สถานีคิดเลขที่ 12 : รอดูฝีมือ : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

รัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่เต็มตัวหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

รอบนี้ บรรดารัฐมนตรีทั้งหลาย ต้องมีทีมกฎหมายห้อมล้อม ต้องขยันอ่านกฎหมายเข้าไว้ เพราะกฎกติกาต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก

แค่เรื่องแสดงบัญชีทรัพย์สิน การใช้อำนาจ ก็ปวดหัวไม่จบแล้ว

ส่วน ส.ส.ทั้งหลายนั้น รอบนี้ บทบาทคงจะอยู่ที่สภาเป็นหลัก

Advertisement

ดังที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาเตือนว่า หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 ห้าม ส.ส.เป็นข้าราชการการเมือง เนื่องจากจะเกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน

และจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่ระบุว่า ส.ส.ต้องไม่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ

ก่อนหน้านี้ เกิดกรณี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการรวม 35 คน ในคำสั่งมี ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ 3 คน และต่อมาคุณหญิงกัลยาได้ยกเลิกคำสั่งนี้

Advertisement

แม้จะยกเลิกคำสั่งไปแล้ว แต่ตอนนี้ฝ่ายค้านก็ตั้งคำถามแล้วว่า จะถือว่า คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งถือเป็นความผิดสำเร็จแล้วหรือไม่

คงจะต้องไปชี้แจง ไปหาวิธีแก้ไขกันต่อไป

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของปัญหากฎหมาย และกฎกติกา ที่ยกร่างกันขึ้นมาในระหว่าง 5 ปีของรัฐบาล คสช. และแม่น้ำ 5 สาย

เชื่อว่าตอนนี้บรรดา ส.ส. คงสดุดีผู้ที่มีส่วนในการยกร่างกฎกติกาเหล่านี้กันอีกยก หลังจากสรรเสริญไปรอบใหญ่แล้วในตอนเลือกตั้ง

ที่ผ่านมา การตั้ง ส.ส.ไปเป็นข้าราชการการเมือง ไปนั่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยเลขาฯรัฐมนตรี หรือที่ปรึกษามีประโยชน์หลายอย่าง

ทั้งช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐมนตรี ช่วยประสานงานกับบุคคลภายนอก กับประชาชน

ตำแหน่งเหล่านี้ ส่วนมากตั้งจาก ส.ส.หรือสมาชิกพรรค ซึ่งความเป็น ส.ส.หรือมาจากพรรคการเมือง จะทำให้มีมุมมองและทัศนคติเกี่ยวกับปัญหาประชาชนอีกแบบหนึ่ง ที่แตกต่างไปจากข้าราชการประจำ

ในแง่ของนักการเมือง การเป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งทำงานกับข้าราชการประจำ จะทำให้ได้เห็นได้สัมผัสประสบการณ์ของงานบริหาร หรือที่พูดกันว่าได้ฝึกงาน

ส่วนข้อเสียที่กลัวๆ กันคือ นักการเมืองจะไปแทรกแซงข้าราชการ ไปแอบอ้างใช้อำนาจฝ่ายบริหาร เป็นวิธีคิดแบบราชการ ที่หวงแหนพื้นที่และอำนาจของตนเอง

ในยุคที่องค์กรอิสระมีอำนาจมาก กฎหมายเขียนป้องกันละเอียดยิบ สื่อสมัยใหม่ ทั้งโซเชียลมีเดียและออนไลน์ รวดเร็วและหูตากว้างขวาง ใครทำอะไรไม่ชอบมาพากล ทำผิดกฎหมาย โอกาสจบเห่เสียคนเห็นๆ อยู่ หรือถูฏร้องด้วยกฎหมายที่เขียนไว้ละเอียด

รมต.และ ส.ส.ในยุคนี้ จึงทำงานยาก

เพราะกฎกติกาดีไซน์เพื่อคนบางกลุ่มก็จริง แต่ในภาพรวมก็ลดอำนาจนักการเมืองลงไปด้วย ตั้งแต่การเขียนนโยบาย การบริหารงาน มีกรอบกำหนดไว้ยุบยับ

ซึ่งกระทบถึงประชาชนที่เลือกผู้แทนเข้าไป โดยหวังให้มีบทบาทในระบบงาน ให้ริเริ่มนโยบายใหม่ๆ

เป็นอีกโจทย์ของนักการเมืองยุคนี้

ว่าจะยอมจำนนหรือจะหาทางแก้ไขปรับปรุง

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image