ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19รอบ2 ‘เริ่มที่ตัวเรา’ทุกคน โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

การเปลี่ยนการปกครองเมื่อปี 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือ รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาสู่รัชกาล 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 สู่ยุคพฤษภาทมิฬ 2535 มีเรื่องร้ายแรงเป็นผลมาจากการขัดแย้งทางความคิด หรือการมองต่างมุมแบบสุดโต่ง ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งและการต่อสู้ทางการเมืองที่รุนแรงจากน้อยไปหาจุดมากที่สุด จนเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น ซึ่งถ้าจะว่าไปต้องถือว่าประเทศไทยของเราค่อนข้างจะโชคดี ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยการมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยนับถือ หรือจะเป็นเพราะว่าลึกๆ แล้วคนไทยเราก็ไม่ใช่เป็นคนที่มีจิตใจโหดร้าย ยอมผ่อนสั้นผ่อนยาว ใจเย็น เนื่องจากส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวพุทธ ไม่อาฆาตร้ายไปจนตาย รู้จักฟังเหตุฟังผลให้อภัย ทำให้เรื่องร้ายๆ หลายเรื่องสงบลงได้อย่างเหลือเชื่อ พอเลิกทะเลาะกันหันหน้ามารู้รักสามัคคีกัน ก็รวมพลังกันพัฒนาประเทศต่อไป

ส่วนในเรื่องภัยทางเศรษฐกิจเราผ่านยุคราคาน้ำมันแพง สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี การขาดดุลการค้า และดุลชำระเงินอย่างใหญ่หลวง สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มาจนถึงยุคต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540

ในเรื่องร้ายๆ จากภัยธรรมชาติ ประเทศไทยผ่านพายุเกย์ร้ายแรงปี พ.ศ.2532 ผ่านทั้งคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อประมาณปลายธันวาคม พ.ศ.2547 และมหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2554 ฯลฯ แต่ประเทศเราก็ฟื้นขึ้นมาได้ และอยู่กันมาได้จนถึงทุกวันนี้

จากอดีตเราเป็นประเทศด้อยพัฒนาเต็มขั้น รายได้อยู่ในระดับล่างๆ ผู้นำประเทศเรา และชาวไทยก็สามารถนำพาประเทศไทยเรา ขยับชั้นขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางชั้นสูง ซึ่งทุกคนรวมทั้งนักวิชาการว่าเราร่วมแรงร่วมใจพัฒนากันมาได้ระดับนี้ถือดีว่ามากๆ ในท่ามกลางสารพัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

สำหรับปัจจุบัน นับแต่เดือนธันวาคม 2562 จนถึงปี พ.ศ.2563 นับเป็นปีร้ายแรง วิกฤตอีกปีหนึ่งที่มีเหตุร้ายแรง ทั้งโรควายร้ายมหาภัยโควิด-19 ที่ทำลายชีวิตมนุษย์ มีคนป่วยเกือบ 80 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 3 แสนเศษ ผลพวงจากการระบาดยังส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกที่ถูกทำลายอย่างยับเยินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเรา

ในขณะที่ประเทศไทยยังมีเรื่องร้ายเรื่องการระบาดของโรค ยังมีแรงคุกรุ่นจากความขัดแย้งทางความคิดและความเชื่อระหว่าง “เจนเนอเรชั่น” ที่กระหน่ำซ้ำเติม เป็นความขัดแย้งที่แตะมือต่อมาจากยุค “กีฬาสี” แต่เหมือนครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในเชิงความคิดและความเชื่อของคนไทย ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้เขียน

เรื่องเศรษฐกิจ สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลได้ให้ “ฉายา” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “VERY กู้” อ่านว่า “เวรี่กู้” แปลตรงๆ ว่า นัก “กู้มาก” เหตุผลที่ต้องกู้มาอย่างที่เราพอรู้ๆ อยู่จากสื่อต่างๆ หรือข้อมูลทางตรงและอ้อม มีเหตุผล “กู้มาก” มีหลายปัจจัยหลัก ตามหลักการค้าขาย คือ ด้วยที่ว่ารัฐบาลค้าขายไม่เก่ง หาเงินไม่เป็น หาเงินไม่เก่ง แต่ใช้เงินเป็นมือเติบ ใช้เกินตัว จนต้องกู้มาทำโดยการ “ประชานิยม” เช่น โครงการชิมช้อปใช้ จ่ายคนละครึ่ง แต่ผลกระทบไม่ได้ช่วยปั่นระบบเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบ้างเลย เมื่อมองในแง่ GDP ของประเทศ

Advertisement

ช่วงหลังปฏิวัติ 57-58-63 รวม 6 ปี มีการกู้เงินมาโปะงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งติดลบทุกปี เป็นตัวเลขขาดดุลกว่า 2.6 ล้านล้านบาท กับงบประมาณปี 2564 ที่กำลังใช้กันอยู่ ขาดดุลอีกไม่ต่ำกว่า 5.2 แสนล้านบาทเศษ รวม 7 ปี ติดลบประมาณกว่า 3.2 ล้านล้านบาท

จะเห็นได้ว่า 6-7 ปีที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณไปมากพอควร ตัวเลขติดลบ แต่เศรษฐกิจไทยกลับต่ำเตี้ยอย่างต่อเนื่อง คนไทยมีความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน ในอันดับต้นๆ ของโลก และแล้วฝันร้ายก็มาหาเมื่อช่วง วันที่ 19-20 ธันวาคม 2563 เกิดมหาวิกฤตซ้อนวิกฤตภายใต้เงาทะมึนของมหันตภัยไวรัสมรณะ “โควิด-19” ที่ระเบิดเป็นพลุแตกที่ “จ.สมุทรสาคร” อันเนื่องมาจาก “โควิด-19” นำเข้าจากแรงงานต่างด้าว ที่ย้ายเข้าทั้งถูกกฎหมาย ไม่ถูกกฎหมาย เริ่มครั้งแรกที่ชายแดนแม่สอด จ.ตาก ชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แผลโควิด-19 มาแตกที่ตลาดจังหวัดสมุทรสาคร โดยเริ่มจากตรวจพบเชื้อไวรัสมรณะ พบจาก 13 ราย ทะยานขึ้นสูงถึง 548 ราย จาก 1 จังหวัด ขยายจุดแผลแตก คือ บ่อนการพนันที่จังหวัดระยอง ล่าสุดประมาณวันที่ 2-3 มกราคม 2564 ที่บ่อนไก่ จังหวัดอ่างทอง ขยายวงกว้างมากมายถึง 53 จังหวัดจาก 77 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 69.9 (ข้อมูล ณ วันที่ 2-3 มกราคม 2564) ขณะที่ “วัคซีน” ยังไม่ทันมา “ด่านแตก…บ่อนแตก” ก่อน และมีการบริหารจัดแบ่งความรุนแรงระบาดของพื้นที่โดยเป็น 4 สี คือ สีเขียว เหลือง ส้ม แดง (เหมือนปิงปอง 7 สี การควบคุมโรคไม่ติดต่อ…เบาหวานความดัน ของผู้เขียน) ปรากฏการณ์โควิด-19 ทะลักชายแดนประเทศเมียนมาพรวดเดียวทะลุจาก จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง ล้อมรอบกรุงเทพมหานคร เข้าสู่เมืองหลวง จนต้อง “ล็อกดาวน์” ปิดเมือง “มหาชัย สมุทรสาคร”

ที่ผ่านมาการระบาด “รอบแรก” เราทราบๆ กันอยู่ช่วงระบาดสูงสุดเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ไวรัสมรณะทำเศรษฐกิจเจ๊งยับเยินหมื่นล้านแสนล้าน นับตัวเลขไม่ทัน ทำให้อารมณ์ของคนไทย ขณะนั้นมันป่วนอย่างไรบอกไม่ถูก กับทางเลือกที่เป็นลบทั้งคู่ คือ ระหว่าง “ติดโควิด-19 ตาย” กับ “อดตาย” จะเลือกอย่างไรดี แต่คนไทยก็รอดพ้นมาได้ ช่วงปลายเดือนธันวาคมก่อนจะเข้าสู่วันนักขัตฤกษ์ที่คนไทยรอคอย คือ “วันปีใหม่” มีการเตรียมฉลองกันเต็มที่ไม่ว่าจะงานรื่นเริง กินเหล้าเมายาสนุกสนานกันให้เต็มที่

โควิด-19 ที่เด้งกลับขึ้นมาระลอกใหม่ หรือจะเรียกว่าโควิด-19 ระลอก 2 ก็คงไม่ผิด ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเรายังไม่ฟื้นไข้จากรอบแรก เข้าโหมด “ล็อกดาวน์” ซ้ำตลาดเงียบเหงา คนหาเช้ากินค่ำตกงาน ขาดรายได้กันถ้วนหน้า เข้าขั้นจนตรอก คนระดับฐานรากไม่มีเงินยาไส้ กระปุกก็ไม่มีจะให้แคะแล้ว และเหตุนี้แหละก็จะโยงเป็นเงื่อนไข “ปากท้องชาวบ้าน” ภาวะอดอยากปากแห้ง จะแปรผันตรงกับแรงกระแทกทางการเมืองที่พุ่งเป้าเขย่าซ้ำ รัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บวกกับอารมณ์ขุ่นเคืองของชาวบ้านต่อฝ่ายบริหารหย่อนประสิทธิภาพปล่อยให้
“โควิด-19” ระบาดซ้ำระลอก 2 จนได้

การระบาด “รอบสอง” เป็นเรื่องที่มันเกิดขึ้นแล้ว แต่สำคัญที่สุด “เราคนไทย 66 ล้านคน” ก็คงต้องสู้กันต่อไป จะได้แค่ไหนก็คงเป็นเรื่องหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2563 “คนอาชีพค้าขาย” ยุคนี้ “ชีวิตมีกรรมกันไม่ใช่น้อย” เมื่อมาเกิดรอบใหม่หลายคนจะระบายด้วยอารมณ์ต่างๆ กัน เช่น รายหนึ่งระบุว่า “ยามเศรษฐกิจไม่ดียังพอมีรายได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ เพราะการขายของกินยังไงก็ขายได้ แต่ยุคนี้เจอโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ตั้งตัวไม่ติด ซึ่งตอนที่เกิดโควิดรอบแรก เรียกได้ว่าต้องถอยกลับไปตั้งหลักชีวิตใหม่ แต่พอระบาดรอบใหม่ เหมือนมี ‘ระเบิดลูกใหญ่’ ซ้ำเติมอารมณ์ก็ไม่ต่างกัน แต่ก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่ง” เพื่อความอยู่รอด

แต่อย่างไรก็ตาม “การระบาดรอบสองโควิด-19” ครั้งนี้ผู้เขียนเชื่อว่าต้นทุน หรือกลยุทธ์รูปแบบการทำงานของกระทรวงสาธารณาสุข ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ระดับรากหญ้า จนถึงผู้บริหารสูงสุด มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลดีมาก ดังที่องค์การอนามัยโลกให้การยกย่อง กล่าวคือ

“อสม.” 1 คน ดูแลบ้าน 10-15 หลังคาเรือน มีครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด รวมประมาณ 1 ล้านคนเศษ เรียกว่า กระทรวงสาธารณสุข มี “อสม.” เป็นตาสับปะรด ดูแลป้องกันควบคุมได้ทั่วถึง มากกว่า 90-100% เลยทีเดียว

ส่วน “รพ.สต.” หรือ “สถานีอนามัย” (เดิม) มีทุกตำบล มีเกือบ 10,000 แห่ง มี ผอ.รพ.สต. พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากร แห่งละ 3-10 คน ครอบคลุมทุกอำเภอ ทุกจังหวัด เหล่านี้จะเป็นขุมกำลังสำคัญในการปฏิบัติงานระดับพื้นที่รากหญ้าของประเทศไทยเรา แต่ที่สำคัญ คือ “ความร่วมมือประชาชน” ทั้ง 66 ล้านคน ปฏิบัติตัวง่ายๆ 3 หลักการ คือ

หลักการที่ I. “เริ่มที่ตัวเรา” มี 4 ข้อ คือ

1.1 เริ่มที่ “Lock down ตัวเรา/ตนเอง” ทุกคน และ “ใส่หน้ากากอนามัยให้ตัวเรา” โดย “อยู่บ้านช่วยชาติ” และปฏิบัติตัวด้วยการสร้างสุขภาพ “3อ.” ออกกำลังกาย-วันละ 30 นาที/วัน (ภายในบ้าน สถานที่เอื้ออำนวย) อาหาร-ทานให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำอุ่นๆ อารมณ์-เป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม ไม่เครียด ด้วยภาวนาสวดมนต์

1.2 Social Distancing หาก “ตัวเรา” ไปปฏิสัมพันธ์กับใครก็ให้เว้นระยะห่าง 1 เมตร หรือตามเกณฑ์กำหนด

1.3 กินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว

1.4 ล้างมือ (ของเรา) ด้วยน้ำ gel แอลกอฮอล์ บ่อยๆ

หากทุกคนทำแค่นี้ก็ป้องกันได้ เหมือนฉีดวัคซีนโควิด-19 ดีๆ นั่นเอง

หลักการที่ II. “เช็กตัวเอง” ว่าติด “โควิด-19” ไหม? ด้วยสังเกตอาการและอาการแสดง 9 วัน

วันที่ 1-3 เจ็บคอเล็กน้อย อาการคล้ายไข้หวัด ไม่มีไข้

วันที่ 4 ท้องเสียอย่างอ่อนๆ ปวดหัวเล็กน้อย

วันที่ 5 รู้สึกปวดข้อมือ ข้อศอก ร่างกายอ่อนแอ อ่อนเพลีย

วันที่ 6 มีไข้อุณหภูมิมากกว่า 37 องศา (ประมาณ 37.5) ไอแห้ง อ่อนเพลีย คลื่นไส้

วันที่ 7 ไออย่างต่อเนื่อง และมีเสมหะ ปวดหัว ปวดตามตัว อาเจียน

วันที่ 8 หายใจลำบาก ทุกครั้งที่หายใจรู้สึกแน่นหน้าอก

วันที่ 9 อาการจะแย่ที่สุด ต้องตรวจเลือด และเอกซเรย์ทรวงอกทันที

หากมีอาการดังกล่าวเบื้องต้น ให้สงสัยว่าเราน่าจะเข้าข่ายเป็นโรคนี้ได้ ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยเร็ว

หลักการที่ III. “ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่” (เชิงรุก) หากมีอาการสงสัยว่า “ตนเอง” เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่แน่ใจสงสัย หรือเวลาสอบสวนโรคแล้วได้ข้อมูลไปพื้นที่เสี่ยง (เหลือง ส้ม แดง) และหากพบ “ผู้คน” มาจากพื้นที่เสี่ยง และมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด (เว้นระยะห่างน้อยไป) ให้รีบไปติดต่อพบแพทย์ รพ.สต. รพ.ชุมชน รพ.ทั่วไป ได้ทุกแห่ง รวมทั้งคลินิกเอกชน หรือ รพ.เอกชน ทุกที่ยินดีที่จะให้บริการประชาชนทุกคนให้ปลอดโรค ปลอดภัย และไม่ป่วยตายจากโควิด-19 ด้วยการนำน้ำมูกน้ำคัดหลั่งจากจมูกหรือคอไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต่อไป เป็นการ “ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่” เพื่อการป้องกันการระบาดและรักษาให้หายป่วยโดยเร็ว

อนึ่ง ส่วนวิกฤตการเมือง 3 ข้อ ที่เรียกร้อง เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ “การแก้รัฐธรรมนูญ” จะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ส่วนตัวผู้เขียนและนักวิชาการทั่วไปเชื่อว่าเป็น “ต้นเหตุ” ที่ทุกคนให้การยอมรับ แม้พรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน และ ส.ว.ก็ให้ความเห็นชอบผ่านวาระ 1 เรียบร้อยแล้วว่า “เห็นควรแก้ไข” ซึ่งด้วย “สัจจะวาจา” เท่านั้นที่จะมีต่อกัน และ “สัจจะต่อประชาชน” 66 ล้านคน ของนักการเมือง ที่ “คิด พูด ทำให้ตรงกัน” ประเทศชาติน่าจะพ้นวิกฤตการเมือง ส่วนเรื่องอีก 2 ประเด็น ได้แก่
นายกฯ ลาออก หรือปฏิรูปสถาบันฯ น่าจะรอมชอมขอกันได้กระมัง

ท้ายสุดนี้ ขอให้กำลังใจท่านผู้อ่านทุกท่านที่ร่วมฝันร้ายมาด้วยกัน อย่าท้อถอย จับมือคล้องแขนสู้ๆ ให้ถึงที่สุด มั่นใจว่าเราจะผ่านวิกฤตโควิด-19 รอบ 2 ได้ทั้งในแง่การสูญเสียชีวิตและการสูญเสียเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมืองไปได้ในที่สุดเหมือนที่เราชนะศึกใหญ่ๆ มาแล้วในอดีต ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image