สถานีคิดเลขที่ 12 : ยูบีไอ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ยูบีไอวันนี้ 16 กุมภาพันธ์ เป็นอีกวันหนึ่งที่สมาชิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : ยูบีไอ

วันนี้ 16 กุมภาพันธ์ เป็นอีกวันหนึ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร
เมื่อพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คน
ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ทั้งรองนายกฯ รัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วย ต่างต้องมีหน้าที่ชี้แจงข้อกล่าวหา

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ
พรรคเพื่อไทยนั้นเพิ่งประกาศ “ดิสรัปต์ตัวเอง” ไปเมื่อไม่กี่วัน
กลุ่มแคร์ที่เคลื่อนไหวทางไอเดีย น่าจะเป็นกลุ่มหลักในการคิดให้พรรค
แม้ดูแล้วการเคลื่อนไหวจะไม่เกี่ยวกัน แต่ดูจากแกนนำคนสำคัญแล้วน่าจะเกี่ยวข้อง
ล่าสุด ในการสัมมนาของกลุ่มแคร์มีข้อเสนอแนวทาง “ยูบีไอ” ย่อมาจาก Universal Basic Income

ยูบีไอเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่คิดว่าการ “แจกเงิน” แทน “แจกสินค้า” น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า
แนวคิดนี้มีหลักที่ต้องกระทำอยู่ 5 ข้อ
หนึ่ง คือ ต้องแจกเงิน สอง คือ แจกเงินเป็นงวดๆ ต่อเนื่อง สาม คือ แจกให้คนโดยตรง สี่ คือ แจกให้ทุกคน และห้า คือ ไม่ตั้งเงื่อนไข
แหล่งเงินที่นำมาแจกไม่จำเป็นต้องมาจากภาษีอากร แต่อาจจะเป็นมูลนิธิหรือกองทุนที่ได้มาจากทรัพยากรของชาติ เช่น แหล่งน้ำมัน

Advertisement

ส่วนข้อห่วงใยที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้รู้ 3 ประการ
หนึ่ง สงสัยว่า เมื่อนำยูบีไอมาใช้แล้วจะทำให้คนเปลี่ยนนิสัยไปบริโภคอบายมุขมากขึ้นหรือไม่
สอง สงสัยว่า เมื่อนำยูบีไอมาใช้แล้วจะทำให้คนไม่สนใจทำงานขึ้นหรือไม่
สาม สงสัยว่า เมื่อนำยูบีไอมาใช้แล้วจะก่อปัญหาเงินเฟ้อหรือไม่

คำตอบจากการวิจัยข้อหนึ่งและข้อสาม คือ ไม่เกิดเงินเฟ้อจนเป็นปัญหา และไม่ทำให้คนเปลี่ยนนิสัยไปบริโภคอบายมุขมากขึ้น
สำหรับคำตอบข้อสอง ปรากฏว่าเสียงแตก ผู้รู้บางคนบอกว่าทำให้คนไม่ทำงานมากขึ้น ผู้รู้บางคนบอกว่าไม่มีนัยสำคัญกับการทำงานน้อยหรือมาก
ส่วนข้อดีที่ปรากฏให้เห็นแน่ๆ คือ เศรษฐกิจจะเกิดการหมุนหลายรอบ

แนวคิดนี้มีหลายประเทศนำไปทดลองใช้ และเกิดผลหลากหลายอย่างที่น่าสนใจ
เช่น ถ้าการแจกเงินจำนวนน้อย คนจะบริโภคอาหารเป็นหลัก
ถ้าแจกเงินจำนวนมาก คนจะบริโภคสินค้า
ถ้าแจกเงินเป็นประจำ คนจะนำเงินไปบริโภค
ถ้าแจกเงินไม่ประจำ คนจะนำเงินไปออม
เป็นต้น

Advertisement

นี่เป็นไอเดียที่นำมาเสนอสำหรับเมืองไทย

นี่เป็นแค่ไอเดียเดียว แต่กลุ่มแคร์ไม่ได้เพิ่งจะเสนอไอเดียนี้ หากแต่ที่ผ่านมามีข้อเสนอมาตลอด
หลายคนคงเคยได้ฟังกันบ้าง เช่น การทุ่มเงินเพื่อพยุงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การสนับสนุนให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับคุมการระบาดของโควิด-19
ไอเดียแบบนี้ อย่าปล่อยให้คำว่า “พวกเขา พวกเรา” มาทำให้ประเทศเสียโอกาส
ถ้าเป็นสิ่งที่ดี คนไทยได้ประโยชน์ ก็นำไปพัฒนาสานต่อ
ส่วนผลทางการเมืองนั้นขึ้นอยู่ที่ว่าใครทำสำเร็จ คนนั้นแหละจะได้รับความนิยม
เพราะที่ผ่านมาคนไทยถูกหลอกมาเยอะแล้ว
ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความนิยม

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image