเป็นลางบอกเหตุให้เห็นทิศทางแห่งอนาคตที่ทุกสถาบันจะต้องเตรียมการกับการป้องกันและแก้ไข

สังคมไทยเป็นสังคมที่ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเป็นชาติต้นๆ ของโลกโดยเฉพาะพ่อ แม่ ผู้ปกครองนักเรียนต่างคาดหวังให้ลูกหลานเรียนมัธยมปลายหรือสูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานในสายสามัญเพื่อจะได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยอันถือได้ว่าเป็นที่สุดของความปรารถนาและความสำเร็จเบื้องต้นของชีวิต

Advertisement

วันนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยทั้งของรัฐและเอกชนมีจำนวนมากซึ่งเป็นไปตามกลไกของความต้องการเมื่อหลายปีที่ผ่านมา แต่วันนี้เมื่อตัวเลขอัตราการเกิดของประชากรลดลงรวมทั้งการตกงานของบัณฑิตเพิ่มขึ้น โจทย์หรือการบ้านจึงทำให้มหาวิทยาลัยต้องพร้อมกับการรับปรากฏการณ์ที่จะตามมา

เมื่อกล่าวถึงภาวะวิกฤตของมหาวิทยาลัยทุกครั้งมักจะมีผู้บริหารระดับรัฐมนตรีตลอดจนนักวิชาการหรือผู้คนในสังคมจะแสดงทรรศนะในมิติที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะจับจ้องและโยนปัญหาไปที่มหาวิทยาลัยเอกชน

ปรากฏการณ์ของคำว่า “วิกฤต” มหาวิทยาลัยเอกชน อาจจะตกเป็นจำเลยของสังคมในอันดับต้นๆ แต่ในทางกลับกันวันนี้หากมองลงไปให้ลึกมหาวิทยาลัยของรัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เกิดใหม่ต่างเผชิญกับภาวะและอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นเดียวกัน

Advertisement

แต่อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ในภาพรวมต่อกรณีภาวะวิกฤตและการกำหนดทิศทางอนาคตสำหรับการอยู่รอดหรือไปต่อ แน่นอนมหาวิทยาลัยของรัฐย่อมจะมีต้นทุนและโอกาสสูงกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยของรัฐมีงบประมาณหรือได้รับการจุนเจือและช่วยเหลือในมิติต่างๆ จากภาครัฐ ในขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนต่างต้องพึ่งพาตนเอง

ที่น่าสนใจถ้าเจาะลงไปให้ลึกต่อกรณีการได้เปรียบเสียเปรียบหรือช่องว่างและความเท่าเทียมระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐกับเอกชนนั้นจะพบว่ามหาวิทยาลัยของรัฐจะมีจุดแข็งในมิติต่างๆ ที่มากกว่าเอกชนในบางประการโดยเฉพาะความเชื่อมั่นและความศรัทธาอันเนื่องมาจากค่านิยมของสังคมและผู้ปกครองนักเรียนที่เชื่อและติดอยู่กับคำว่า “มหาวิทยาลัยรัฐ”

แต่ในรายละเอียดของการบริหารจัดการที่มหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งดำเนินการกลายเป็นจุดอ่อนจนส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติในหลายประการโดยผู้บริหาร (บางคน) อาศัยระเบียบข้อบังคับและอำนาจของสภามหาวิทยาลัยเป็นตัวกำบัง อาทิ ปัญหาธรรมาภิบาลในองค์กร ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาการฟ้องร้องเกี่ยวกับตำแหน่งผู้บริหารหรือการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ นักศึกษาต้องสูญเสียโอกาสเพื่อนำไปสู่การเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพโดยเฉพาะในรายวิชาที่มีการฝึกภาคปฏิบัตินักศึกษาต้องเรียนแต่ในห้องสี่เหลี่ยม มหาวิทยาลัยหรือคณะไม่ใส่ใจที่จะจัดบุคลากรที่เชี่ยวชาญและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยเอื้อต่อการเรียนในบางหลักสูตร ปัญหาหรือประเด็นเหล่านี้ยังเป็นโรคร้ายที่ทับถมและกลายเป็นหลุมดำที่กัดกร่อนผูกติดอยู่กับมหาวิทยาลัยของรัฐในขณะนี้หลายแห่ง แต่สังคมหรือผู้ปกครองไม่ค่อยจะตื่นตัวกับปัญหามากนัก

ในทางกลับกันวันนี้เมื่อกล่าวถึงจุดอ่อนจุดแข็งของมหาวิทยาลัย จากการศึกษาสังเกตจะพบว่ามหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากมีจุดแข็งและสามารถนำไปเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐอยู่หลากหลายประการเช่นกันซึ่งในประเด็นนี้สังคมและผู้ปกครองนักเรียนอาจจะมองข้ามไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการที่ผู้บริหารต้องเป็นมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์และมีความพร้อมในการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ให้เป็นไปตามพันธกิจและทันต่อความเปลี่ยนแปลง เหนือสิ่งอื่นใดมหาวิทยาลัยเอกชนปราศจากปัญหาธรรมาภิบาล หรือการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นการจัดการศึกษาในทุกหลักสูตรสภามหาวิทยาลัยจะพิจารณากลั่นกรองเพื่อให้ทันสมัย มีความพร้อมของแหล่งทรัพยากรสนับสนุน สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและเป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน ด้านความพร้อมอื่นๆ อาทิ บุคลากรที่เป็นสายวิชาการหรือสายสนับสนุนจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เฉพาะทาง ขณะที่อาคารสถานที่ ห้องฝึกปฏิบัติการทันสมัย พอเพียงและเอื้อต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง

วันนี้เมื่อกล่าวถึงมหาวิทยาลัยเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศอาจจะมีการแบ่งหรือจัดกลุ่มได้เป็นสามกลุ่มประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยขนาดกลาง และมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก จากการติดตามการบริหารจัดการ ณ ปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่และขนาดกลางยังเดินหน้าต่อไปได้ เลือดที่ทำท่าว่าจะไหลแต่ก็ยังไม่มากนัก ต่างจากมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก (บางสถาบัน) ที่ดูเหมือนว่าอาการกำลังเข้าขั้นโคม่า ผู้บริหารจะหยุดหรือจะสู้ต่อ หรือจะขายกิจการให้กับกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศยังไม่เป็นที่แน่ชัด

ในสภาพความเป็นจริงของภาวะวิกฤตที่เกิดเป็นปรากฏการณ์สำคัญและส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยทั้งมวลในขณะนี้ ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนล้วนแล้วแต่มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน คือจำนวนของผู้เรียนที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามอัตราการเกิดของประชากรทั้งประเทศในภาพรวม ซึ่งในกรณีนี้สอดคล้องกับการที่นายประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะเลขาฯที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้กล่าวไว้เมื่อเร็วๆ นี้ถึงกรณีที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเปิดเผยถึงจำนวนรับนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2561 พบว่าทุกมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่จำนวนรับนักศึกษาลดลง 10-15% จากปีที่ผ่านมาสาเหตุเนื่องมาจากจำนวนเด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ลดลง และแนวคิดของเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เห็นว่าไปทำงานก่อนแล้วค่อยกลับมาเรียนก็ได้ ที่ผ่านมา ทปอ. ไม่เคยสำรวจตัวเลขจำนวนรับเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะต่างคนต่างรับแต่มีการพูดคุยกันบ้างแล้วว่าแต่ละแห่งรับเด็กได้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา รู้เพียงตัวเลขการสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาผ่านระบบทีแคสประจำปีการศึกษา 2561 รอบที่ 4 การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง การรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์กลาง ซึ่งยอดสมัครลดลงประมาณ 3 หมื่นคน จากเดิมที่เคยสมัครปีละ 7-8 หมื่นคน อาจเป็นผลมาจากการให้เด็ก 1 คน 1 สิทธิรวมถึงอัตราการเกิดลดลง ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้นรองอธิการบดีท่านนี้ยังกล่าวถึงประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะวิกฤตที่จะส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยเอกชนโดยภาพรวมในอนาคตตอนหนึ่งว่า “ได้ยินว่าปีนี้มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในภาคกลางรับเด็กเข้าเรียนได้เพียง 7 คน ขณะที่อีกแห่งพบว่าทั้งมหาวิทยาลัยมีเด็กเรียนเพียง 200 คน ฯลฯ (มติชนวันที่ 24 สิงหาคม หน้า 21)

ในเรื่องเดียวกันนี้นายวัลลภ สุวรรณดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่ามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งได้ขายให้กลุ่มทุนจีนแล้วและเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่และเริ่มปลดอาจารย์ที่สอนได้แค่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษและหาอาจารย์จีนที่สอนภาษาจีนได้เข้ามาทำงานแทนว่าตนทราบเรื่องนี้จากข่าวและมีการพูดกันในกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนว่ามีเรื่องดังกล่าว 2-3 แห่ง แต่ไม่ยืนยันว่ามีจริงหรือไม่ พร้อมกันนั้น นายวัลลภยังกล่าวถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งประสบปัญหาวิกฤตปลดอาจารย์บางส่วนออกนั้นตนไม่ทราบ แต่เชื่อมั่นว่าแต่ละแห่งจะใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาส ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารจัดการ การลดต้นทุนซึ่งสามารถทำได้หลายแบบ แต่ทั้งหมดต้องมองความต้องการทางการศึกษาของสังคมเป็นสำคัญ

และที่น่าสนใจต่อกรณีภาวะวิกฤตของมหาวิทยาลัย นายวัลลภย้ำว่า คำว่ามหาวิทยาลัยประสบปัญหาวิกฤตผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้น แม้แต่มหาวิทยาลัยรัฐเองบางแห่งก็ต้องปิดการเรียนการสอนบางสาขาวิชาลงเพราะกระบวนการเรียนการสอนและมิติความเปลี่ยนแปลง ความต้องการทางการศึกษาของสังคมและในภาพรวมการรับนักศึกษาปีนี้ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนยอมรับว่าลดลงประมาณ 10-30% เชื่อว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งต่างพยายามปรับตัวตามสถานการณ์ แต่ละแห่งจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความพร้อมรวมถึงการช่วยเหลือของภาครัฐในการผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางอย่างที่ติดขัด (มติชน วันที่ 31 สิงหาคม 2561 หน้า 21)

วันนี้เมื่อปรากฏการณ์อันตรายที่เริ่มส่งสัญญาณซึ่งจะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดวิกฤตต่อมหาวิทยาลัยโดยรวมแห่งอนาคต เชื่อว่าถ้าทุกมหาวิทยาลัยผนึกพลังสร้างความแข็งแกร่งในทุกมิติร่วมกัน ปัญหาหรือคำว่า “วิกฤต” จะไม่เกิดกับมหาวิทยาลัยไทยทั้งของรัฐและเอกชนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ นอกจากผู้บริหารตลอดจนสภามหาวิทยาลัยจะฝ่าฟันเพื่อก้าวข้ามไปด้วยกันแล้ว รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่มองข้ามปัญหาอันจะส่งผลต่อการศึกษาไทยและการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ที่จะตามมาทั้งวันนี้และวันหน้า

ที่สำคัญทุกมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาชาติให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ อันจะนำไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image