การเลือกตั้งกลางสมัยของฟิลิปปินส์ (13 พฤษภาคม 2019) : แนวโน้มการสืบทอดนโยบายของ Duterte : โดย สีดา สอนศรี

ประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังเปลี่ยน แปลงจากการสืบทอดนโยบายของผู้นำประเทศ ประเทศไทยได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีความวุ่นวายพอสมควร ส่วนอินโดนีเซียได้มีการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดี วิโดโด โจโกวี ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่ง โดยมี Election Supervisory Agency (Bawaslu) เป็นองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ องค์กรนี้ได้จัดการเลือกตั้งมาแล้วในสมัย ประธานาธิบดี สุศีโล บัมบัง จึงนับว่ามีประสบการณ์ และคาดว่าโจโกวีคงได้รับเลือกอีกสมัยหนึ่ง

ส่วนฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งกลางสมัยในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งกลางสมัยตั้งแต่ระดับชาติ จนถึงระดับท้องถิ่นทุก 3 ปี ของตำแหน่งที่หมดวาระและผู้สมัครใหม่ (ยกเว้นตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี) อันได้แก่ สมาชิกวุฒิสภา, ส.ส. ของกลุ่ม Party-list, ส.ส. เขตแต่ละเขตทั่วประเทศ และตำแหน่งทุกตำแหน่งในระดับท้องถิ่น หลังจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2016 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไประดับชาติ ตั้งแต่ตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงระดับท้องถิ่นมาแล้ว ในครั้งนี้ทุกตำแหน่งหมดวาระลง จะต้องเลือกตั้งใหม่หมด รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่หมดวาระ 12 คนด้วย (จาก 24 คน) การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญต่อการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดี Duterte ในช่วงระยะเวลาอีก 3 ปี ข้างหน้าซึ่งเขาจะหมดวาระในปี 2022 และได้ประกาศไว้ว่าจะทำให้นโยบายสำเร็จให้ได้

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งในประเทศ 61,843,750 คน ในต่างประเทศ 182,2173 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายใหม่ 2.5 ล้านคน ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งเท่านั้นที่จะสามารถเลือกตั้งได้ ผู้เลือกตั้งเพศชาย 49 เปอร์เซ็นต์ เพศหญิง 51 เปอร์เซ็นต์ ช่วงอายุ 18-29 มี 31 เปอร์เซ็นต์, 30-44 มี 32 เปอร์เซ็นต์, 45-64 มี 28 เปอร์เซ็นต์ และ 65 ขึ้นไปมี 9 เปอร์เซ็นต์

 

Advertisement

 

ผู้เลือกตั้ง 1 คนจะต้องเลือกตั้งดังต่อไปนี้

Advertisement

วุฒิสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 12 คน ที่หมดวาระและสมัครใหม่ทั่วประเทศ (Nationwide), สส.กลุ่ม Party-list 1 กลุ่ม (Nationwide), ส.ส. ในเขตปกครองของตนเอง 1 คน (จาก 243 ที่นั่งในสภา), ผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการ ตำแหน่งละ 1 คน (จาก 81 ตำแหน่ง 81 จังหวัด), สมาชิกสภาจังหวัดตามจำนวนที่กำหนดให้เลือก 780 ตำแหน่ง, นายกเทศมนตรีของเมืองและรองนายกเทศมนตรีของเมืองตำแหน่งละ 1 คน (จาก 145 ตำแหน่งทั่วประเทศ), สมาชิกสภาเทศบาลเมืองตามจำนวนที่กำหนดให้เลือก 1,628 ตำแหน่ง, นายกเทศมนตรีเทศบาล และรองนายกเทศมนตรีเทศบาล ตำแหน่งละ 1 คน (จาก 1,489 ตำแหน่งทั่วประเทศ), สมาชิกสภาเทศบาลตามจำนวนที่กำหนดให้เลือก 11,916 ตำแหน่ง, ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูมิภาคปกครองตนเอง ARMM 1 คน, สมาชิกสภาภูมิภาคปกครองตนเอง ARMM 24 คน เพื่อรองรับการปกครองระบบสหพันธรัฐที่รัฐบาล Duterte กำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าหากรัฐบาลได้เสียงข้างมากในสภาและได้รับเสียงข้างมากจากการหยั่งเสียงประชามติจากประชาชน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีนัยสำคัญที่ Duterte ต้องการให้ได้เสียงข้างมากในสภา (2 สภา) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Bangsamoro Autonomous Region in Muslim Mindanao (BARMM) กับการเลือกตั้งครั้งนี้

จุดประสงค์ของรัฐบาล Duterte ที่สำคัญประการแรกคือ ให้เขตปกครองตนเองเป็นภูมิภาคหนึ่ง

ภายใต้การกำกับของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาล Benigno Aquino ที่ III ได้เจรจาไกล่เกลี่ยและร่างกฎหมายเข้าสภาแล้ว รัฐบาล Duterte ได้เห็นชอบกฎหมายและได้หยั่งเสียงประชามติประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2019 และประชาชนเห็นดัวย รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน (Bangsamoro Transition Authority) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมานี้โดยมีศูนย์กลางภูมิภาคอยู่ที่เมือง Cotabato คาดว่ารัฐบาล Duterte จะได้เสียงจากกลุ่มนี้และจังหวัดอื่นๆ ในมินดาเนา

C0MELEC (คอมมิเลค-คณะกรรมาธิการจัดการเลือกตั้ง)

คอมมิเลค เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมด 7 คน ดำเนินการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 1940 มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับและการหยั่งเสียงประชามติ รวมทั้งออกกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการเลือกตั้งที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยยิ่งขึ้น คอมมิเลคสามารถแต่งตั้งให้ข้าราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง รวมทั้งให้การรับรององค์กรอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ และองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากคอมมิเลค คือ PPCRV (Parish Pastoral Council for Responsible Voting) ซึ่งจะเป็นองค์กรที่ทำงานควบคู่กันไปกับคอมมิเลค ตั้งแต่ปี 2016-2022 องค์กรนี้มีสมาชิกกว่า 500,000 คนทั่วประเทศ นอกจากนี้ คอมมิเลคยังได้กำหนด การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เช่น มี COMELEC Poster กำหนดขนาดของป้ายและสถานที่ติดป้าย, COMELEC Space กำหนดขนาด เนื้อที่โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ จุลสาร การหาเสียงจากสื่อสังคมออนไลน์, COMELEC Time ระยะเวลาการหาเสียงและแถลงนโยบายของแต่ละพรรคในโทรทัศน์ วิทยุ ที่ดำเนินการโดย คอมมิเลค

ทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ต้องมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมายและมติที่ออกมาจากคอมมิเลค นอกจากนี้ คอมมิเลค ยังได้ออก COMELEC Information Bulletin เพื่อประชาสัมพันธ์ นโยบายของแต่ละพรรคและผู้สมัครแต่ละพรรคที่เป็นลักษณะการให้ข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและคำสั่งการเลือกตั้ง

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้คอมมิเลคได้เตรียมพร้อมมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 และขณะนี้กำลังเตรียมบัตรเลือกตั้ง และสถานที่เลือกตั้ง การแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งมีดังนี้

1.แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งของรัฐ (Republic Act 7166) และออกกฎหมายใหม่ (Republic Act 7290) โดยกฎหมายได้ผ่านสภา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2018 กำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งผู้สมัครประธานาธิบดี 50 เปโซ รองประธานาธิบดี 40 เปโซ (จากเดิม 10 เปโซ) สมาชิกวุฒิสภา 30 เปโซ (จากเดิม 3 เปโซ) ส.ส.กลุ่ม Party-List 10 เปโซ (จากเดิม 3 เปโซ) ค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้นเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อผู้สมัครที่ลงทะเบียนทั้งประเทศ เพราะเป็นตำแหน่งที่ต้องเลือกตั้งทั่วประเทศ (Nationwide) ส.ส. และตำแหน่งในท้องถิ่นจ่ายได้ 30 เปโซต่อหัว ของผู้ลงทะเบียนในเขตที่มีผู้สมัครของพรรคนั้น ผู้สมัครอิสระ 40 เปโซต่อหัว (จากเดิม 5 เปโซ) พรรคการเมือง 30 เปโซต่อหัวต่อจำนวนผู้ลงทะเบียนที่พรรคส่งผู้สมัคร (จากเดิม 5 เปโซ)

2.การออกข้อบังคับ ให้ความสำคัญกับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในสังคมฟิลิปปินส์ได้ให้ความสำคัญกับบุคคลนี้เป็นพิเศษมานานมากแล้ว เนื่องจากเป็นค่านิยมในสังคมที่จะละเมิดมิได้ คอมมิเลค จึงได้ออกข้อบังคับ Resolution No.10211 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกให้มากขึ้นโดยจัดให้การลงทะเบียนเลือกตั้งและการเลือกตั้งอยู่ชั้นล่างของตึกและมีผู้นำพาไป

3.การออกข้อบังคับ Resolution No.10483 ตามกฎหมาย Republic Act No.10575 ให้ผู้ถูกคุมขังได้มีสิทธิในการเลือกตั้ง ถ้าสถานที่คุมขังมีผู้ถูกคุมขัง 100 คน ให้เลือกตั้งได้ในสถานคุมขังนั้น ถ้าเกิน 100 คน ให้จัดสถานที่เลือกตั้งพิเศษให้ จำนวนผู้ถูกคุมขังที่ลงทะเบียนในครั้งนี้มี 42,252 คน

4.คอมมิเลคได้ออกข้อบังคับ Resolution No.10514 พิจารณาว่า พรรคใดเป็นพรรคเสียงข้างมากและข้างน้อย โดยพิจารณาจาก โครงสร้างของพรรค นโยบายของพรรคในการพัฒนาประเทศ กระบวนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับท้องถิ่นจะได้รับ 40 คะแนน พรรคใดส่งผู้สมัครที่เป็นสตรีได้ถึง 30 คน จะได้คะแนน 10 คะแนน

5.พีพีซีอาร์วี (PPCRV) ได้รับการรับรองจาก คอมมิเลค ให้เป็นองค์กรอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ตั้งแต่ 2016-2022 (ตามวาระของประธานาธิบดี)

ประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้

ผู้สมัครส่วนใหญ่พิจารณาถึงบุคลิกภาพของผู้สมัครและเครือข่ายพรรคการเมืองเป็นสำคัญ จากการสำรวจในขณะนี้พรรคร่วมเสียงข้างมาก คือพรรค PDP-Laban ของ Duterte จะได้เสียงข้างมากทั้งในสภาสูงและสภาล่าง Duterte ต้องการให้นโยบายของเขาประสบความสำเร็จก่อนเขาหมดวาระในปี 2022 คือนโยบาย Build-Build-Build ที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ซึงสืบทอดจากนโยบาย Ro-Ro System ของอดีตประธานาธิบดี
เบนิกโน อะคีโนที่ III นโยบายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากระบบประธานาธิบดีเป็นระบบสหพันธรัฐชึ่งยังไม่ได้รับการพิจารณาจากสภา

แต่ปัญหาในประเทศก็มีเช่น เงินเฟ้อสูง ถึงแม้ GDP จะสูงถึง 6.7 ก็ตาม การเก็บภาษีธุรกิจถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แม้จะลดภาษีรายได้ส่วนบุคคลลงและไม่เก็บค่าลงทะเบียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ ปัญหาการทำสงครามกับยาเสพติด ปัญหาจราจรติดขัด ปัญหาการรุกล้ำเขตแดนที่ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ แม้ศาลจะตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะก็ตาม ด้วยนโยบายและปัญหาประการทั้งปวงดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ชนะในการเลือกตั้ง บุตรสาวของเขาได้สร้างเครือข่ายพรรค เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภา คือจัดตั้งกลุ่ม Full of Change (Hupong ng Pagbabago) เพื่อส่งผู้สมัครทั่วประเทศ ร่วมกับเครือข่ายพรรค PDP-Laban ของ Duterte และพรรค Nacionalista ของ Imee Marcos

ที่สำคัญ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของเขาที่ผ่านมาจะเลือกเครือข่ายพรรค PDP-Laban ของเขา คือกลุ่มนักศึกษา กลุ่มผู้เสียภาษีน้อย กลุ่มชนชั้นกลางระดับล่าง กลุ่มสังคมนิยมที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ระบบการปกครองเป็นสหพันธรัฐ กลุ่มที่อยู่ในระดับช่วงอายุ 18-45 ปีก็มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคร่วมนี้

ส่วนชนชั้นกลางระดับสูงและชนชั้นสูงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่แข็งกร้าวของเขา แต่ถึงอย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจของ SWS และ Pulse Asia ปรากฏว่า Duterte ได้คะแนนนิยมประมาณ 74 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคาดว่าพรรคร่วมรัฐบาลของ Duterte จะได้เสียงข้างมากในสภา

ถึงอย่างไรก็ตามประชาชนก็ยอมรับผลการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าหากประธานาธิบดีกระทำการไม่ถูกต้องและมีหลักฐานมัดตัว ระบบ Impeachment ก็จะถูกนำมาใช้ ประเทศไทยนำประสบการณ์ในการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์มาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2540 โดยเฉพาะ กกต. จึงน่าจะกลับมาทบทวนใหม่ในบริบทของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างก็รอวัน Miting de Avance ซึ่งเป็นวันปราศรัยใหญ่ ในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ ซึ่งทุกพรรคจะเดินขบวน ร้องรำทำเพลง ตกแต่งสถานที่ ถือป้ายโชว์รูปผู้สมัครฉลองอย่างสนุกสนานและมีสีสันเป็นอย่างยิ่ง จึงเรียกว่า เป็น Political Fiesta ลักษณะเช่นเดียวกับงานรื่นเริง (Fiesta) ที่มีอยู่ทุกเมือง เพื่อฉลองนักบุญประจำท้องถิ่น ต่างกันที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น

ผู้เขียนคาดว่าพรรคร่วมเสียงข้างมากของ Duterte จะชนะในครั้งนี้

สีดา สอนศรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image